วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Life > สมองล้า … อย่านิ่งนอนใจ

สมองล้า … อย่านิ่งนอนใจ

Column: Well – Being

“เราทุกคนล้วนทำในสิ่งที่ทำให้สมองเหนื่อยล้า จากนั้นก็สงสัยว่าทำไมสมองของเราจึงไม่แจ่มใสเหมือนที่เคยเป็น” ดร.แซนดรา บอนด์ แชปแมน ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพสมองแห่งมหาวิทยาลัยเทกซัส เมืองดัลลัส ตั้งข้อสังเกต “เมื่อร่างกายของเราอ่อนล้า เรายังตระหนักได้ว่า เราจำเป็นต้องพักผ่อน แต่เมื่อสมองเหนื่อยล้าบ้าง เรามีแนวโน้มจะตะบี้ตะบันใช้งานต่อไป”

ดร. เจสสิกา คัลด์เวลล์ นักประสาทวิทยาและผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในสตรีแห่งคลีฟแลนด์ คลินิก ก็ให้ความเห็นเช่นเดียวกันว่า “คนส่วนใหญ่มักคิดว่าอาการสมองล้าจะไม่เกิดขึ้นกับคุณจนกว่าคุณจะแก่ตัวมากกว่านี้ แต่ฉันกลับได้เห็นในคนไข้ทุกช่วงอายุ และมีความเครียดเป็นตัวการสำคัญ”

ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องว่า ความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญของความรู้สึกอ่อนล้า โดยความรู้สึกเครียดนิดๆ ก่อให้เกิดสารพิษที่สามารถสะสมในสมองของคุณ และส่งผลกระทบถึงความสามารถในการโฟกัส การมีสมาธิจดจ่อ และการจดจำสิ่งต่างๆ

สมองล้าคืออะไร
ดร. กายาตรี เทวี ศาสตราจารย์คลินิกด้านประสาทวิทยาแห่งศูนย์การแพทย์ดาวน์สเตท ซูนี อธิบายว่า สมองของเราประกอบด้วยเซลล์ประสาทหลายล้านล้านเซลล์ แต่มีเพียง 10,000 – 20,000 เซลล์ที่ทำหน้าที่หลั่งสารสื่อประสาท “โอเร็กซิน” ซึ่งผลการวิจัยบ่งชี้ว่า เป็นหนึ่งในบรรดาวงจรไฟฟ้าหลายตัวที่ควบคุมให้เราอยู่ในภาวะตื่นและตื่นตัว “เพราะภาวะตื่นและตื่นตัวของเราถูกควบคุมโดยเซลล์ประสาทจำนวนเล็กน้อยนี่เอง ทำให้เราเห็นได้ชัดว่า ระบบสมองส่วนนี้ได้รับผลกระทบง่ายดายเพียงใด”

นิตยสาร Prevention กล่าวว่าสาเหตุของสมองล้ามาจากสิ่งที่เรากำลังประพฤติปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ ได้แก่

ความเครียด
ร่างกายมนุษย์สามารถปรับตัวเมื่อเผชิญกับความเครียดได้อย่างน่าทึ่ง เมื่อเราตระหนักว่ากำลังอยู่ในอันตราย สมองจะหลั่งสารสื่อประสาทและฮอร์โมนเพื่อช่วยให้เรารับมือได้ แต่การหลั่งสารเหล่านี้ไปทั่วร่างกายจะเกิดขึ้นในเวลาอันจำกัด และมีผลให้สมองของเราเกิดความเหนื่อยล้าได้ถ้าความตึงเครียดคงอยู่นานกว่าที่ควรจะเป็น ดร. คัลด์เวลล์อธิบายว่า “นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีระบบการตอบสนอง ซึ่งในท้ายที่สุดสมองของคุณจะรับสารว่า ให้ปิดโหมดการหลั่งฮอร์โมนความเครียดนี้ได้แล้ว ไม่มีการคุกคามร้ายแรงอีกแล้ว”

สมองส่วนที่ควบคุมการส่งสัญญาณดังกล่าวคือ “ฮิปโปแคมปัส” ซึ่งรับผิดชอบต่อการรับข้อมูลใหม่เข้ามา และรวบรวมไว้ในส่วนของการจัดเก็บความจำระยะยาว โชคร้ายเมื่อความเครียดเริ่มเรื้อรังยาวนานขึ้น สมองจึงต้องค้างอยู่ในโหมดการปกป้องและไม่ได้รับสารให้ปิดโหมดการหลั่งฮอร์โมนความเครียดตามปกติ ผลคือฮิปโปแคมปัสเกิดความอ่อนล้า เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า เซลล์ประสาทจะเริ่มตาย เนื้อสมองที่เป็นส่วนสำคัญเริ่มหดเล็กลง และทำให้เกิดภาวะสมองล้าขึ้น

นอนไม่พอ
ดร. คัลด์เวลล์อธิบายว่า การนอนไม่พอถือเป็นหนึ่งในผู้ร้ายสำคัญที่สุดที่อยู่เบื้องหลังอาการสมองล้า เหตุผลง่าย ๆ เพราะมันทำให้คุณรู้สึกตื่นตัวน้อยลง การนอนไม่พอยังหมายความว่า คุณพลาดกระบวนการทำความสะอาดสมองที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นขณะที่คุณหลับสนิท

“การนอนหลับเป็นการที่สมองของคุณได้ทบทวนข้อมูลใหม่ๆ และรวบรวมข้อมูลนั้น เป็นการช่วยให้คุณเกิดความจำระยะยาวที่มีเสถียรภาพขึ้น ทั้งยังเป็นช่วงเวลาของการกำจัดเรื่องรกสมองออกไปจากสมองด้วย รวมทั้งการกำจัดโปรตีนอะมีลอยด์ซึ่งเป็นสารก่อโรคอัลไซเมอร์ออกจากสมองของคุณด้วย

ภาวะหมดประจำเดือน
ผู้หญิงที่อยู่ในภาวะใกล้หมดประจำเดือนมักมีอารมณ์แปรปรวนและมีเหงื่อออกในเวลากลางคืน แต่ดร. เทวีกล่าวว่า สมองล้าเป็นอาการหลักที่มักถูกมองข้ามเช่นกัน “ฉันมีคนไข้ที่ถูกวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเพียงอาการสมองล้าที่เกี่ยวข้องกับภาวะหมดประจำเดือน”

ดร. เทวีให้ข้อมูลต่อไปว่า ก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมน ฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้สมองของผู้หญิงได้รับประโยชน์อย่างมากในหลากหลายทางด้วยกัน สมองส่วนฮิปโปแคมปัสที่สำคัญต่อความจำและการพูดของเรานี้ ยังเป็นจุดที่ตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนถูกกำจัดด้วย เมื่อเอสโตรเจนลดน้อยลงในช่วงภาวะใกล้หมดประจำเดือน ทำให้สมองส่วนฮิปโปแคมปัสที่เคยชินกับการมีฮอร์โมนเอสโตรเจนนี้กระจายตัวอยู่ตลอดเวลา ต้องปรับตัว ซึ่งทำให้คุณรู้สึกเหมือนมีอาการสมองล้า “สมองของคุณต้องหาหนทางทำงานให้ได้โดยมีเอสโตรเจนน้อยลงกว่าที่เคยเป็น”

อาการข้างเคียงจากยา
ยารักษาโรคหลายตัวสามารถทำให้เกิดอาการสมองล้าได้ ตั้งแต่ยารักษาโรคไมเกรนไปจนถึงยาแก้แพ้ ดร. คัลด์เวลล์เตือนว่า การดื่มแอลกอฮอล์บางๆ เช่น ไวน์หนึ่งแก้วอาจลดความแจ่มใสในสมองของคุณลงได้

โรคประจำตัว
มีหลายครั้งเหมือนกันที่สมองล้าอาจเป็นผลจากปัญหาสุขภาพ เช่น การบาดเจ็บที่ศีรษะ โรคไทรอยด์ หรือโรคปลอกประสาทอักเสบระยะแรก ซึ่งโรคเหล่านี้จัดว่าหายากแต่ที่สำคัญคือ ต้องเอาใจใส่กับสัญญาณที่บอกว่า อาการจิตใจสับสนของคุณอาจเป็นผลจากโรคที่สำคัญกว่าก็ได้

บำบัดและป้องกันสมองล้าได้อย่างไร
ดร. แชปแมนย้ำว่า เมื่อคุณสมองล้าอย่างมาก คุณอาจปลอบใจตัวเองว่า มันจะค่อยๆ หายได้เอง จริงๆ แล้ว “สมองเป็นเหมือนต้นไม้มหัศจรรย์ที่ฟื้นตัวได้ แต่ปัญหาคือ มันจะฟื้นตัวกลับมาได้ในระดับเดิมไหม? ที่สำคัญคือคุณต้องลงมือทำบางอย่างเพื่อช่วยด้วย” ให้ลองเคล็ดลับต่อไปนี้

สร้างนิสัยการนอนที่ดี
ดร. เทวีกล่าวว่า “คนจำนวนไม่น้อยคิดว่า สมองของเราเป็นเหมือนมอเตอร์ที่สามารถปิดและเปิดได้ แต่จริง ๆ แล้วสมองเป็นเหมือนต้นไม้มากกว่า สามารถเติบโตและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีอะไรจะทรงพลังเท่าการนอนเพื่อหล่อเลี้ยงต้นไม้นั้น และทำให้แข็งแรงอยู่เสมอ”

การอดนอนเพียงหนึ่งหรือสองคืนอาจไม่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง แต่การมีปัญหาการนอนอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข “ปัจจุบันมีวิธีแก้ปัญหาการนอนไม่หลับมากมาย คุณสามารถฝึกฝนตัวเองให้กลับไปมีนิสัยการนอนที่ดีได้” ดร. เทวีสรุป

เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
ดร. เทวียืนยันว่า สิ่งที่ดีต่อหัวใจของคุณ (เช่น ออกกำลังกาย) ย่อมดีต่อสมองของคุณด้วย เพราะร้อยละ 40 ของเลือดที่สูบฉีดจากหัวใจของคุณต้องไหลเวียนไปสู่ศีรษะ “เป็นที่ยอมรับแล้วว่า สมองของคุณต้องการพลังงานมากเพียงใด และสมองต้องพึ่งหัวใจของคุณมากเพียงใดในการให้ได้มาซึ่งพลังงานนั้น” ถ้าหัวใจไม่ได้สูบฉีดเลือดอย่างเหมาะสม สมองจะไม่ได้รับเลือดที่เต็มไปด้วยออกซิเจนที่จำเป็นต่อการสนับสนุนการทำหน้าที่ด้านความจำและความตื่นตัว ยิ่งกว่านั้น การออกกำลังกายช่วยทำให้คุณมีอารมณ์ดีขึ้นและลดความเครียดได้ การออกกำลังกายจึงเป็นทางเลือกที่สำคัญยิ่ง” ดร.คัลด์เวลล์อธิบาย

เลิกทำงานหลายอย่างพร้อมกัน
มันอาจทำให้คุณรู้สึกเป็นคนมีประสิทธิภาพมากเป็นพิเศษ ดร. แชปแมนกลับกล่าวว่า แต่จริงๆ แล้วการทำงานหลายอย่างพร้อมกันเป็นการรบกวนสมองของคุณ ด้วยการทำให้สมองเชื่องช้าลง แทนที่จะทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ให้มุ่งเน้นที่เป้าหมายเดียว ณ ช่วงเวลาหนึ่ง และทำให้เป็นงานที่บรรลุผลได้ภายใน 30 นาที

ฝึกจดจ่อกับสิ่งเดียวทุกวัน
ดร. แชปแมนกล่าวว่า “การใช้ความคิดอย่างจดจ่อก็เหมือนการผลักดันสมองของคุณ” เมื่อคุณอ่านบทความออนไลน์ที่น่าสนใจแล้ว ให้ใช้เวลา 15 นาทีคิดเกี่ยวกับบทความชิ้นนั้น และหาวิธีนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตของคุณ ถ้าคุณกับเพื่อนชมภาพยนตร์เรื่องหนึ่งแล้ว ให้พูดคุยเกี่ยวกับเนื้อหาและดูว่าจะเชื่อมโยงกับชีวิตคุณได้อย่างไร

การวิจัยของ ดร. แชปแมนพบว่า เมื่อคนตกอยู่ในห้วงความคิดที่ลึกซึ้งขึ้น มันช่วยเพิ่มความเร็วของการเชื่อมโยงทั่วระบบบริหารงานในสมอง (central executive network) ได้ ซึ่งระบบบริหารงานในสมองนี้เป็นจุดที่เกิดการตัดสินใจ การวางแผน การตั้งเป้าหมาย และการคิดอย่างโปร่งโล่งราวร้อยละ 30

ทำให้สมองตื่นเต้น
จริงๆ แล้ว สมองของคุณเกลียดการคิดเดิมๆ และการทำอะไรซ้ำซาก ซึ่งหมายความว่า วิธีที่ดีที่สุดที่ทำให้ gray matter ในสมองเกิดความตื่นเต้นขึ้นก็คือ การทำอะไรใหม่ๆ ซึ่ง ดร. แชปแมนกล่าวว่า “วิธีนี้กระตุ้นให้สมองผลิตฮอร์โมนนอร์อิพิเนฟริน ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ทำให้เราตื่นเต้นที่จะเรียนรู้” แม้การทำอะไรง่ายๆ ก็ช่วยได้ เช่น เมื่ออยู่ที่ทำงาน ให้ลองหาวิธีทำงานที่แตกต่างไปจากที่คุณทำมาแล้วนับพันครั้ง หรือเมื่อมีเวลาว่างให้เดินไปยังร้านขายของชำด้วยเส้นทางใหม่ หรือฟังเพลงใหม่ๆ ขณะเดินเล่นในละแวกบ้าน

ใส่ความเห็น