วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > สงครามเมดิคอล 2020 ทุนยักษ์แห่ผุด แข่งพรีเมียม

สงครามเมดิคอล 2020 ทุนยักษ์แห่ผุด แข่งพรีเมียม

แม้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีปัจจัยลบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกรณีกระทรวงพาณิชย์งัดกฎเหล็กคุมเข้มอัตราค่าบริการและราคายา ชนิดที่เคยโขก 1,000% เหลือไม่เกิน 100% แต่กลุ่มทุนเครือข่าย ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ต่างเดินหน้าบุกสมรภูมิเมดิคอล เน้นเจาะตลาดพรีเมียม เร่งขยายไลน์ชู “ไฮเทค” เป็นจุดขายใหม่ เพราะไม่ใช่แค่เป้าหมายการรุกฐานกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง กลุ่มชาวต่างชาติ แต่ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้อีกจำนวนมหาศาล

ที่สำคัญ ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจสุขภาพ ทั้งในแง่ชื่อเสียงของโรงพยาบาลยักษ์ใหญ่ นวัตกรรมด้านการรักษา แพทย์ผู้ชำนาญการ เครื่องมืออุปกรณ์ และมีกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์ที่ไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ เพื่อเดินทางไปรักษาในต่างประเทศ

ภาพสะท้อนหนึ่งที่เห็นชัดเจน คือ การเข้ามาจัดงานประชุม “Life Conference 2019” ครั้งแรกในไทยของ “ไครโอนิกส์ฟอร์ยู (Cryonics4U)” ที่ปรึกษาเทคโนโลยีการแช่แข็งร่างกาย (Cryonics) และการแช่แข็งเพื่อรักษาสภาพของเซลล์หรือเนื้อเยื่อ (Cryopreservation) เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยไครโอนิกส์ฟอร์ยูยังประกาศเปิดตัวบริการให้คำปรึกษาการรักษาชีวิตและความเจ็บป่วยด้วยเทคโนโลยี “ไครโอนิกส์” (Cryonics) แบบครบวงจรในประเทศไทย หลังจากเดินสายมาทั่วโลก

สำหรับไครโอนิกส์ (Cryonics) เริ่มใช้กันมาตั้งแต่ปี 2503 และกลายเป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากบุคคลชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรชื่อดังของ CNN อย่าง ลาร์รีย์ คิง, ปารีส ฮิลตัน, บริทนีย์ สเปียร์ และไซมอน โคเวลล์ โดยล่าสุดมีร่างคนไข้ที่ถูกแช่แข็งด้วยวิธีไครโอนิกส์ 250 คน มีลูกค้าเซ็นสัญญาแล้ว 1,500 คน และมีผู้สนใจเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งในสหรัฐอเมริกา รัสเซีย เกาหลี ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สเปน เยอรมนี แคนาดา ญี่ปุ่น จีน และไทย ด้วยอัตราค่าบริการ 3 ล้านบาท

คลิฟ บราวน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไครโอนิกส์ฟอร์ยู กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายทางการตลาดในไทย คือผู้ป่วยระยะสุดท้าย ตั้งแต่เด็กอายุน้อยจนถึงวัยกลางคน รวมทั้งนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย โดยประเทศไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจมาก ในฐานะประเทศที่มีศักยภาพและการเติบโตดี

ขณะเดียวกันหากมองในกลุ่มโรงพยาบาลของทุนไทยต่างเร่งอัปเกรดมาตรฐานสูงขึ้น เพื่อเจาะฐานกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีกำลังซื้อ เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะแข่งขันกับโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งให้บริการฟรีและค่าใช้จ่ายถูกกว่า ทั้งกลุ่มลูกค้าประกันสังคมและกลุ่มใช้สิทธิ์บัตรทอง 30 บาท แต่พุ่งเป้าเก็บตกกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีกำลังซื้อและยอมจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งกลุ่มลูกค้าที่ซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพรองรับการบริการในโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากกลุ่มนี้มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า ปัจจุบันสถานพยาบาลในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 38,512 แห่ง แบ่งเป็นสถานพยาบาลของรัฐ 34.7% เช่น สถานีอนามัย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไป ขณะที่สถานพยาบาลเอกชนมีสัดส่วนราว 65.3% ได้แก่ โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเอกชน

ในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนแบ่งได้ 3 กลุ่มตามขนาดกิจการที่วัดด้วยจำนวนเตียง ได้แก่ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ จำนวนเตียงผู้ป่วยมากกว่า 250 เตียง ซึ่งกลุ่มนี้กว่า 90% ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของประชากรที่มีกำลังซื้อปานกลาง-สูง มีจำนวนรวม 21 แห่ง คิดเป็น 6% ของจำนวนโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด มีจำนวนเตียงผู้ป่วยรวมกัน 11,772 เตียง

โรงพยาบาลขนาดกลาง หรือ 31-250 เตียง มีจำนวนประมาณ 243 แห่ง คิดเป็น 70% ของโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด มีจำนวนเตียงรวมกัน 27,232 เตียง

โรงพยาบาลขนาดเล็ก หรือ 1-30 เตียง มีจำนวนประมาณ 83 แห่ง หรือ 23.9% ของโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด มีจำนวนเตียงรวมกันประมาณ 1,714 เตียง

ที่ผ่านมา ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้รับแรงจูงใจผ่านมาตรการยกเว้นภาษีและนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงความต้องการของผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านหลังรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนขยายการลงทุนอย่างรวดเร็ว

โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพทุ่มเม็ดเงินขยายกิจการผ่านการซื้อ/ควบรวม เปิดสาขาใหม่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่เป็นเมืองสำคัญ และเข้ามาถือหุ้นของโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ เพื่อลงทุนหรือสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เกิดกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี และกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เพิ่มความเข้มแข็งและมีลูกค้าเป้าหมายชัดเจน

ส่วนโรงพยาบาลขนาดกลางและเล็กต่างเร่งปรับตัวสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche market)

ทั้งนี้ โครงสร้างรายได้ของโรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่มาจากค่ายาในสัดส่วนสูงสุด 35.2% ของรายได้ทั้งหมด รองลงมาคือ รายได้จากบริการทางการแพทย์ 20% การวิเคราะห์ผลจากห้องปฏิบัติการและห้องเอกซเรย์ 13.7% ห้องพักผู้ป่วย 8.5% และอื่นๆ 22.6%

ต้องยอมรับว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยได้แรงหนุนสำคัญจากนโยบายภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ตั้งแต่ปี 2546 ส่งผลให้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์/เชิงสุขภาพ (Medical Tourism) เติบโต โดยโรงพยาบาลเอกชนของไทยต่างเร่งปรับตัวและได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลก มีข้อได้เปรียบด้านคุณภาพการให้บริการและประสิทธิภาพการรักษาที่สูงติดอันดับโลก ในอัตราค่ารักษาพยาบาลถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีมาตรฐานการรักษาระดับเดียวกัน

เช่น บริการบายพาสหัวใจ เปรียบเทียบโรงพยาบาลเอกชนในสหรัฐอเมริกา เฉลี่ยอยู่ที่ 123,000 เหรียญสหรัฐ ในสิงคโปร์ 17,200 เหรียญสหรัฐ แต่ในไทยเฉลี่ย 15,000 เหรียญสหรัฐ

บริการเลสิกตา 2 ข้าง โรงพยาบาลเอกชนในสหรัฐฯ เฉลี่ยค่าบริการประมาณ 4,000 เหรียญสหรัฐ สิงคโปร์ 3,800 เหรียญสหรัฐ แต่ในไทยเฉลี่ย 2,310 เหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเหมาะกับช่วงพักฟื้น และมีสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล หรือที่เรียกว่า JCI (Joint Commission International Accreditation) มากถึง 66 แห่ง สูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เช่น อินเดียมี 38 แห่ง สิงคโปร์ 22 แห่ง และมาเลเซีย 13 แห่ง โดย “The International Healthcare Research Center: IHRC” จัดให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยอยู่อันดับ 6 ของโลก รองจากอินเดีย โคลอมเบีย เม็กซิโก แคนาดา และโดมินิกัน และมีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 38% ของเอเชีย

หากประมวลข้อมูลรายได้กลุ่มโรงพยาบาลยักษ์ใหญ่ แม้อยู่ในช่วงเศรษฐกิจที่บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า “วิกฤต” จากพิษการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ยังสามารถสร้างรายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่อง

ล่าสุด บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ รายงานตัวเลขกำไรไตรมาส 3 ปี 2562 อยู่ที่ 2,890 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% เทียบกับไตรมาสก่อนและรายได้จากการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเกือบ 8% ตามจำนวนผู้ป่วย ทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มตะวันออกกลาง รวม 9 เดือน BDMS ทำกำไรรวม 13,194 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ของนายแพทย์บุญ วนาสิน รายงานกำไรไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 53% อยู่ที่ 147 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรกปีนี้มีกำไรแล้ว 379 ล้านบาท มากกว่าปี 2561 ทั้งปีอยู่ที่ 347 ล้านบาท

หรือหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทุกค่ายต่างมีมูลค่าทางการตลาดสูงสุด (มาร์เก็ตแคป) สูงมาก โดย 10 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่ม BDMS อยู่ที่ 381,408 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 132,558 ล้านบาท

บมจ. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) 94,384 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 25,318 ล้านบาท

บมจ. สมิติเวช (SVH) 44,800 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 12,531 ล้านบาท

บมจ. บางกอกเชน ฮอสพิทอล (BCH) 41,146 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 13,686 ล้านบาท

บมจ. โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) 37,560 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 17,890 ล้านบาท

บมจ. โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) 28,380 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 6,263 ล้านบาท

บมจ. โรงพยาบาลวิภาวดี (VIBHA) 24,008 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 19,500 ล้านบาท

บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) 21,439 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 20,157 ล้านบาท

บมจ. พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) 13,413 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 14,897 ล้านบาท และอันดับ 10 บมจ. เชียงใหม่รามธุรกิจการแพทย์ (CMR) 8,529 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 10,076 ล้านบาท

ขณะที่ในปี 2563 หรือ ค.ศ. 2020 จะมีโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เปิดเพิ่มอย่างน้อย 9-10 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาล ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ขนาด 550 เตียงของกลุ่มโรงพยาบาลมหาชัย ซึ่งมีมหาเศรษฐีใหญ่ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ร่วมถือหุ้นด้วย

โรงพยาบาลอาร์เอสยูอินเตอร์เนชั่นแนลของกลุ่ม ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิต ขนาด 304 เตียง
กลุ่มสินแพทย์เตรียมเปิด 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลสินแพทย์บางนา ขนาด 264 เตียง และโรงพยาบาลธัญเวช ลำลูกกา ขนาด 211 เตียง

โรงพยาบาลวิมุตติ ย่านสะพานควาย ของกลุ่มพฤกษาโฮลดิ้ง

โรงพยาบาลจอมเทียน พัทยา ของกลุ่ม BDMS ขนาด 230 เตียง

โรงพยาบาลเคพีเอ็นเฮลท์แคร์ ของกลุ่มสหยูเนี่ยนและสหพัฒน์ ขนาด 152 เตียง

โรงพยาบาลหทัยราษฎร์ของกลุ่มโรงพยาบาลเซ็นทรัลเยนเนอรัล ขนาด 126 เตียง

โรงพยาบาลพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ของกลุ่ม PRINC

ดังนั้น แม้แนวรบธุรกิจร้อนแรงและมีผู้เล่นยักษ์ใหญ่เพิ่มมากขึ้น แต่เหล่ากูรูต่างฟันธงรายได้ของกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนปีหน้าจะเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% เม็ดเงินเพิ่มขึ้นและเป็นการช่วงชิงลูกค้าระดับเศรษฐีด้วย

 

ใส่ความเห็น