วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > สงครามบุฟเฟต์ระอุ “สุกี้ตี๋น้อย” ปูพรมรุกคอมมูนิตี้มอลล์

สงครามบุฟเฟต์ระอุ “สุกี้ตี๋น้อย” ปูพรมรุกคอมมูนิตี้มอลล์

สงครามบุฟเฟต์ร้อนเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ รับการคลายล็อกดาวน์โควิดแบบ 100% โดยเฉพาะดาวรุ่งพุ่งแรง “สุกี้ตี๋น้อย” เร่งปูพรมขยายสาขา เจาะทุกคอมมูนิตี้มอลล์และทำเลรอบเมือง ตั้งเป้าหมายเปิดครบอย่างน้อย 44 สาขาภายในปีนี้ รุกลูกค้าทุกกลุ่มรวมถึงคนกลางคืนที่กำลังกลับมาคึกคัก หลังรัฐไฟเขียวเปิดสถานบันเทิงอีกครั้ง

ล่าสุด สุกี้ตี๋น้อยเปิดสาขารวมแล้ว 39 แห่ง ขนาดพื้นที่ขึ้นอยู่กับทำเล ทั้งรูปแบบสแตนด์อะโลนและสาขาในคอมมูนิตี้มอลล์ จำนวนโต๊ะต่อสาขาเริ่มตั้งแต่ 35-80 โต๊ะ และทุกสาขาเปิดให้บริการตั้งแต่เที่ยงวันยาวข้ามคืนถึงเช้าตี 5

นัทธมน พิศาลกิจวนิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ360” ว่า ตามแผนปีนี้บริษัทตั้งเป้าสร้างกิจการสุกี้ตี๋น้อยให้แข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อรับเทรนด์ของลูกค้าที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารสไตล์บุฟเฟต์มากขึ้น ซึ่งเห็นชัดเจนหลังคลายล็อกดาวน์อนุญาตให้นั่งรับประทานในร้านกลุ่มบุฟเฟต์ได้รับความนิยมหมด เพราะลูกค้าอัดอั้นไม่ได้ออกมารับประทานนอกบ้านนาน ทั้งกลุ่มอาลาคาร์ทและบุฟเฟต์ ได้ยอดลูกค้าสูงขึ้นมาก แต่บุฟเฟต์ได้รับความชื่นชอบมากกว่า เป็นเทรนด์สูงขึ้น ขณะเดียวกันร้านอาหารต่างหันมาทำแคมเปญบุฟเฟต์ ทำให้ตลาดขยายกว้างมากขึ้น

ที่สำคัญ สุกี้ตี๋น้อยมีอัตราเติบโตสูงกว่าช่วงก่อนโควิดด้วย เพราะจำนวนสาขาเพิ่มมากขึ้น และเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทเปิดเกมสร้าง Brand Awareness มากขึ้น ดันฐานลูกค้าใหญ่ขึ้นและครอบคลุมทุกกลุ่ม จากเดิมมีกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นเป็นฐานหลัก แต่ปัจจุบันขยายยังกลุ่มครอบครัว คนทำงานและกลุ่มเป้าหมายทุกเซกเมนต์

ขณะเดียวกัน การขยายร้านใหม่ๆ เน้นเจาะคอมมูนิตี้มอลล์ใหม่ในทำเลหลักๆ รอบเมือง เช่น โครงการแจส กรีน วิลเลจ (JAS Green Village) ย่านคู้บอน โครงการ ดิ แอลลี่ รามอินทรา (The Alley Ramintra) ศูนย์การค้าแอมพาร์ค สามย่าน (I’m Park) โครงการพอร์โต้ ชิโน่ มหาชัย รวมถึงยึดกลุ่มลูกค้าอย่างเหนียวแน่นในถนนสายหลัก ทั้งถนนพหลโยธิน เลียบทางด่วน ถนนเกษตร-นวมินทร์ กาญจนาภิเษก แจ้งวัฒนะ ลาดพร้าววังหิน ศรีนครินทร์ สมุทรปราการ พระราม 4

“เรามีสาขา ทั้งสแตนด์อะโลนและอยู่ในคอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งข้อดีข้อเด่นไม่ได้แตกต่างกัน แม้อยู่ในคอมมูนิตี้มอลล์ แต่ถ้าได้โลเคชั่นที่ใช่ การให้บริการได้อารมณ์เดียวกับสาขาสแตนด์อะโลน เพราะเราไม่ได้พึ่งลูกค้าที่มาเดินคอมมูนิตี้มอลล์ ลูกค้าส่วนมากตั้งใจมารับประทานสุกี้ตี๋น้อย การอยู่ในคอมมูนิตี้มอลล์บางสาขาได้พื้นที่ในทำเลชั้น 2 ไม่ได้เด่นเหมือนสแตนด์อะโลน แต่เรามีป้ายดึงดูดลูกค้าและทำบรรยากาศต่างๆ เพียงแต่มีค้าปลีกอื่นอยู่ด้วย และสามารถเปิดให้บริการตั้งแต่เที่ยงวันถึงตี 5 เหมือนกัน มีห้องน้ำ มีระบบความปลอดภัย อำนวยความสะดวกเหมือนสแตนด์อะโลน”

ขณะที่คอมมูนิตี้มอลล์บางแห่งต้องการดึงสุกี้ตี๋น้อยเข้าไปเสริมความเป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ 24 ชั่วโมงเต็มรูปแบบ เช่น โครงการพอร์โต้ ชิโน่ มหาชัย และคาดว่า ไลฟ์สไตล์มอลล์ 24 ชั่วโมง มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ซึ่งสอดรับกลยุทธ์ของบี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเช่นกัน

แน่นอนว่า สิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดเจน คือ ลูกค้าที่ยอมรอคิวยาวหน้าร้านเกือบทุกสาขาในทุกช่วงเวลา ไม่เว้นแม้แต่ดึกดื่นตี 2 ตี 3 ยิ่งช่วงเพิ่งคลายล็อกดาวน์ คิวลูกค้าแน่นมาก ซึ่งนัทธมนมั่นใจว่า เมื่อสถานบันเทิง ผับ บาร์ กลับมาเปิดให้บริการจะมียอดกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงบางสาขาอยู่ใกล้โรงพยาบาลที่มีผู้คนสัญจรไปมายามค่ำคืนย่อมเป็นช่องทางการเข้าถึงลูกค้าด้วย

ทั้งนี้หากมองถึงความสำเร็จของสุกี้ตี๋น้อยที่สามารถสร้างรายได้มากกว่าพันล้านบาท และยังเตรียมแผนแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย ต้องยอมรับว่า มาจากไอเดียของผู้บริหารสาวไฟแรงที่มีทั้ง Passion บวกกับพื้นฐานการทำธุรกิจร้านอาหารไทยเรือนปั้นหยาของครอบครัว

นัทธมนเรียนจบระดับปริญญาโทมาจากต่างประเทศ พอกลับมาเมืองไทยมาทำงานออฟฟิศ แต่การทำงานออฟฟิศเหมือนไม่ตอบโจทย์ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทน หรือการทำงานทำตามคำสั่งของหัวหน้าสั่ง ไม่สามารถแสดงความสามารถอะไรได้มาก เธอตัดสินใจลาออก เพราะคิดว่าตอนนั้นอายุ 25 ปีและอีก 5 ปีจะอายุ 30 ปีแล้ว ต้องเริ่มทำอะไรจริงจังและถ้าเริ่มเร็ว เรียนรู้ความผิดพลาดได้เร็ว โอกาสเริ่มใหม่ยังทำได้

เธอตัดสินใจทำร้านสุกี้ เพราะสามารถควบคุมมาตรฐานและรสชาติอาหารได้ โดยใช้ชื่อ “ตี๋น้อย” จากชื่อเล่นเดิมของคุณพ่อในสมัยอยู่ต่างจังหวัด เป็นชื่อเรียกง่าย จดจำง่าย

ปี 2561 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว สุกี้ตี๋น้อยเปิดสาขาแรกที่บ้านบางเขน ตอนนั้นเป็นร้านเล็กๆ มีโต๊ะ 10-20 โต๊ะเท่านั้น เหมือนร้านอาหารทั่วไป

ช่วงกลางปีเดียวกัน เธอลุยเปิดสาขาที่ 2 ทำเลเลียบด่วนรามอินทรา คราวนี้ทุ่มพื้นที่ขนาดใหญ่และมีบล็อกเกอร์หลายคนมารีวิว ทำให้มีคนรู้จัก “สุกี้ตี๋น้อย” มากขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยเฉพาะการตั้งราคาบุพเฟต์สุกี้ 199 บาท เท่ากับท้องตลาดทั่วไป แต่สร้างจุดขายที่แตกต่าง คือลูกค้าสามารถเลือกรับประทานได้ทุกเมนู ตั้งแต่เนื้อวัวจนถึงซีฟู้ดและทุ่มโปรโมชั่นตลอดเวลา เช่น สาขาเปิดใหม่ให้ลูกค้ารับประทานสุกี้ เครื่องดื่ม ฟรี 80 คนแรก ระยะเวลา 3 วัน วันละ 80 คนหรือลดราคา 50%

“ตอนแรกตั้งราคา 199 บาท หลายคนคิดว่าไม่มีบริการ ไม่มีแอร์ ไม่มีที่จอดรถ ไม่สะอาด เราหยิบขึ้นมาสร้างให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนรับประทานในห้าง มีบริการ มีแอร์ บรรยากาศดี เปิดสาขาสแตนด์อะโลนมีที่จอดรถ ต้องโชว์ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ดึงลูกค้ากล้ามารับประทาน เพิ่มมูลค่าให้แบรนด์และวันนี้สามารถขยายสาขาเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม ซึ่งคาดว่าสิ้นปีจะเปิดครบ 44 สาขา”

นอกจากนั้น เพิ่มเมนูใหม่ๆ เพื่อสร้างความรู้สึกคุ้มค่าให้ลูกค้า เช่น การเปิดตัวเมนูหมูไม้ไผ่ หมูลาวา ไก่ลาวา หมูห่อสาหร่าย ปลาหมึกยัดไส้หมูสับ ปลาดอลลี่ หมูสไลด์ เนื้อสไลด์ สันนอก สามชั้นสไลด์ กุ้ง ปลาหมึก หอยแมลงภู่ชิลี รวมทั้งชีส และน้ำซุปดำ ลูกชิ้นชีสทรัฟเฟิล และสแน็ก บาร์ (Snack Bar) มุมของทอดของขบเคี้ยวยอดนิยมที่หมุนเวียนเมนูตลอดเวลา ได้แก่ เกี๊ยวซ่าทอดกรอบ เฟรนช์ฟรายส์ ฟองเต้าหู้ทอดซีฟู้ด ลูกชิ้นกุ้งทอด ซึ่งหลังเปิดตัวในสาขาใหม่ที่เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ได้รับการตอบรับดีมากและเร่งขยายโมเดล สแน็ก บาร์ ไปยังสาขาอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารสาวยอมรับว่า ปัญหาใหญ่ ณ เวลานี้ คือ ต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งต่างๆจากราคาน้ำมันสูงขึ้น เพราะเพิ่งปรับราคาบุฟเฟต์จาก 199 บาท เป็น 219 บาทเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นโจทย์ยากของร้านบุฟเฟต์เมื่อเทียบกับกลุ่มอาลาคาร์ททั่วไป เพราะส่วนต่างกำไรลดลง

“ค่าวัตถุดิบ ต้นทุนต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปีก่อนและขึ้นแรงมากช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะค่าน้ำมัน วัตถุดิบบางอย่างขึ้นสูงกว่าเพื่อน เช่น เนื้อหมู ที่บอกลดลงแล้ว แต่ที่จริงขึ้นมา 50 บาทต่อกิโลกรัม แต่ลดลงแค่ 20 บาทต่อกิโลกรัม และล่าสุดปรับขึ้นมาสูงเหมือนเดิมแล้ว ไม่ได้ลงเมื่อเทียบกับปีก่อน และวัตถุดิบส่วนอื่น วัสดุสิ้นเปลือง กล่องพลาสติก หลอด ราคาขึ้นทั้งหมด ซึ่งเราเพิ่งปรับราคาเมื่อต้นปี ต้องพยายามประคองราคานี้ หาแหล่งวัตถุดิบตรงมากขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบคุณภาพที่ส่งต่อลูกค้า แต่โชคดีที่ลูกค้ายังโอเคกับราคา 219 บาท”

เมื่อถามว่า เข้ามาลุยสงครามบุฟเฟต์ที่มีทั้งคู่แข่งสุกี้แบรนด์ยักษ์ใหญ่และคู่แข่งในตลาดบุฟเฟต์ที่เล่นราคา 219บาทเหมือนกัน

นัทธมนบอกว่า เป็นคนไม่ยอมแพ้ สู้ตลอด สู้หมด มีปัญหาต้องแก้ มองบริษัท มองสุกี้ตี๋น้อยเป็นที่หนึ่ง ไม่ได้เอาตัวเองหรือผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ต้องเอาบริษัทอยู่รอด พนักงานอยู่รอด และความพึงพอใจของลูกค้า ทำให้ลุยมาได้ถึงวันนี้

เธอย้ำด้วยว่า อยากแตกไลน์อาหารกลุ่มใหม่ แต่ทั้งหมดต้องรอ “สุกี้ตี๋น้อย” แข็งแรงก่อน พร้อมเมื่อไหร่ลุยแบรนด์ใหม่แน่.

ใส่ความเห็น