วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > New&Trend > สกว. หนุนนักวิจัย มรภ.อุดรธานี สืบสานภูมิปัญญา ถอดลายบ้านเชียงสู่งานออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน

สกว. หนุนนักวิจัย มรภ.อุดรธานี สืบสานภูมิปัญญา ถอดลายบ้านเชียงสู่งานออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน

สกว. หนุนนักวิจัย มรภ.อุดรธานี สืบสานภูมิปัญญาสร้างมูลค่าทางการตลาดด้วยการถอดลายประทับดินเผาบ้านเชียง เชื่อมกับลายมงคลสมัยนิยม เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนให้แตกต่างจากเดิมแต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์

ผศ. ดร.กนิษฐา เรืองวรรณศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในฐานะหัวหน้าโครงการ “สัมพันธภาพระหว่างลวดลายประทับดินเผาบ้านเชียงกับลายมงคลสมัยนิยมสู่งานออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนในจังหวัด” เปิดเผยว่า ตนและคณะได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนจากลวดลายบ้านเชียงหลายรูปแบบ โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

บ้านเชียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก การบริการต่าง ๆ แล้ว รูปแบบสินค้าของที่ระลึกก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการท่องเที่ยวเช่นกัน จึงเป็นความท้าทายของผู้วิจัยในการถอดลวดลายตราประทับดินเผาบ้านเชียงเชื่อมสัมพันธภาพระหว่างลวดลายโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ กับความหมายของลวดลายในเชิงมงคลสมัย เพื่อสร้างแนวทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยวในการเลือกซื้อสินค้าของฝาก ของที่ระลึก และส่งเสริมแนวทางการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ตอบรับยุทธศาสตร์แผนพัฒนาจังหวัดอุดรธานี 4 ปี ในการเพิ่มขีดความสามารถของรูปแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เกิดรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารประเภทขนมเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในการที่จะนำลวดลายมาบูรณาการ เพื่อให้มีลักษณะเฉพาะที่สื่อถึงขนมจังหวัดอุดรธานีได้ จึงได้ทำตราประทับดินเผาบ้านเชียงมีลวดลายที่ลึก นูน สวยงาม แปลกตา ซึ่งมีนักวิชาการและนักโบราณคดีจำนวนมากสันนิษฐานว่าตราประทับดินเผาบ้านเชียงใช้กดประทับลายบนภาชนะดินเผา แต่เพราะลวดลายบนภาชนะดินเผาบ้านเชียงสมัยปลายเป็นลวดลายที่เกิดจากการเขียนด้วยพู่กันและไม่ปรากฎลวดลายบนภาชนะดินเผาที่เกิดจากลายประทับจึงเกิดสมมติฐานที่ว่าเป็นเครื่องมือที่สร้างลวดลายบนผืนผ้า ด้วยความน่าสนใจของลูกกลิ้งและตราประทับดินเผาบ้านเชียงที่มีลวดลายสวยงามและเป็นโบราณวัตถุที่แสดงลักษณะเฉพาะที่จังหวัดอุดรธานี

“งานวิจัยนี้เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ คุณค่าทางภูมิปัญญา และอัตลักษณ์ทางศิลปะ วัฒนธรรม หัตถกรรม และความหลากหลายของกลุ่มคน สร้างมูลค่าสู่การตลาด ด้วยกระบวนการบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ และลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ โดยประยุกต์งานออกแบบให้เหมาะสมกับวัสดุภายในประเทศ สร้างกระบวนการเรียนรู้แก่กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนภายในพื้นที่ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีคุณลักษณะเฉพาะ และเพิ่มมูลค่าแก่วัสดุท้องถิ่นที่มีรวมถึงผลิตภัณฑ์ให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น อีกทั้งเกิดผู้ใช้ประโยชน์โดยอ้อมแก่ผู้สนใจในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์และรวบรวมข้อมูลลวดลายตราประทับดินเผาบ้านเชียงก่อนข้อมูลจะสูญหาย”

ผู้วิจัยได้จัดทำคู่มือสรุปองค์ความรู้เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาสินค้าเพื่อการจำหน่ายได้ โดยมีกลุ่มชุมชนนำลวดลายไปพัฒนาเพิ่มเติมและผลิตจริงเพื่อจำหน่าย 6 กลุ่ม ส่วนกลุ่มอาหารประเภทขนมได้นำแม่พิมพ์ที่ได้รับจากงานวิจัยไปผลิตขนมจริง ได้รับความนิยมจากหน่วยงานราชการอย่างมาก เพื่อเป็นอาหารว่างในการจัดสัมมนา การประชุมและซื้อเป็นของฝาก ซึ่งกลุ่มชุมชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถอธิบายความหมายลายให้แก่ผู้ที่สนใจได้ รวมทั้งจัดทำใบปลิวและบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน ส่วนผู้ประกอบการอื่นๆ ก็ได้ให้ความสนใจถึงแนวคิดและลวดลาย ความหมายมงคลของลาย โดยเฉพาะลายอื่นที่นอกเหนือจากผลงานวิจัยที่จะขอต่อยอดนำไปผลิตเป็นสินค้าในรูปแบบของฝากประเทศไทยซึ่งมีการติดต่อสอบถามมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงสามารถนำคู่มือสรุปโครงการเล่มวิจัยฉบับสมบูรณ์ไปเป็นฐานข้อมูล เพื่อให้บริการผู้ที่สนใจจะศึกษาหรือต่อยอดงานที่เกี่ยวข้องกับลวดลายตราประทับและลูกกลิ้งดินเผาบ้านเชียง เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยหลักที่ให้ความสนใจทางด้านการออกแบบลวดลายที่นำอัตลักษณ์พื้นถิ่นมาใช้เพื่อให้เกิดรูปแบบงานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ส่งเสริมและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและมีมหาวิทยาลัยที่ขอคำแนะนำแนวทางการเสนอหัวข้อและต่อยอดวิจัย ขั้นตอนการจดสิทธิบัตรที่ให้ประโยชน์แก่ชุมชน ส่วนสถานศึกษาอื่นได้ทดลองนำลวดลายบ้านเชียงและวิถีชีวิตบ้านเชียงมาออกแบบเป็นสื่อการเรียนการสอนในรูป
แบบของเล่นเสริมพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย-ประถมศึกษาตอนต้น แล้วนำไปทดสอบกับทางโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เพื่อเรียนรู้ถึงเรื่องบ้านเชียงอุดรธานีซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากเด็กนักเรียนและคุณครูผู้สอน นับเป็นการปลูกฝังการเรียนรู้ถึงรากเหง้าอัตลักษณ์ชุมชนให้แก่เยาวชนในรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงได้ง่าย

ใส่ความเห็น