วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Home > Cover Story > ศึกพิพาทปิดตลาดสด ห้างยักษ์ทุ่มงบสกัดโควิด

ศึกพิพาทปิดตลาดสด ห้างยักษ์ทุ่มงบสกัดโควิด

การสั่งปิดตลาดสดในหลายจังหวัดเพื่อสกัดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 หลังเจอต้นตอใหญ่มาจากตลาดกลางกุ้ง และมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ถูกหลายฝ่ายจุดประเด็นเปรียบเทียบกับกลุ่มร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ กลายเป็นข้อกล่าวหาเรื่องการเลือกปฏิบัติและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลเสียหายต่อประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการขาดรายได้ จนยอดหนี้ครัวเรือนพุ่งพรวดทุบสถิติในรอบ 12 ปี เฉลี่ยมากกว่า 480,000 บาทต่อครัวเรือน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นเรื่องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบมาตรการของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาการแพร่เชื้อโควิด-19 เป็นการเลือกปฏิบัติและเอื้อกลุ่มทุนหรือไม่ ใน 3 กรณี คือ กรณีการปิดตลาดนัด กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ได้ก่อสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย และกรณีการนำวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาฉีดให้คนไทยอย่างล่าช้า มีการจัดหาวัคซีนจากจีน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทเจ้าสัว

ในกรณีปิดตลาดนัดนั้น นายศรีสุวรรณระบุว่า รัฐเริ่มต้นด้วยการเลือกปิดตลาดนัด ปิดร้านอาหาร พ่อค้าแม่ค้าเดือดร้อนไม่มีแหล่งขายสินค้า เพื่อหารายได้ แต่รัฐไม่ปิดห้างสรรพสินค้าที่มีระบบแอร์ตลอดเวลาและเป็นสถานที่ปิด มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า รวมถึงการปิดบังไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไปใช้บริการร้านสะดวกซื้อ ไม่เปิดเผยชื่อร้านและไม่มีการสั่งปิด

ทั้งนี้ ข้อพิพาทระหว่างการปิดตลาดสดกับกลุ่มโมเดิร์นเทรดเกิดการถกเถียงอย่างหนัก เมื่อนายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทาง ด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย และอดีต Assistant Clinical Professor ที่ Mount Sinai School of Medicine นครนิวยอร์ก ออกมาให้ความเห็นเมื่อวันที่ 8 มกราคม ถึงมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ด้วยการสั่งปิดสถานที่ต่างๆ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อ

นายแพทย์มนูญระบุว่า คนไทยสามารถทำกิจกรรมในที่กลางแจ้ง (outdoor) ได้ทุกฤดูกาล ต่างจากประเทศเมืองหนาว การห้ามลูกค้าเข้าไปซื้อของในสถานที่เปิด ไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เช่น ตลาดสด ตลาดนัด ซื้อของจากร้านหาบเร่ แผงลอยข้างถนน ห้ามนั่งรับประทานอาหารในที่โล่ง นอกอาคาร นอกบ้านหลัง 3 ทุ่ม ส่งผลกระทบต่อผู้มีอาชีพขายอาหาร คนหาเช้ากินค่ำ ลูกจ้าง คนทำงานต้องตกงาน เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ขณะที่ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นสถานที่ปิด (indoor) ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อากาศถ่ายเทไม่ดี มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าในที่กลางแจ้ง 10 เท่า กลับให้เปิดทำการได้ตามปกติ

“เราสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในตลาดสด ตลาดนัด ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างสถานที่ให้มีการถ่ายเทระบายอากาศมากขึ้น เปิดหลังคาบางจุด เว้นระยะห่างของแม่ค้าแต่ละซุ้ม ทำทางเดินให้กว้างขึ้น ไม่ให้แออัดมากเกินไป คนขายของและลูกค้าทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา รัฐควรผ่อนผันให้สถานที่นอกอาคาร ในที่กลางแจ้ง เปิดบริการเหมือนปกติ เพื่อให้คนได้ทำงาน มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว”

หลังจากนั้น มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ซึ่งเป็นองค์กรกลุ่มนักวิชาการ ผู้นำชุมชน และนักกิจกรรมทางสังคม เพื่อฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกรรมเชิงนิเวศ ความมั่นคงทางอาหาร การค้า และเศรษฐกิจที่เป็นธรรม เริ่มหยิบข้อกล่าวหานี้ขึ้นมาเป็นประเด็นทางสังคม โดยระบุว่า “ค้าปลีก 2 แบรนด์แต่เจ้าของเดียวกัน เปิดบริการเปิดไฟสว่างโร่ แต่ตลาดสด ซึ่งอยู่ห่างกันไม่กี่ก้าว มีเพียงถนนเส้นเล็กๆ กั้น กลับกลายเป็นเขตอันตราย” ยิ่งทำให้เรื่องนี้กลายเป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายต้องหาทางออกอย่างเหมาะสม

BIOTHAI รายงานด้วยว่า จากการรวบรวมข้อมูลจากสื่อ เครือข่ายด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งผู้ติดตามเพจ BIOTHAI มี 32 จังหวัด สั่งปิดตลาดสด/ตลาดนัด/ถนนคนเดิน มีตลาดที่ถูกประกาศปิดไปแล้วอย่างน้อย 68 ตลาด หากรวมจังหวัดที่ประกาศปิดตลาดนัดทั้งจังหวัด จำนวนตลาดที่ปิดอาจสูงกว่าตัวเลขดังกล่าวมาก

หลายตลาดเป็นพื้นที่ที่พบการติดเชื้อของแรงงานหรือผู้ค้าในตลาด เช่น ตลาดกุ้งและปลาที่สมุทรสาคร หรือตลาดบางใหญ่ นนทบุรี แต่มีตลาดจำนวนมากที่ถูกสั่งปิดเพราะผู้ติดเชื้อบางคนระบุไทม์ไลน์ว่าเข้าไปใช้บริการในตลาด หรือปิดเพื่อป้องกันเอาไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เรื่องความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด-19 เกิดจากอากาศถ่ายเทและการพบผู้สัมผัส คนที่ไปห้างส่วนใหญ่ไปเพียงไม่นาน แต่ตลาดที่เสี่ยงตอนนี้ คือมีแรงงานต่างด้าว ซึ่งขณะนี้ตรวจพบเชื้อในแรงงานต่างด้าวเยอะ มีตัวอย่างที่ตลาดกลางกุ้ง ตลาดบางใหญ่ โดยในตลาดเห็นชัดว่ามีผู้ติดเชื้อเยอะ แต่ห้างสรรพสินค้านั้นคนเข้า-ออกเยอะ แต่คนติดเชื้อไม่เยอะ จึงเปรียบเทียบกันไม่ได้

“แม้สภาพของตลาดบางครั้งอากาศอาจถ่ายเทดีกว่า แต่การมีผู้ติดเชื้ออยู่ในตลาดค่อนข้างหนาแน่น มีโอกาสติดเชื้อเยอะ เหมือนที่เห็นตัวอย่างในตลาดหลายแห่ง นี่คือเอาข้อเท็จจริงมาพูด” นายแพทย์โอภาสกล่าว

แน่นอนว่า ทางออกสำคัญอยู่ที่การปรับสภาพแวดล้อมและลดความเสี่ยงในแต่ละสถานที่ ซึ่งตลาดสดหลายแห่งที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ พยายามวางมาตรการคุมเข้มผู้ค้าและลูกค้า เช่น การบังคับทุกคนในตลาดให้สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือแมสก์แบบ 100% จัดวางแผงกั้นตรวจสอบลูกค้าก่อนเข้าตลาด มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์บริเวณทางเข้าออก ห้ามจำหน่ายสินค้าให้ลูกค้าที่ไม่ใส่แมสก์และจะยกเลิกแผงผู้ค้าทันทีที่ขายสินค้าให้ลูกค้าที่ไม่ใส่แมสก์

ส่วนกลุ่มค้าปลีกยักษ์ใหญ่ต่างทุ่มงบวางระบบป้องกันการแพร่ระบาดและลดความเสี่ยง เพื่อสร้างความมั่นใจและดึงผู้คนเข้ามาใช้บริการ อย่างค่ายเทสโก้โลตัส ทุ่มงบนำนวัตกรรมเครื่อง Smart Detector ระบบอัจฉริยะวัดอุณหภูมิและตรวจสอบการใส่หน้ากากของลูกค้าอัตโนมัติ ติดตั้งในไฮเปอร์มาร์เก็ต 109 สาขาทั่วประเทศ โดยเครื่องจะตรวจสอบลูกค้าว่ามีการสวมใส่หน้ากากและอุณหภูมิร่างกายไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ก่อนเปิดที่กั้นอัตโนมัติให้ลูกค้าสามารถผ่านเข้าไปใช้บริการได้

นอกจากนั้น ติดตั้งอุโมงค์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อรถเข็นหลังจากใช้งาน ติดตั้งระบบ UV Filter ในเครื่องปรับอากาศเพื่อฆ่าเชื้อโรค แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา จัดเครื่องอบช้อนส้อมด้วยแสงยูวี เพื่อฆ่าเชื้ออุปกรณ์รับประทานอาหารภายในศูนย์อาหาร

ใช้ระบบชำระเงินด้วย QR Code และ PayWave ที่แคชเชียร์ทุกเครื่อง ทุกสาขาทั่วประเทศ ลดการสัมผัสเงินสดและบัตรเครดิตสำหรับทั้งพนักงานและลูกค้า พร้อมแอปพลิเคชัน Scan & Shop ให้ลูกค้าสามารถสแกนสินค้า ในขณะที่ช้อปปิ้งผ่านโทรศัพท์มือถือของตนเอง และชำระเงินได้ด้วย QR Code ลดการสัมผัสตลอดกระบวนการ

ด้านกลุ่มท็อปส์ และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ ใช้นวัตกรรมหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี-ซี (UV-C DISINFECTION ROBOTS) มาทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค โดยเริ่มจากสาขาในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สมุทรสาคร กรุงเทพฯ นครปฐม และเร่งขยายไปในทุกสาขา รวมถึงศูนย์กระจายสินค้าอาหารสด อาหารแห้ง ศูนย์เติมสินค้าออนไลน์ เพื่อความปลอดภัยในการส่งมอบสินค้าตั้งแต่คลังสินค้าจนถึงมือผู้บริโภค

สำหรับหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี-ซี (UV-C DISINFECTION ROBOTS) ได้รับการวิจัยและรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดและการติดเชื้อ (CDC) ซึ่งรังสียูวี-ซีมีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าเชื้อโควิด-19 เชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อโรคอื่นๆ ใช้เวลาไม่นาน โดยหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อจะปล่อยแสง UV-C ความเข้มสูงแบบ 360 องศา ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้สูงถึง 99.9% ภายในเวลาไม่กี่วินาที และเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัย ไม่มีสารตกค้าง ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของอาหารและสินค้า

ขณะที่ร้านสะดวกซื้อนอกจากการให้ลูกค้าสวมใส่แมสก์และตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าใช้บริการ ทั้งร้านเซเว่นอีเลฟเว่นและแฟมิลี่มาร์ทพยายามโปรโมตให้ลูกค้าใช้บริการเดลิเวอรี่และชำระผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อลดความแออัดและการสัมผัส โดยเฉพาะค่ายเซเว่นอีเลฟเว่น ล่าสุดเปิดให้บริการเดลิเวอรี่ตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม และให้บริการในทุกสาขา เนื่องจากมีเครือข่ายสาขานับหมื่นแห่ง ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ และมีรายงานว่า อาจขยายเวลาให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มตลาดสดหรือเครือข่ายค้าปลีก กลุ่มโมเดิร์นเทรด หากทุกฝ่ายปรับสภาพแวดล้อมสกัดการแพร่ระบาด การ์ดอย่าตก คนไทยย่อมสามารถฝ่าวิกฤตโควิดทุกรอบได้

ที่สำคัญ ไม่มีใครต้องการล็อกดาวน์ประเทศ แม้เป็นบางพื้นที่หรือบางจังหวัด เพราะทุกวันเวลาล้วนแลกด้วยความเสียหายทางเศรษฐกิจ ซึ่งนักวิชาการประเมินแล้วอาจสูงถึง 6 แสนล้านบาทในกรณีแย่สุด

การจบสถานการณ์แพร่ระบาดได้เร็ว จึงหมายถึงการพลิกฟื้นประเทศและพลิกฟื้นชีวิตคนไทยทั้งประเทศด้วย

 

ใส่ความเห็น