วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > วิบากกรรมเศรษฐกิจไทย ค่าเงินผันผวนท่ามกลางปัจจัยลบ

วิบากกรรมเศรษฐกิจไทย ค่าเงินผันผวนท่ามกลางปัจจัยลบ

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ดูจะไม่สดใสอย่างที่หลายฝ่ายคาดหมายไว้ก่อนหน้านี้มากนัก หลังจากที่การประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (federal funds rate) ตามการคาดหมายอีก 0.25% สู่ระดับ 1.00-1.25% ท่ามกลางค่าเงินบาทที่ผันผวนและแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำนักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจหลายสำนักต่างประเมินว่า การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการไหลออกของเงินทุนจากประเทศไทย ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและค่าเงินบาทมากขึ้นไปอีก และการป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงินจะเป็นประเด็นที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดครั้งล่าสุดมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.00-1.25 เกิดขึ้นท่ามกลางการคาดหมายว่า เฟดจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในรอบปีนี้ เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยขยับไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.25-1.50 ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยของเฟดอยู่ในระดับเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ร้อยละ 1.50 และมีแนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในรอบปีหน้า ซึ่งเป็นประหนึ่งแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการหรืออาจประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อตอบสนองกับท่าทีของเฟดไปโดยปริยาย

ข้อกังวลใจเกี่ยวกับช่องว่างและส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่เบียดใกล้กันเข้ามานี้ ในด้านหนึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ปรากฏข้อเท็จจริงแล้วในหลายประเทศ โดยผู้ประกอบการส่งออกดูจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลจากกรณีดังกล่าวอย่างไม่อาจเลี่ยง ขณะที่รายงานของสภาอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา ได้สะท้อนความกังวลใจของผู้ประกอบการ และเรียกร้องให้กลไกภาครัฐเข้ามาดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพด้วย

ขณะเดียวกันโอกาสที่เงินทุนจากภายนอกจะไหลเข้าประเทศไทย จากผลของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2547-2549 มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังคงขยายตัวในระดับเพียงร้อยละ 3-4 น้อยกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 5-6 ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสและทางเลือกที่นักลงทุนต่างชาติมีอย่างหลากหลาย มากกว่าที่จะให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ก่อนหน้านี้ สำนักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจหลายแห่งเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะกระเตื้องขึ้นได้บ้างจากผลของตัวเลขภาคการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกที่ปรากฏผลออกมาในทิศทางที่ดีขึ้น และอาจส่งแรงผลักดันต่อเนื่องในการขยายตัวในเชิงปริมาณ ซึ่งอาจทำให้การขยายตัวของมูลค่าสินค้าส่งออกในช่วงครึ่งปีที่เหลือปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงที่ผ่านมาร้อยละ 2.0 และอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประมาณการที่ระดับร้อยละ 3.0-3.6

แต่ผลกระทบจากการประกาศขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นหลักๆ ในเอเชียหลายแห่งปรับตัวลดลง ท่ามกลางการแข็งค่าขึ้นของเงินสกุลสำคัญ โดยเยนของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 109.55 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลใจว่าภาคการส่งออกของญี่ปุ่นที่กำลังจะช่วยฉุดลากเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลับมาฟื้นตัวขึ้น อาจเผชิญกับแรงกดดันจากค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นในครั้งนี้ และทำให้ประเทศผู้ส่งออกหลายประเทศต้องแสวงหาหนทางในการแข่งขันหนักหน่วงขึ้นกว่าเดิม

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและค่าเงินที่ผันผวนในห้วงเวลาปัจจุบัน แม้หลายฝ่ายจะประเมินว่ามีผลกระทบระยะสั้น หากแต่ภายใต้ความสั่นไหวและข้อจำกัดในขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ดูเหมือนว่ารัฐนาวาที่เสมือนหนึ่งลอยคว้างอยู่ในสายธารแห่งวาทกรรมว่าด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ กำลังจะต้องเผชิญกับวังน้ำวน ที่ทำให้ไม่สามารถคืบหน้าไปไหนได้ไกลนัก

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งจากรายงานของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยในช่วงที่ผ่านมา ได้ระบุถึงปัจจัยลบทางเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 ว่า การใช้จ่ายในช่วงไตรมาสที่สามของปีอาจจะอยู่ในภาวะชะลอตัวแผ่วลง ขณะที่โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ยังไม่เกิดการปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม อีกทั้งการลงทุนภาคเอกชนก็ยังไม่ฟื้นตัว และหวังพึ่งพาแต่การลงทุนภาครัฐเท่านั้น

ขณะเดียวกันผลประกอบการทั้งในมิติของยอดขายและกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีอัตราการขยายตัวลดลง ยังไม่นับรวมการกระทำผิดธรรมาภิบาลของผู้บริหาร ที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งขาดความน่าเชื่อถือ

ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังส่งสัญญาณที่จะทรงตัวในระดับ 80.2% มีผลต่ออำนาจการซื้อของครัวเรือนต่ำ ทำให้การบริโภคสินค้าหมวดคงทนและหมวดสินค้ากึ่งคงทนอาจต้องชะลอออกไปอีกด้วย

ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ ธุรกิจภาคค้าปลีกและบริการถือเป็นธุรกิจที่มีการจ้างแรงงานรวมมากถึง 14 ล้านคน เฉพาะภาคค้าปลีกมีจำนวนแรงงานอยู่ที่ระดับ 6.2 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นอีกภาคธุรกิจหนึ่งที่ช่วยหนุนนำระบบเศรษฐกิจของชาติ หากแต่จากสถิติในช่วงที่ผ่านมาพบว่านับตั้งแต่ปี 2553 ถึงไตรมาสแรกของปี 2560 ดัชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกโดยรวมอยู่ในอัตราที่ถดถอยอย่างต่อเนื่อง

จากที่เคยเติบโตในระดับร้อยละ 11-12 ในช่วงปี 2553-2555 หากแต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาดัชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกสามารถเติบโตได้เพียงร้อยละ 2.8-3.2 เท่านั้น ซึ่งน่าจะเป็นดัชนีบ่งชี้ความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้เป็นอย่างดีว่ากำลังฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยหรือเพียงทรงตัวอยู่ในตำแหน่งเดิมโดยไม่สามารถขยับเขยื้อนไปไหนได้

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 เป็นต้นไป คนไทยจะเริ่มมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น หรือเริ่มมีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น หลังจากเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวจนกลับมาขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงปีนี้เช่นเดียวกับการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่ค่อยๆ ฟื้นตัวตามการส่งออก ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรก็กำลังปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมาเป็นบวก จนทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จะเห็นการใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มขึ้น

หากแต่ความรู้สึกที่ว่าเศรษฐกิจดีขึ้นกับความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้นเบื้องหน้าในช่วงเวลานับจากนี้ คือข้อเท็จจริงที่หน่วยงานภาครัฐควรให้ความสนใจและกำหนดมาตรการในการพัฒนา ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายสติปัญญาและความสามารถไม่น้อยเลย

ใส่ความเห็น