วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > วัฒนธรรมการ “อ่าน” ของไทย บนหนทางตีบตันและล่มสลาย?

วัฒนธรรมการ “อ่าน” ของไทย บนหนทางตีบตันและล่มสลาย?

กระแสความนิยมของละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่พัฒนาจากนวนิยายที่มียอดพิมพ์ซ้ำหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การพิมพ์ครั้งแรกในปี 2552 ขณะที่ความสนใจจากแฟนละครและนักอ่านกำลังช่วยผลักให้นวนิยายเล่มนี้มียอดพิมพ์ครั้งใหม่ๆ เพิ่มขึ้น นอกจากจะได้รับการกล่าวถึงในฐานะปรากฏการณ์บุพเพสันนิวาสของสังคมไทยแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังสะท้อนมิติความคิดของการอ่านในสังคมไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ

ฉากหลังของนวนิยายที่นำช่วงเวลาประวัติศาสตร์มานำเสนอและดำเนินเรื่องราวส่งผลให้ผู้ชมและผู้อ่านจำนวนไม่น้อยเพลิดเพลินไปกับบรรยากาศย้อนอดีต และมีอีกจำนวนไม่น้อยสนใจใฝ่รู้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นไปด้วยความรู้สึกสำนึกที่ต้องการจะเข้าถึงอรรถรสของบทประพันธ์ให้มากขึ้น หรือจะโดยแรงกระตุ้นที่ประสงค์จะเรียนรู้ให้ถึงรากแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เป็นประหนึ่งเบ้าหลอมสำนึกทางสังคมในปัจจุบัน

กระนั้นก็ดี ความเป็นไปในมิติที่ว่านี้ คงไม่สามารถอธิบายสำนึกทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทยที่ดำเนินไปอย่างฉาบฉวย แม้ว่าบทประพันธ์นี้จะดำเนินไปท่ามกลางฉากหลังของอดีตกาลที่ล่วงเลยมากว่า 300 ปีก็ตาม เพราะสำหรับสังคมไทยคำว่าประวัติศาสตร์ดูจะเป็นเรื่องราวสำหรับการท่องจำและเก็บรายละเอียดปลีกย่อย ที่ห่างไกลไปจากการศึกษาทำความเข้าใจเรียนรู้ที่พร้อมจะวิพากษ์และเก็บรับเป็นบทเรียน มิพักต้องกล่าวถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ดูเหมือนจะถูกทิ้งให้เลือนหายไปจากความทรงจำอย่างช้าๆ

ความเป็นไปที่ดำเนินประหนึ่งโลกคู่ขนานกับปรากฏการณ์ละครบุพเพสันนิวาส ซึ่งออกอากาศตอนแรกเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ก็คือ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ มีกิจกรรมเสวนาว่าด้วย “ทางรอดหรือทางตายแห่งอนาคตของประเทศและรัฐบาลที่ไม่มี ‘ระบบหนังสือของชาติ’” ซึ่งจัดโดย วิชาบรรณาธิการศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่ามกลางบรรยากาศแห่งวิกฤตเรื่องความรู้ประชาชาติ การจัดการระบบหนังสือ และระบบความรู้ของประเทศไทย รวมถึงการสูญหายปิดตัวลงของสื่อสิ่งพิมพ์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่ผ่านมา

ข้อเสนอว่าด้วยแนวความคิดและการสร้างความเข้าใจกับภาครัฐ ในการพัฒนาสังคมเพื่อการอ่านที่ยั่งยืน ท่ามกลางกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากพัฒนาการของเทคโนโลยีและระบบดิจิทัล แต่ดูเหมือนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐจะตอบกลับมาด้วยความว่างเปล่า

กรณีที่ว่านี้ ดูจะสอดรับกับท่วงทำนองและความเป็นไปของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมไปจนถึงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน (29 มีนาคม-8 เมษายน) ที่มีแนวความคิดของงานประจำปีนี้ว่า “อ่าน…อีกครั้ง” ได้อย่างน่าสนใจ

แนวความคิด “อ่าน…อีกครั้ง” ที่เป็นธีมหลักของงาน ถูกนำมาเชื่อมโยงกับนิทรรศการที่จะเล่าเรื่องตั้งแต่ประวัติศาสตร์การอ่านของโลกและประเทศไทย การอ่านในยุคต่างๆ จนถึงหนังสือที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งในระดับโลกและระดับประเทศโดยเน้นให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นอย่างเร่งด่วนของประเทศไทยในการสร้างวัฒนธรรมแสวงหาความรู้ โดยมีการอ่านเป็นกิจกรรมสำคัญ เพื่อให้สามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นได้

ประเด็นที่น่าสนใจของกิจกรรมงานสัปดาห์หนังสือฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งดูจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้คนในแวดวงสิ่งพิมพ์จำนวนไม่น้อยอยู่ในภาวะวิตกกังวล หลังจากที่มีสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนมากต้องยุติบทบาทและปิดตัวลงไปในช่วงก่อนหน้า หากแต่ในอีกด้านหนึ่งการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกยุคสมัย และเป็นอนิจลักษณะที่ไม่อาจเลี่ยง

“การเปลี่ยนผ่านตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หากมองย้อนกลับไป การอ่านคือปัจจัยทางด้านความรู้ต่างๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างเริ่มจากการอ่าน นำไปสู่การทดลอง และริเริ่มลงมือทำ สิ่งที่คนอ่านก็คือเนื้อหา แต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบ นี่คือประเด็นที่เราอยากบอกว่า ถ้ายังอยากจะสร้างคุณภาพของคนไทยให้สามารถแข่งขันในโลกใบนี้ได้ เราต้องสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตาม เราจึงควรจะกลับมาอ่านกันอีกครั้ง เพื่อสร้างคุณภาพคนไทยให้มีความรู้และจินตนาการที่ทันยุคสมัยพร้อมที่จะแข่งขันในเวทีโลก” สุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ระบุ

แม้ว่าการอ่านจะได้รับการยอมรับว่าเป็นปัจจัยสำคัญของการจำเริญเติบโตทางสังคม ทั้งในมิติที่ว่าการอ่านสร้างองค์ความรู้ นำสู่การคิดต่อยอด นำไปสู่การพัฒนา และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง จนเป็นเหตุที่ทำให้หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่า หนังสือ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือประกอบการอ่านสามารถสร้างคุณภาพคน เพื่อสร้างพื้นฐานที่ดีของชาติได้ หากแต่ในยุคสมัยปัจจุบันเครื่องมือที่หลากหลาย และบทบาทของหนังสือ สิ่งพิมพ์ อาจจะลดทอนลงไป แต่การอ่านยังคงเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนพัฒนาการของสังคมไม่ด้อยไปกว่าในอดีตเลย

การอ่าน เพื่อแสวงหาความรู้สามารถเกิดขึ้นภายใต้รูปแบบที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบของหนังสือเล่มไปจนถึงการสืบค้นข้อมูลในระบบออนไลน์ ซึ่งทุกเนื้อหาล้วนมีอิทธิพลกับความคิดของคน และคนก็จะไปเปลี่ยนแปลงโลกจากความคิดที่ได้รับจากเนื้อหาต่างๆ ซึ่งความคิดพื้นฐานเช่นนี้นำไปสู่ “อ่าน…อีกครั้ง” ที่จะเป็นนิทรรศการที่เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญและอิทธิพลของการอ่านที่สร้างโลก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดในยุคสมัยใดก็ตาม โดยทุกรูปแบบทุกเครื่องมือเป็นเพียงสื่อที่บรรจุสารที่มนุษย์คิดค้นขึ้น โดยมีการ “อ่าน” เป็นเครื่องมือในการถอดรหัส

ความคาดหวังคาดหมายของ “อ่าน…อีกครั้ง” ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพียงแค่การเพิ่มจำนวนผู้คนที่อ่านออกเขียนได้ในนิยามความหมายปกติทั่วไป เพื่อเพิ่มเวลาในการอ่านหรือผลิตหนังสือออกมาได้เพิ่มขึ้นเท่านั้น หากแต่มุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมของการแสวงหาความรู้ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ผ่าน “เส้นทางการอ่าน” ที่จะแสดงให้เห็นพัฒนาการของการอ่านในรูปแบบต่างๆ ด้วย

“นิทรรศการภายใต้แนวคิด ‘อ่าน…อีกครั้ง’ จะประกอบส่วนด้วย อ่านเปลี่ยนโลก ซึ่งนำเสนอหนังสือเล่มสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงประวัติศาสตร์ในทุกๆ ด้าน และอ่านเปลี่ยนไทย ซึ่งจะนำเสนอหนังสือเล่มสำคัญที่เป็นหลักหมายของสังคมไทยที่ยังมีผลมาจนถึงปัจจุบันด้วย”

ภายใต้สถานการณ์ด้านคุณภาพการศึกษาไทยที่ตกต่ำลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ และดูจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้ความสามารถในการแข่งขันในด้านต่างๆ ของประเทศไทยลดลงด้วย ความมุ่งหมายที่จะสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เป็นกลไกหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพของคนไทยให้มีความรู้ความสามารถและการคิดอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนพัฒนาตนเองให้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีขีดความสามารถและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ ในทุกด้าน จึงดูจะเป็นความหวังของการเปลี่ยนแปลงนี้

ประเด็นที่น่าสนใจติดตามจากกรณีที่ว่านี้ อยู่ที่การวางแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของรัฐบาลไทย ซึ่งแม้จะประกอบส่วนด้วยยุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาวงการหนังสือ พัฒนาคนทำหนังสือ ทำให้คนรักการอ่าน ทำให้หนังสือถึงมือคนอ่าน แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะขาดหาย และสะท้อนภาพความจริงจังในการผลักดันเรื่องเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริงจากหน่วยงานภาครัฐก็คือ งบประมาณ ในการสนับสนุนเป้าประสงค์ที่วางไว้

กระทรวงวัฒนธรรมจัดสรรงบประมาณสำหรับแผนแม่บทนี้ด้วยวงเงิน 10 ล้านบาทซึ่งคงเทียบไม่ได้กับงบประมาณพัฒนาด้านอื่นๆ ที่ประเทศไทยมี และเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่ากิจกรรมหรืออีเวนต์ เพื่อการประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบางรายการใช้จ่ายเงินมากกว่างบประมาณประจำปีของแผนแม่บทเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านนี้เสียอีก

ข้อจำกัดและอุปสรรคสำคัญที่อาจถือเป็นปัจจัยลบในการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เพื่อการพัฒนาสู่อนาคตนับจากนี้ บางทีอาจไม่ได้อยู่ที่การอ่านแต่เพียงลำพังเท่านั้น หากแต่อยู่ที่สังคมไทยกำลังจะผลิตสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์ แบบใดให้ผู้คนในสังคมได้เสพอ่าน เพื่อยกระดับมาตรฐานทั้งในมิติของสติปัญญาและสำนึกตระหนัก เป็นการอ่านอย่างมีจิตวิพากษ์ที่พร้อมสังเคราะห์ข้อมูลและนำพาความจำเริญให้เกิดขึ้นทั้งในระดับปัจเจกและสังคมในอนาคต

หรือถึงที่สุดแล้ว สังคมไทยยังคงต้องอ่านซ้ำอีกหลายครั้ง กว่าที่จะสามารถเข้าใจ หรือมีโอกาสเข้าถึงข้อเท็จจริงให้ได้ “อ่าน…อีกครั้ง” กันเสียก่อน

ใส่ความเห็น