วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Home > Cover Story > ลุ้นเฮือกสุดท้าย ชิงเม็ดเงิน “คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้”

ลุ้นเฮือกสุดท้าย ชิงเม็ดเงิน “คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้”

ธุรกิจในครึ่งหลังปี 2564 มีแนวโน้มเจอผลกระทบสาหัสยิ่งกว่าครึ่งปีแรก โดยเฉพาะพิษสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่ ทั้งสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เดลตา (อินเดีย) และเบต้า (แอฟริกาใต้) แถมล่าสุด องค์การอนามัยโลกค้นพบสายพันธุ์ใหม่ “แลมบ์ดา” (Lambda) ประเทศเปรู ทำให้รัฐบาลต้องงัดมาตรการควบคุมเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการสร้างรายได้และการจับจ่าย แม้รัฐบาลทุ่มงบประมาณหลายแสนล้านอัดฉีดมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อหลายรอบ

หากดูเฉพาะช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจลุยโครงการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน 5 มาตรการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “เราชนะ” เพิ่มวงเงินอีกคนละ 2,000 บาท โครงการ ม.33 เรารักกัน เพิ่มวงเงินให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 อีกคนละ 2,000 บาท

โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มวงเงินให้ผู้มีสิทธิ์คนละไม่เกิน 3,000 บาท ใช้จ่ายวันละไม่เกิน 150 บาทเหมือนข้อกำหนดในเฟส 1-2

โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 เพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 13.65 ล้านคน สนับสนุนค่าครองชีพเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564

โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เป้าหมาย 2.5 ล้านคน โดยรัฐสนับสนุนค่าครองชีพเดือนละ 200 บาทต่อคน ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564

โครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ สนับสนุน e-Voucher ให้ประชาชนที่ใช้จ่าย ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม และค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 5,000 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยประชาชนจะได้รับ e-Voucher ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 และนำไปใช้ช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2564

ทว่า มาตรการทั้งหมดเริ่มหมดพลังและกระตุ้นการจับจ่ายไม่ได้มาก เนื่องจากผู้คนเริ่มต้องการเก็บเงินที่มีอยู่ในมือและเลือกใช้จ่ายเฉพาะสิ่งจำเป็น เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดอาจยืดเยื้อถึงสิ้นปี รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุม ทั้งล็อกดาวน์และกึ่งล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ หรือทั้งประเทศ หากยอดการติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตยังพุ่งสูงทุบสถิติตลอดเวลา

ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเปิดเผยยอดการใช้จ่ายภายใต้โครงการช่วยเหลือของภาครัฐ ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 มีผู้ใช้สิทธิ์รวม 26.68 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสมยังไม่สูงมาก อยู่ที่ 12,057 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิ์รวม 15.8 ล้านราย ยอดใช้จ่าย 9,784.1 ล้านบาท

2. โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิ์ 27,368 คน ยอดใช้จ่าย 126.9 ล้านบาท 3. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิ์ 10.43 ล้านคน ยอดใช้จ่าย 2,063.5 ล้านบาท และ 4. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิ์ 423,187 คน ยอดใช้จ่าย 82.5 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบกับการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นจากโควิดระลอก 3 สูงถึง 4.5 แสนล้านบาท และหากคุมไม่อยู่ ความเสียหายอาจขยายเป็น 4.5-6 แสนล้านบาท หรือเดือนละ 1 แสนล้านบาท

ที่สำคัญ ยอดการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 29,302,429 คน ยังคงเหลือสิทธิ์มากกว่า 1.5 ล้านสิทธิ์ และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งถือเป็นมาตรการใหม่ ต้องการดึงกลุ่มกำลังซื้อสูงนั้น มีผู้ลงทะเบียน 481,451 คน และยังคงเหลือสิทธิ์มากกว่า 3 ล้านสิทธิ์

ก่อนหน้านี้ นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้อาจไม่ตอบโจทย์ผู้มีรายได้สูงหรือผู้ที่มีเงินออม จำนวน 3-4 ล้านคน ออกมาจับจ่าย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ภาครัฐ ซึ่งมีความต้องการลดหย่อนภาษีมากกว่าการได้คูปองเพื่อไปจับจ่ายเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม บรรดาห้างร้าน ทั้งค้าปลีกและร้านอาหาร ซึ่งถูกมาตรการห้ามบริการรับประทานในร้าน เหลือเฉพาะการซื้อกลับบ้านและดีลิเวอรี ต่างอัดแคมเปญชนิดจัดหนักและแทบทุกกิจการแห่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้และคนละครึ่ง เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าและลุ้นรายได้เฮือกสุดท้าย ทั้งร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านธงฟ้า ร้านโอท็อป ร้านสุขภาพและความงาม นวดสปา เสริมสวย

แม้กระทั่งแผงค้ารายย่อยในตลาดสดและบรรดาแม่ค้าออนไลน์ขายผ่านเพจต่างๆ โดยใช้วิธีส่งสินค้าและรับสแกนสิทธิ์ถึงหน้าบ้านลูกค้าทันที

ส่วนกลุ่มโมเดิร์นเทรดต่างแห่เข้าโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้มากกว่า 200 ร้านค้า เช่น ท็อปส์มาร์เก็ต ซูเปอร์สปอร์ต เพาเวอร์บาย ออฟฟิศเมท บีทูเอส วัตสัน แฟมิลี่มาร์ท เซเว่นอีเลฟเว่น แมคโดนัลด์ เอ็มเคเรสโตรองต์ เคเอฟซี ยาโยอิ แหลมเจริญซีฟู้ด ซูกิชิ ฮองอะจิราเมน มิสเตอร์โดนัท อานตี้แอนส์ เจมาร์ท ออปโป แว่นท็อปเจริญ เค-ที ออพติค โอเรียนทอลพริ้นเซส ออโต้วัน เอทูแซด

ขณะเดียวกัน ทุกค่ายต่างอัดแคมเปญใหญ่ดึงดูดนักช้อป เช่น เดอะมอลล์กรุ๊ป ใช้งบกว่า 40 ล้านบาท จัดแคมเปญช้อปช่วยไทย #ยิ่งช้อปยิ่งได้ ลดราคาสินค้าสูงสุดถึง 80% ส่วนร้านค้าภายในศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ ทุกสาขา จัดโปรโมชั่น กิน-ช้อป เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าครบตามกำหนดจะได้รับเงินคืนรวมสูงสุด 3,200 บาท หรือเลือกรับ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ในศูนย์ฯ ผ่านแอปเป๋าตัง และรับบัตรกำนัล หากสะสมยอดเป็น 40 Top Spenders จะได้รับทองคำเป็นของสมนาคุณ

ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น นำสินค้าอุปโภคบริโภคกว่า 10,000 รายการ มาจัดโปรโมชั่นพิเศษ ลดสูงสุด 50% เช่น อาหารและเครื่องดื่ม สินค้ายกแพ็ก โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไอที รวมถึงนำธุรกิจในเครือมาเข้าร่วมโครงการด้วย ทั้งร้านกาแฟออลล์ คาเฟ่ ร้านเบลลินี่ เบค แอนด์ บรู ร้านกาแฟคัดสรร หรือร้านยาเพื่อชุมชนเอ็กซ์ต้า พลัส

ค่ายท็อปส์และแฟมิลี่มาร์ทในเครือเซ็นทรัล รีเทล เปิดตัวแคมเปญ SUPER E-STAMP แลกรับ e-Voucher และ E-COUPON รวมมูลค่าสูงสุดถึง 2,090 บาท ล้อไปกับคูปองอีวอยเชอร์ของรัฐ เพื่อเป็นส่วนลดในการช้อปครั้งต่อไป

ด้านบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เจ้าของธุรกิจศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลพลาซา เซ็นทรัลเฟสติวัล เซ็นทรัล ภูเก็ต และเซ็นทรัล วิลเลจ รวม 33 สาขาทั่วประเทศ งัดแคมเปญลดราคาครั้งใหญ่กลางปี “ฮักไทย ไทยช่วยไทย รวมใจช้อป” พร้อมกันทั่วประเทศระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ลดสูงสุด 90% ทั้ง online & offline กว่า 15,000 แบรนด์ พร้อม Cashback สูงสุด 15%

แน่นอนว่า ทุกฝ่ายต่างคาดหวังยอดขายในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20-30% แต่จะเข้าเป้าหรือไม่ ยังเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ดูเหมือนไม่มีใครกล้าฟันธงชัดเจน มิหนำซ้ำอาจพลาดเป้าหลุดลุ่ยด้วย

ใส่ความเห็น