วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > รัฐไทยเร่งดึงต่างชาติลงทุน หวังฉุดเศรษฐกิจพ้นก้นเหว

รัฐไทยเร่งดึงต่างชาติลงทุน หวังฉุดเศรษฐกิจพ้นก้นเหว

การแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากจะคุกคามความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของประชาชนในทั่วทุกภูมิภาคของโลกแล้ว มหันตภัยร้ายครั้งใหญ่ดังกล่าวยังส่งผลให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมหลากหลายตกอยู่ในภาวะชะงักงันและชะลอการเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดการระบาด ก่อนที่จะกลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ หลังจากที่นานาประเทศดำเนินความพยายามที่จะควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดด้วยการปูพรมฉีดวัคซีนด้วยหวังจะให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจต่อไปได้

ความเป็นไปของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย รวมถึงสถานการณ์ในระดับนานาชาติ ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังเริ่มส่งสัญญาณของการฟื้นตัวขึ้น หากแต่ในมิติของการลงทุน ซึ่งต้องอาศัยการเจรจาและการลงพื้นที่จริง ยังคงเผชิญกับอุปสรรคจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และทำให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต้องปรับลดเป้าหมายยอดการขายหรือเช่าพื้นที่ในปีงบประมาณ 2564 ลงจากเดิมที่ระดับ 1,500 ไร่ เหลือเพียง 1,200 ไร่ โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม 2563-เมษายน 2564) การนิคมอุตสาหกรรมสามารถสร้างยอดขาย/เช่าได้แล้วรวมที่ระดับ 700 ไร่

แนวทางในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น จึงอยู่ที่การร่วมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการนิคมอุตสาหกรรมฯ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อปรับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนให้น่าสนใจมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เคยปรับลดสิทธิประโยชน์ในบางอุตสาหกรรม หากแต่สถานการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปมาก โดยประเทศคู่แข่งของไทย โดยเฉพาะเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ต่างกำหนดสิทธิประโยชน์ที่มีจุดเด่นในการดึงดูดการลงทุน ที่ทำให้ไทยต้องปรับตัวรองรับการแข่งขันนี้ด้วย

มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่กลไกรัฐคิดและดำเนินการได้ในปัจจุบันในด้านหนึ่งอยู่ที่การต่ออายุสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุน โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร รวม 4 ฉบับ ประกอบด้วย มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง เพื่อขยายระยะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี พัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 และรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ หรือ Thailand Plus Package ออกไปอีก 2 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็น 31 ธันวาคม 2565

พระราชกฤษฎีกาทั้ง 4 ฉบับเป็นการขอขยายระยะเวลาการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อจูงใจนักลงทุนให้มีการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ส่งเสริมการลงทุนในเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักรตามโครงการลงทุนในระบบอัตโนมัติ ส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคทรัพย์สินให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ที่จัดตั้งโดยสถานศึกษา

รวมถึงการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทุนในระบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้มีการจ้างงานบุคลากรผู้มีทักษะสูง ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง

ความพยายามของกลไกภาครัฐในการดึงดูดการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น ดูจะได้รับผลตอบรับพอสมควรเมื่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่ายอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรกปี 2564 มีทั้งสิ้น 401 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 1.23 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ และอิเล็กทรอนิกส์หนุนให้ FDI มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 143 ซึ่งกลุ่มนักลงทุนจากเกาหลีใต้ขยับขึ้นเป็นนักลงทุนที่ลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ขณะที่ EEC ยังคงได้รับความสนใจและเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของนักลงทุน

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 74,830 ล้านบาท โดย 2 อันดับแรกที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด พบว่าเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ ที่มูลค่ารวม 18,430 ล้านบาท เติบโตขึ้นมากกว่า 100 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่ารวม 17,410 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในด้านหนึ่งอาจมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าในหมวดการแพทย์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการขยายการลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอุตสาหกรรมในกลุ่ม S-Curve ขยายตัวต่อเนื่องจากผลของ Work From Home ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการทำงานในยุคหลัง COVID-19 ระบาด ซึ่งการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ยังมีอย่างต่อเนื่องและเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจติดตาม

ก่อนหน้านี้กลไกรัฐไทยได้กำหนดเป้าหมายพร้อมกับเปิดปฏิบัติการเชิงรุกด้านการลงทุน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นำประเทศให้หลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางในปี 2568 และเติบโตเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2580 โดยในปี 2564 เชื่อว่าไทยสามารถผลักดันจีดีพีให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ร้อยละ 4 จากการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ควบคู่กับการดึงนักลงทุนต่างชาติทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยตามแผนปฏิบัติการเชิงรุกดึงดูดนักลงทุนต่างชาติใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประกอบด้วย ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ และดิจิทัลด้วย

ทั้งนี้ กลไกรัฐไทยตั้งเป้าหมายว่า จะต่อยอดอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์แบบเดิมของไทยมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้าตามความต้องการของตลาดในอนาคต เช่นเดียวกับอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมเหล่านี้อยู่แล้วจะต่อยอดให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ขณะที่ในภาคอุตสาหกรรมการแพทย์ ต้องการทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตยาในภูมิภาคให้ได้ ส่วนดิจิทัล ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่ทั่วโลกกำลังต้องการต้องเร่งดำเนินการเช่นกัน ส่วนทางด้านการเกษตรต้องต่อยอดการพัฒนาจากพื้นฐานเดิมของประเทศไทยที่เป็นประเทศเกษตรให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น

ความน่าสนใจของการลงทุนอีกประการหนึ่งอยู่ที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 191 โครงการ มูลค่าลงทุน 61,979 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 143 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยอันดับประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่ามากที่สุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย เกาหลีใต้ จีน และสิงคโปร์ ซึ่งมีขนาดการลงทุนใกล้เคียงกัน โดยการลงทุนของเกาหลีใต้ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากมีการร่วมทุนในโครงการขนาดใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์

ข้อน่าสังเกตจากข้อมูลการลงทุนจากต่างประเทศประการหนึ่งก็คือ บทบาทที่ลดลงของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่น ซึ่งมีบทบาททางธุรกิจในไทยมายาวนาน โดยไทยมีบทบาทสำคัญในการเป็นฐานการผลิตและศูนย์กลางกระจายสินค้าให้แก่บริษัทญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในไทยกว่า 5,800 แห่ง และเป็นฐานสำหรับการขยายการลงทุนของญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการลงทุนสะสมของญี่ปุ่น (FDI) ในไทยจนถึงปี 2563 มีมูลค่าสูงกว่า 93,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท

สำหรับพื้นที่เป้าหมายที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดยังเป็นพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมมูลค่า 64,410 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็น จังหวัดระยอง มูลค่าลงทุน 29,430 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี 24,970 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา 10,010 ล้านบาท

นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก โดยมีจำนวน 39 โครงการ เงินลงทุน 8,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแบ่งเป็นมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 21 โครงการ เงินลงทุน 5,630 ล้านบาท มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร จำนวน 16 โครงการ เงินลงทุน 2,470 ล้านบาท และมาตรการวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 300 ล้านบาท

การปรับตัวกระเตื้องขึ้นของการลงทุนจากต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ดูจะเป็นสัญญาณบวกที่มาพร้อมๆ กับความหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นจากภาวะที่ถูกฝังอยู่ก้นเหวมาอย่างยาวนาน หากแต่คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่มีเข้ามาเหล่านี้ จะสามารถแปลงเป็นการลงทุนที่จับต้องได้จริงและมีรูปธรรมที่หนุนนำการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลานับจากนี้ได้มากน้อยอย่างไร นี่อาจเป็นคำถามที่รอคอยคำตอบสำหรับการพิสูจน์ในอนาคต

ใส่ความเห็น