วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ยุคเข็ญเศรษฐกิจไทย กลไกรัฐหมดแรงขับเคลื่อน

ยุคเข็ญเศรษฐกิจไทย กลไกรัฐหมดแรงขับเคลื่อน

ความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีหมู 2562 ดูจะไม่ปรากฏสัญญาณบวกหรือกระเตื้องขึ้นตามที่กลไกรัฐคาดหวัง หากแต่ยังอยู่ในทิศทางตรงกันข้ามและถูกถมทับด้วยปัจจัยลบ ที่ก่อให้เกิดความกังวลใจอย่างกว้างขวางว่าเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลานับจากนี้จะเดินหน้าเข้าสู่จุดวิกฤต และเผชิญกับภาวะที่ไม่พึงประสงค์ที่กำลังคืบใกล้เข้ามา

แม้ว่าตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา รัฐนาวา ภายใต้การนำของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพยายามโหมประโคมและระบุว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวขึ้นจากความซบเซา และกำลังดำเนินไปอย่างราบรื่นภายใต้เป้าหมายทางยุทธศาสตร์

หากแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้ากลับกลายเป็นการปรับลดต่ำลงของตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจ จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต้องมีการปรับลดประมาณการและคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ก่อนที่ล่าสุดจะปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ทั้งที่รัฐบาลจะทุ่มเทเงินงบประมาณจำนวนกว่า 3 แสนล้านบาทด้วยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี แต่ดูเหมือนว่าความพยายามดังกล่าวจะอยู่ไกลจากเป้าหมายที่วางไว้

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2562 ไว้ที่การเติบโตร้อยละ 3 พร้อมกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบลดแลกแจกแถมสารพัด แต่ดูเหมือนว่ามาตรการของรัฐเหล่านี้จะไม่ได้ส่งผลในเชิงบวกมากนัก ขณะที่ผลการสำรวจความเห็นของประชาชนโดยสวนดุสิตโพล พบว่าประชาชนกว่าร้อยละ 65.54 ระบุว่ารัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ และทำให้เกิดปัญหาข้าวของแพง และมีปัญหาการว่างงาน กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าในปัจจุบัน

ประเด็นที่น่าสนใจจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ประการหนึ่งอยู่ที่การประเมินปัญหาที่รุมเร้าว่าหากมองว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ ก็จะเกิดความรู้สึกรับรู้ว่าย่ำแย่ และนำไปสู่ความรู้สึกโดยรวมที่ไม่ดีขาดความมั่นใจ จนนำไปสู่ภาวะชะลอตัวในการบริโภคและการลงทุน ซึ่งทัศนะเช่นว่านี้ทำให้กลไกรัฐดูจะไม่ได้ยืนอยู่บนตรรกะและข้อเท็จจริงของสภาพที่เผชิญอยู่ และพยายามเน้นย้ำว่าเศรษฐกิจไทยยังไปได้ ทั้งที่สถานการณ์โดยรวมไม่ได้เป็นไปตามที่เอ่ยอ้างเช่นนั้น

การออกมายอมรับของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่าเศรษฐกิจไทยซึ่งเคยขับเคลื่อนด้วยการส่งออก การเบิกจ่ายภาครัฐ ภาคการเกษตร ค่าครองชีพ การจับจ่ายใช้สอยและการลงทุน ปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เดียว เหลือเพียงการกระตุ้นการบริโภคภายใน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ ขณะที่การออกมาตรการเพื่อดูแลเศรษฐกิจในส่วนอื่นไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบ สะท้อนการขาดเอกภาพในการทำงานของคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

การผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย ซึ่งคาดว่าจะใช้เม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ที่ประกอบส่วนด้วย การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและค่าปรับปรุงคุณภาพข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/2563 ที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้

รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นสำหรับผู้กู้จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เป็นเวลา 1 ปี และโครงการสินเชื่อสำหรับผู้กู้รายใหม่ อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และรัฐบาลยังมีแผนจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้กับกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติทั่วประเทศ 79,000 หมู่บ้าน อาจให้ภาพของการเป็นเครื่องยนต์เดี่ยวที่กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยของกระทรวงการคลังให้ชัดเจนขึ้น ควบคู่กับภาพของความไร้เอกภาพในทีมเศรษฐกิจที่เด่นชัดขึ้นด้วย

แม้ว่าในช่วงที่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มีบทบาทเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีผลงานใดๆ ให้เอ่ยอ้างเป็นความสำเร็จอย่างประจักษ์ชัด หากแต่ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่แต่ละกระทรวงต่างดำเนินไปคนละทิศละทาง ท่ามกลางการดิ่งลงอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย ทำให้ความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการของรัฐบาลติดลบลดลงไปทุกขณะอย่างยากปฏิเสธ

ความไม่มีเอกภาพในคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจดูจะเป็นประเด็นปัญหาที่ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐขาดทั้งพลังและทิศทางที่จะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่พึงประสงค์ และนำไปสู่ความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเสียใหม่ โดยให้มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และสามารถตอบรับกับการดูแลประชาชนในแต่ละระดับได้มากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับประชาชนระดับฐานราก แต่ลำพังการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานภายใต้วิสัยทัศน์เดิม โดยปราศจากการปรับเปลี่ยนทัศนะแนวความคิด จะช่วยนำพาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตขึ้นได้จริงหรือ

การบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพหรือพร่องความสามารถ ที่สะท้อนออกมาเป็นตัวเลขจีดีพีที่คาดว่าจะอยู่ในระดับร้อยละ 2.6 ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำมาก และต่ำกว่าอัตราการเติบโตจีดีพีเฉลี่ยของอาเซียนที่อยู่ในระดับร้อยละ 5.3 ตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ทั้งในมิติของการปรับโครงสร้างทางการเกษตร การปรับปรุงการกระจายรายได้ และการปรับปรุงคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาสู่ภาวะที่แข่งขันในเวทีนานาชาติได้ หลังจากที่ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันมาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา มากกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ ที่ดำเนินผ่านมา

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทย ไม่ใช่กรณีที่จะประเมินจากความรู้สึก และแก้ปัญหาด้วยมาตรการระยะสั้นด้วยการลดแลกแจกแถมหรืออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเป็นครั้งๆ ดังที่ผ่านมา หากแต่เป็นประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งในมิติว่าด้วยการกระจายรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมทั้งในมิติของโอกาสและการเข้าถึงทรัพยากรทางการผลิต ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐต้องเร่งให้ความสำคัญและกำหนดเป็นนโยบายที่นำไปสู่รูปธรรมในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง

ภาวะแห่งยุคเข็ญทางเศรษฐกิจของไทยอาจดูใกล้เข้ามาทุกขณะ ขึ้นอยู่กับว่ากลไกรัฐที่มีส่วนดูแลรับผิดชอบในกรณีนี้ จะมีวิสัยทัศน์ในการระดมสรรพกำลังเพื่อผลักดัน และขับเคลื่อนเข็นข้ามผ่าน หรือแม้กระทั่งการปรับทิศทางเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร

ใส่ความเห็น