วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > New&Trend > มช. มุ่งพัฒนาสปาล้านนาและผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่สากล

มช. มุ่งพัฒนาสปาล้านนาและผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่สากล

สกสว.หนุนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พัฒนาสปาล้านนาและผลิตภัณฑ์จากพืชหอมประจำถิ่น ว่านเสน่ห์จันทร์หอมและตะไคร้ภูเขา หวังยกระดับมาตรฐานสากล ตามแผนงานวิจัยการบริหารจัดการแผนงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ

ศาสตราจารย์ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้อำนวยการแผนงานวิจัยการบริหารจัดการแผนงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคตของโลกและของประเทศ มีมูลค่าการตลาดสูงเป็นอันดับ 4 รองจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพคิดเป็นร้อยละ 15.6 จากรายได้การท่องเที่ยวทั้งหมด

คณะวิจัยจึงได้ศึกษาหาแนวทางการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวเชิงกีฬา ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ทำให้ได้ชุดความรู้ใหม่และข้อมูลการวิเคราะห์สังเคราะห์เพื่อจัดทำแผนการบริหารจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทย และร่างแนวทางการบริหารจัดการโครงการวิจัยที่สามารถนำไปบริหารจัดการโครงการวิจัยให้มีประสิทธิผลตามเป้าหมาย พร้อมกับผลักดันสู่กระบวนการกำหนดนโยบายที่มีความเหมาะสม เช่น การส่งเสริมด้านกลยุทธ์ในระดับต่าง ๆ ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสร้างความร่วมมือ การผลักดันระบบสาธารณะที่เกี่ยวข้อง นำมาซึ่งการสร้างโอกาสด้านการท่องเที่ยวและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น หรือระดับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเข้าสู่กระบวนการวิจัยในชุมชนและพื้นที่ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ขยายผลต่อผู้ประกอบการกีฬาและสปาชุมชนและท้องถิ่นเพื่อสร้างความยั่งยืน

ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.อารีวรรณ กลั่นกลิ่น หัวหน้าโครงการการพัฒนาสปาล้านนาสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ระบุว่าการให้บริการสปาเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวหนึ่งของไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจังหวัดในภาคเหนือมีศักยภาพสูงในการบริการที่ครอบคลุมรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่มีลักษณะโดดเด่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นอัตลักษณ์ล้านนาให้ผู้ประกอบการได้นำไปใช้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยว จึงต้องพัฒนาภูมิปัญญาของล้านนาในการดูแลสุขภาพสำหรับการให้บริการในสถานประกอบการสปาเพื่อต่อยอดการประกอบธุรกิจสปา รองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมียุทธศาสตร์สำคัญ คือ การพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ปัจจุบันพบว่ามีนักท่องเที่ยวแบบครอบครัวเพิ่มขึ้น แต่การบริการสปายังไม่ครอบคลุมกลุ่มสตรีมีครรภ์และวัยเด็ก เนื่องจากยังไม่มีองค์ความรู้อย่างเพียงพอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถการให้บริการที่รองรับนักท่องเที่ยวสองกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องพัฒนารูปแบบการบริการสปาล้านนาสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่สากลให้มีคุณภาพอย่างแท้จริง การสร้างมาตรฐานการที่มีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์ มีพื้นที่ยืนในระดับสากล เป็นการสร้างความพึงพอใจ น่าสนใจ ความดึงดูดใจแก่ผู้รับบริการมากขึ้น รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้รับบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเกิดการกลับมาใช้บริการซ้ำ สิ่งที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การมีผลิตภัณฑ์ของตนเองที่มีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์ล้านนา ซึ่งที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสถานบริการสปาส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยผลิตภัณฑ์ในประเทศที่ใช้ยังไม่มีการรายงานเรื่องความปลอดภัย และความพึงพอใจของผู้รับบริการในแต่ละกลุ่มที่ใช้บริการ จึงทำให้ผลิตภัณฑ์สปาที่ผลิตในประเทศไทยไม่สามารถส่งออกหรือเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในวงกว้าง

นักวิจัยจึงศึกษาน้ำมันหอมระเหยจากพืชหอมของไทยที่มีคุณภาพ คือ ว่านเสน่ห์จันทร์หอมและตะไคร้ภูเขา และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สปาที่มีอัตลักษณ์ล้านนา ผ่านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ด้านฤทธิ์ทางชีวภาพ มีฤทธิ์ต้านจุลชีพทำให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้น และผู้รับบริการมีความพึงพอใจ ซึ่งนักวิจัยได้ผสมผสานรูปแบบการให้บริการที่ครอบคลุมทั้งการให้บริการสปาและผลิตภัณฑ์สปา เพื่อช่วยส่งเสริมการส่งออกของผลิตภัณฑ์สปาและน้ำมันหอมระเหยไทยออกสู่ตลาดสากลได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งนำมาใช้ในสปาล้านนาตามรูปแบบการบริการที่ได้พัฒนาอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรรูปแบบการให้บริการสปาล้านนา เพื่อเพิ่มศักยภาพของการบริการให้มีมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้สปาล้านนาเป็นที่ยอมรับและมีความน่าเชื่อถือในระดับสากล อีกทั้งเป็นต้นแบบของการพัฒนาการให้บริการสปาในท้องถิ่น ในประเทศ และต่างประเทศต่อไป เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอันจะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าและรายได้ให้กับประเทศ

จากการบูรณาการผลการวิจัยได้รูปแบบการให้บริการสปาล้านนาที่ใช้การให้บริการนวดล้านนาทั้งในกลุ่มคนทั่วไป สตรีตั้งครรภ์ เด็กทารก โดยใช้ศาสตร์ภูมิปัญญาล้านาและดนตรีล้านนาที่สามารถสร้างความผ่อนคลาย ในปี 2563 คณะวิจัยวางแผนที่จะนำหลักสูตรการให้บริการการนวดล้านนาไปฝึกอบรมให้กับบุคลากรในสถานประกอบการสปาที่เป็นต้นแบบ ได้พัฒนาความรู้และทักษะ และสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่บุคลากร ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจสปาและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำรูปแบบการนวดและการให้บริการไปเพิ่มมูลค่าการให้บริการของตนเองกับบุคคลทุกช่วงวัย นอกจากนี้สถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพทั้งรายใหญ่และรายย่อยสามารถนำคู่มือเกณฑ์การรับรองความเป็นสปาล้านนาไปเป็นแนวทางประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านล้านนามาผสมผสานในการดำเนินการธุรกิจสปา โดยมีอัตลักษณ์ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ รูป (ภาพลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรม) รส (สะท้อนภูมิปัญญา) กลิ่น (สะท้อนความหอมล้านนา) เสียง (สะท้อนธรรมชาติล้านนา) สัมผัส (สะท้อนวิถีชีวิต) ตามเกณฑ์การรับรองที่พัฒนาขึ้น เพื่อพัฒนามาตรฐานการให้บริการของธุรกิจสปาของตนเองให้มีความโดดเด่น สร้างความพึงพอใจและความมั่นใจในคุณภาพของการให้บริการของสปาล้านนาแก่ผู้มารับบริการและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

ใส่ความเห็น