วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > พิธาน องค์โฆษิต พลิก Passion รุกธุรกิจ

พิธาน องค์โฆษิต พลิก Passion รุกธุรกิจ

ชื่อนักธุรกิจหนุ่ม พิธาน องค์โฆษิต ติดกระแสฮอตขึ้นมาอีกครั้ง หลังประกาศทุ่มเม็ดเงินส่วนตัวซื้อหุ้นบริษัท มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จากบริษัทแม่ “มอสเบอร์เกอร์” ประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 75% พร้อมเปิดแผนลุยขยายสาขาและกลยุทธ์รุกสมรภูมิฟาสต์ฟู้ดแบบก้าวกระโดดทันที

หลายคนรู้จักพิธานในฐานะไฮโซแอมป์ ไม่ใช่นักธุรกิจในสมรภูมิฟู้ดรีเทล แต่หนุ่มคนนี้คร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นานนับสิบปี

เขาเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของ “บัญชา องค์โฆษิต” มหาเศรษฐีหมื่นล้าน ผู้บุกเบิกก่อตั้งบริษัท เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของประเทศไทย ภายใต้เครื่องหมายการค้า “KCE” ซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญขั้นพื้นฐานในการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องมือสื่อสาร โทรคมนาคม เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกประเภท

ปัจจุบันบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) มีบริษัทย่อยและสำนักงานขายในยุโรป อเมริกา และสิงคโปร์ ติดต่อกับลูกค้าในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งพิธานถือเป็นกำลังหลักเข้ามาลุยงานให้ครอบครัวมาตลอดตั้งแต่ปี 2548 หลังจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จาก University of California, Riverside ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ Johnson Graduate School of Management, Cornell University ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ต้องถือว่าพิธานเรียนรู้เทคนิคต่างๆ จากพ่อและลุยงานบริหาร ช่วย “บัญชา” แก้ปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ตำแหน่งนักยุทธศาสตร์ด้านการวางแผนการขายและการผลิต บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) จนล่าสุดนั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ KCE อย่างรวดเร็วในวัยไม่ถึงสี่สิบปี

ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท KCE มีรายได้จากการขายรวม 13,982.50 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,014.90 ล้านบาท และธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แม้อาจเจอภาวะสงครามการค้าและภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยลบอยู่บ้างก็ตาม

ดังนั้น เรื่องเงินทุนไม่ใช่เรื่องใหญ่ของพิธาน และเขามักพูดกับสื่อเสมอว่า ยังมี Passion ที่จะทำธุรกิจใหม่ๆ ที่มีโอกาสทำรายได้และกำไรอยู่ในกระแสความต้องการของตลาด

ด้านหนึ่ง พิธานในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KCE เขาตั้งเป้าหมายจะผลักดันธุรกิจของครอบครัวผงาดขึ้นเป็นผู้ผลิตแผ่นพิมพ์แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์อันดับ 1 ของโลก อีกด้าน คือ เป้าหมายการสร้างธุรกิจส่วนตัวที่อยู่ในเทรนด์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เขาจับมือกับเพื่อนลงขันเป็นหุ้นส่วนเดินสายเจรจาซื้อกิจการต่างๆ ที่น่าสนใจ ตั้งแต่การเทกโอเวอร์กิจการ “เดอะ เฟสช็อป” แบรนด์เครื่องสำอางเกาหลีที่กำลังเจอวิกฤตสินค้านำเข้าราคาถูกตีตลาดจนรายได้ทรุดลงอย่างหนัก และสามารถพลิกฟื้นธุรกิจใหม่ทำรายได้มากกว่า 700-800 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันมีร้านสาขามากกว่า 88 แห่ง และวางแผนขยายสาขาจนถึงสิ้นปีเพิ่มเป็น 95 สาขา

ตามด้วยการลงทุนเปิดธุรกิจแฟชั่นออนไลน์ “M2S” (www.M2Spop.com) ใช้กลยุทธ์แนวใหม่ ดึงนักแสดงดังมาดีไซน์สินค้าเจาะตลาดผู้หญิงโดยเฉพาะ เช่น เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ ดีไซน์แนวกีฬา ไอซ์อภิษฎา เครือคงคา เน้นความเฉี่ยว หรูหรา เก้า-สุภัสสรา ธนชาต สไตล์วัยรุ่นสดใส เพื่อสร้างเดสทิเนชั่น แฟชั่น แพลตฟอร์มสำหรับผู้หญิงในการเข้ามาซื้อสินค้า เน้นจุดขายสินค้าคุณภาพ คอลเลกชั่นหลากหลาย และรายการสินค้า (SKU) มีจำนวนมาก ราคาขายเฉลี่ยตั้งแต่ 590-1,190 บาท

ส่วนดีลล่าสุด คือ การร่วมลงทุนกับกลุ่ม “มอสเบอร์เกอร์” และนั่งตำแหน่งประธานบริษัท มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด

พิธานกล่าวว่า หากมองศักยภาพตลาดเบอร์เกอร์มีขนาดใหญ่มาก มูลค่าราว 10,000 ล้านบาท อัตราการเติบโต 4-5% โดยมีผู้เล่นหลัก 2 รายใหญ่ คือแมคโดนัลด์และเบอร์เกอร์คิง ครองส่วนแบ่งรวมกันประมาณ 90% ของทั้งตลาด แต่หากมองพฤติกรรมผู้บริโภคในการเลือกซื้อเบอร์เกอร์รับประทาน ราว 40% ต้องการความเร็ว อีก 60% ต้องการเบอร์เกอร์คราฟท์ หรือพิถีพิถัน มีคุณภาพ นั่นถึงโอกาสของมอสเบอร์เกอร์ เพราะปัจจุบันเบอร์เกอร์ระดับพรีเมียมอย่างแท้จริงยังไม่มีการทำตลาดอย่างจริงจัง

ขณะที่จุดแข็งของมอสเบอร์เกอร์อยู่ที่คุณภาพระดับพรีเมียม สินค้าและวัตถุดิบ 70% มาจากญี่ปุ่น และรสชาติมีเอกลักษณ์ สไตล์เอเชียสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งต่างจากคู่แข่งที่เน้นรสชาติและสไตล์เบอร์เกอร์อเมริกัน

เมื่อบวกกับแนวคิดของ อัทสึชิ ซากุราดะ ประธานกรรมการบริษัทและตัวแทน มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส อิงค์ ที่ตั้งเป้าหมายต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศเชิงยุทธศาสตร์ที่ 2 ในการขยายตลาดต่อจากไต้หวัน โดยวางแผนระยะยาวภายใน 10 ปี จะเปิดร้านให้ได้ 10,000 สาขาทั่วโลก และเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 70% จากปัจจุบันมีสาขารวม 1,670 สาขา แบ่งเป็นญี่ปุ่น 1,300 สาขา และต่างประเทศ 370 สาขา ใน 9 ประเทศ ส่วนรายได้รวม 1.3 แสนล้านเยน เป็นรายได้ในญี่ปุ่น 70% ต่างประเทศ 30%

ดังนั้น หากนับสาขามอสเบอร์เกอร์ในไทยล่าสุดเพียง 8 แห่ง และสาขาในต่างประเทศที่มีเพียง 370 แห่ง การประกาศเป้าหมายขยายสาขาระยะ 10 ปี 10,000 สาขา ย่อมหมายถึงโอกาสการเติบโตอีกหลายเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม กรณีของพิธานเป้าหมายและความสำเร็จ คือ โจทย์ท้าทายความสามารถ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจอาหารถือเป็นสมรภูมิที่กลุ่มนักธุรกิจตระกูลดังที่มีเงินทุนเต็มหน้าตักพยายามเข้ามาสร้างโอกาส โดยเฉพาะการซื้อแบรนด์ใหม่จากต่างประเทศเข้ามาเจาะตลาดไทย

ไม่ว่าจะเป็นกรณีเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ที่ขยายไลน์ธุรกิจของครอบครัวจากบริการขนส่งสินค้าทางเรือ เข้ามาจับธุรกิจอาหาร โดยซื้อสิทธิ์บริหารแฟรนไชส์ “พิซซ่าฮัท” จากกลุ่ม ยัม! แบรนด์ส อิงค์ เมื่อปี 2560 และล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา ซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ ร้านอาหารทาโก้ เบลล์ (Taco Bell) เชนร้านอาหารกึ่งเม็กซิกันสไตล์ยอดนิยมจากรัฐเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย เข้ามาเปิดสาขาแรกในประเทศไทย

เฉลิมชัยระบุถึงแผนการรุกขยายธุรกิจอาหารว่า ในปี 2562 สัดส่วนรายได้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะเพิ่มมาอยู่ที่ 10-15% จากปีก่อนอยู่ที่ 10% มาจากการเปิดให้บริการร้านพิซซ่าฮัทที่ปัจจุบันมีจำนวน 137 สาขา รวมทั้งรายได้จากร้านอาหารทาโก้ เบลล์ ซึ่งล่าสุดเปิดแล้ว 2 สาขา และวางแผนเปิดครบ 40 สาขา ภายใน 5 ปี (2562-2566)

หรือกรณีเสี่ยป๊อป สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย บิ๊กบอส บริษัท นิปปอนแพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “NPP” หันมาลุยธุรกิจอาหารเมื่อปี 2559 โดยเจรจาซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์จาก A&W Restaurant Inc. USA ระยะสัญญายาวนานถึง 20 ปี เพื่อนำร่องลุยร้านฟาสต์ฟู้ด A&W สร้างพอร์ตร้านอาหารในเครือ พลิกสถานะจากเจ้าตลาดบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ สู่ Food Company เต็มตัว

ปี 2561 “นิปปอนแพ็ค” เดินหน้าปรับโครงสร้างใหญ่ ดึงผู้บริหารหนุ่มวัยไม่ถึง 40 “ศุภจักร ไตรรัตโนภาส” อดีตที่ปรึกษาทางการเงินบริษัทยักษ์ใหญ่ International investor เข้ามานั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น “เอ็นพีพีจี” ล้างภาพธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง เพื่อลุยธุรกิจอาหารแบบครบวงจร 360 องศา โดยมีบิ๊กแบรนด์อยู่ในมือ ทั้ง A&W มิยาบิ มิสเตอร์โจนส์ และเตรียมเงินก้อนโตกว้านซื้อกิจการร้านอาหารเข้ามาเติมเต็มพอร์ตอย่างน้อยอีก 4 แบรนด์ เพื่อเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน หรือ Quick Service Restaurants (QSR) ที่มีไลน์ร้านอาหารทั้งคาว-หวาน ทั้งฟาสต์ฟู้ด อาหารอินเตอร์ อาหารญี่ปุ่น อาหารไทย รุกตลาดทั้งในประเทศและขยายสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน

ปัจจุบัน NPPG มีร้านอาหารแบรนด์ดังในมือ ทั้งร้านอาหาร ขนมและเครื่องดื่มจากสหรัฐฯ “ดีน แอนด์ เดลูก้า” (Dean & Deluca) ร้านอาหารบริการด่วน (คิวเอสอาร์)จากสหรัฐฯ A&W ร้านปิ้งย่าง มิยาบิ (Miyabi) ร้านมิสเตอร์โจนส์ออร์แฟเนจ (Mr.Jones’Orphanage) ร้านเบเกอรี่ เบรดทอล์ค (BreadTalk) และล่าสุดซื้อกิจการร้านอาหารไทยแบรนด์ “คิทเช่น พลัส” และ “บ้านครัวไทย” จำนวน 60 กว่าสาขาทั่วประเทศไทย

ทั้งหมดเป็นเรื่องน่าจับตาว่า เกมแตกไลน์กับการทุ่มซื้อแบรนด์จะประสบความสำเร็จตามสูตรทุกครั้งหรือไม่

โดยเฉพาะ “มอสเบอร์เกอร์” ของไฮโซแอมป์ พิธาน องค์โฆษิต จะฉลุยเหมือนรุ่นพี่หรือไม่ อีกไม่นานรู้กัน

ใส่ความเห็น