วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > พลิกปูมเครือสารสาสน์ อาณาจักรธุรกิจหมื่นล้าน

พลิกปูมเครือสารสาสน์ อาณาจักรธุรกิจหมื่นล้าน

กรณีครูประจำชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ จ. นนทบุรี ทำร้ายเด็กนักเรียนในห้องเรียนจนเกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักและลุกลามตรวจสอบโรงเรียนในเครือสารสาสน์อีก 34 แห่ง กำลังเป็นปมปัญหาใหญ่สะเทือนอาณาจักรธุรกิจโรงเรียนเอกชนหลักหมื่นล้านของ “พิบูลย์ ยงค์กมล” ที่ปักหมุดรุกสร้างเครือข่ายมานานมากกว่า 50 ปี

ปัจจุบันจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ระบุว่า เครือสารสาสน์เปิดดำเนินการโรงเรียนทั้งหมด 43 แห่ง มีทั้งที่ใช้ชื่อสารสาสน์และไม่ได้ใช้ชื่อสารสาสน์ กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเปิดการสอนตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาลถึงมัธยมศึกษาและเป็นโรงเรียนรูปแบบสองภาษา (Bilingual Program) จำนวน 23 แห่ง ที่เหลือสอนรูปแบบสามัญทั่วไป (ภาษาไทย)

ขณะเดียวกัน ขยายกิจการวิทยาลัยระดับอาชีวศึกษา 2 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยสารสาสน์บริหารธุรกิจกนกอนุสรณ์และวิทยาลัยเทคโนโลยีสารสาสน์ รวมทั้งเปิดสถาบันอุดมศึกษาอีก 1 แห่ง คือ สถาบันสารสาสน์เซนต์ปีเตอร์

แน่นอนว่า เครือสารสาสน์ก่อร่างสร้างอาณาจักรใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นล้านและรายได้ทั้งเครือแตะหลักพันล้านมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเพจ SME From Zero to Hero เคยโพสต์ข้อมูลระบุตัวเลขกำไรของเครือสารสาสน์ย้อนไปตั้งแต่ปี 2556 มีกำไรกว่า 202 ล้านบาท ปี 2557 มีกำไร 243 ล้านบาท ปี 2558 มีกำไรกว่า 425 ล้านบาท และปี 2559 มีกำไรกว่า 439 ล้านบาท ซึ่งทำให้ชื่อ “พิบูลย์ ยงค์กมล” ได้รับการยอมรับในฐานะผู้สร้างเครือข่ายโรงเรียนเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

หากย้อนเส้นทางของ พิบูลย์ ยงค์กมล เขามาจากครอบครัวนักบุญมาการีตา บางตาล มีพี่น้อง 9 คน เขาต้องไปอยู่บ้านเณรที่ “สามเณราลัยแม่พระนิรมลราชบุรี” หรือเด็กวัดในศาสนาคริสต์ เรียนที่โรงเรียนบางตาลแล้วย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนดรุณานุเคราะห์ บางนกแขวก จังหวัดสมุทรสงคราม จนจบมัธยม 6

พิบูลย์เริ่มต้นชีวิตครูครั้งแรกเมื่ออายุ 18 ปี ที่โรงเรียนดรุณานุเคราะห์ เป็นครูอยู่เกือบปี ตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อด้านก่อสร้าง แต่ไม่มีเงิน สุดท้ายต้องกลับเข้าสู่เส้นทางวิชาชีพครูอีกครั้งที่โรงเรียนเปรมฤดี สอนไปด้วย เรียนไปด้วย โดยสอบเทียบวุฒิ ม.8 วัดสุทัศน์ฯ แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

เขาสอนหนังสือที่เปรมฤดีได้ 9 ปี ตัดสินใจออกมาร่วมหุ้นกับเพื่อนทำโรงเรียนแห่งแรก คือ สารสาสน์พิทยา สาธุประดิษฐ์ ประมาณปี 2507 เป็นทั้งผู้บริหาร ครูใหญ่ ครูน้อย ออกข้อสอบ พิมพ์ข้อสอบ ทำไปทำมาเพื่อนถอนหุ้นหมดและกลายเป็นเจ้าของโรงเรียนเพียงผู้เดียว

ปี 2512 พิบูลย์ชวนพี่สาวมาร่วมหุ้นเช่าที่ของกรมธนารักษ์ สร้างโรงเรียนแห่งที่ 2 คือ สารสาสน์พัฒนา ลุยอยู่ 2 ปี ไม่มีกำไร พี่สาวตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมด ทำให้เขาต้องเปลี่ยนแผนใหม่ เพราะหากทำแค่โรงเรียนสายสามัญ เก็บค่าเล่าเรียนเทอมละ 450 บาท ไม่มีทางได้กำไรคืนทุนแน่ โดยหันไปลงทุนเปิดโรงเรียนพาณิชย์สาธุประดิษฐ์ เนื่องจากโรงเรียนพาณิชย์สามารถเก็บค่าเล่าเรียนได้ถึง 3,000 บาท เริ่มปีแรกมีเด็กสมัครเรียนเพียง 80 คน

ปีต่อๆ มามีเด็กจบ ม. 3 มาสมัครเกือบ 500 คน ประกอบกับแนวคิดเรื่องการเรียนสายอาชีพ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้โรงเรียนพาณิชย์สร้างรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องและจุนเจือโรงเรียนสายสามัญทั้งสองแห่ง

ณ เวลานั้น พิบูลย์มองไปไกลอีกว่า โรงเรียนต้องพัฒนาด้านภาษา เขาจัดการส่งลูกชาย 2 คน ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนสารสาสน์ คือ สุทธิพงศ์และพิสุทธิ์ไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลีย เพื่อขยายฐานความรู้และสร้างเครือข่ายครูต่างชาติกลับมาพัฒนาโรงเรียน

แต่การเตรียมพร้อมที่คิดว่าดีที่สุดแล้วกลับไม่ใช่คำตอบ ทั้งที่สุทธิพงศ์จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบปริญญาตรีและปริญญาโทจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนพิสุทธิ์จบมัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญและจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง ผลการสอบโทเฟล ไอเอลฟ์ ผ่านในระดับคะแนนค่อนข้างดี ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับที่ไม่น่ามีปัญหาในการศึกษาต่อต่างประเทศ

ผลกลับกลายเป็นว่า ทั้งสองคนเรียนไม่รู้เรื่อง กว่าจะเรียนจบจากออสเตรเลียต้องใช้ความพยายามอย่างสูง ชนิดหัวทิ่มหัวตำ โดยเฉพาะการใช้ภาษาอังกฤษ กลายเป็น “ปม” ที่ทั้งสองตั้งใจแน่วแน่ว่าต้องกลับมาปรับปรุงการศึกษาไทย

สุทธิพงศ์กลับมาก่อน หลังเรียนอนุปริญญาโทจบ และเริ่มโครงการทดลองหลักสูตรภาษาอังกฤษที่มีครูต่างชาติเป็นผู้สอน เรียกว่า “เอ็กซ์ตร้า” (Extra) ในชั้นอนุบาลและประถม 1 ที่โรงเรียนสารสาสน์พิทยา ประมาณปี 2535 โดยคัดเลือกเด็กนักเรียนที่มีคะแนนสูงสุดอันดับที่ 1-5 จากแต่ละห้องมารวมอยู่ในห้องเอ็กซ์ตร้า ซึ่งเด็กเสียค่าใช้จ่ายเพียง 2,000 บาท มีอาจารย์ต่างชาติชาวออสเตรเลียมาสอนแบบตัวจริงเสียงจริง สร้างความตื่นเต้นให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองอย่างมาก

หลังทดลองได้ 1 ปีและได้รับความนิยมจากผู้ปกครองอย่างล้นหลาม สารสาสน์พิทยาจึงเปิดหลักสูตรเอ็กซ์ตร้าในทุกระดับชั้น ตั้งแต่อนุบาลถึงชั้น ป. 6 โดยเปิดสอบคัดเลือกก่อนเข้าเรียน

ยุคนั้นผู้ปกครองย่านสาธุประดิษฐ์และพื้นที่ใกล้เคียงต่างอยากให้ลูกเรียนโปรแกรมเอ็กซ์ตร้าและลงชื่อรอคิว “เวสติ้งลิสต์” ยาวเป็นหางว่าว จนต้องสร้างตึกใหม่และขยายห้องเรียนมาใช้พื้นที่โรงเรียนสารสาสน์โปลีเทคนิคในถนนสาธุประดิษฐ์ เปิดโรงเรียนสอนเฉพาะหลักสูตรเอ็กซ์ตร้า ชื่อ “สารสาสน์เอกตรา” เมื่อปี 2537

ที่จริงแล้ว หลังจากวางระบบและหาเครือข่ายครูต่างชาติพร้อมแล้ว สุทธิพงศ์และพิสุทธิ์เสนอแนวคิดกับพิบูลย์เพื่อเปิดโรงเรียนรูปแบบใหม่ และทำโครงการขอจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ แต่กระทรวงศึกษาธิการไม่อนุมัติ เนื่องจากไม่ผ่านเงื่อนไขของโรงเรียนนานาชาติเรื่องสัดส่วนเด็กไทยกับเด็กต่างชาติ 1:1

ปีที่สอง สารสาสน์ยังเสนอขอจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ แต่ผลติดขัดเหมือนเดิม จนปีที่ 3 เสนอเงื่อนไขขอมีสัดส่วนเด็กไทยมากกว่าเด็กต่างชาติ ปรากฏว่า กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้นำเสนอรายละเอียดโครงการ ตอนนั้นทุกคนในครอบครัวสรุปตรงกันว่า จะไม่เสนอตั้งโรงเรียนนานาชาติ แต่จะทำโรงเรียนสองภาษา หรือ Bilingual School

พิสุทธิ์เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารผู้จัดการรายเดือนว่า ในเวลานั้น โรงเรียนนานาชาติไม่น่าเกินสี่ห้าแห่ง เซเว่นเดย์ฯ บางกอกพัฒนา ร่วมฤดี ถ้าสารสาสน์เปิดอินเตอร์น่าจะเป็นลำดับที่ 4 หรือ 5 จึงเลือกมาเปิดสองภาษาเต็มตัวในปี 2538 ถือเป็นโรงเรียนสองภาษาแห่งแรกในประเทศไทย และสร้างกระแสในวงการศึกษาจนมีโรงเรียนเอกชนหลายแห่งยื่นขอหลักสูตรสองภาษา เช่น โรงเรียนอุดมศึกษาย่านลาดพร้าว โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนเลิศหล้า โรงเรียนเซนต์ฟรัง

หลังสารสาสน์เอกตราประสบความสำเร็จ มีนักเรียนจำนวนมากจนล้นสถานที่ พิบูลย์จึงขยายโรงเรียนสองภาษาแห่งที่ 2 คือ สารสาสน์วิเทศศึกษา ที่ประชาอุทิศ และเปิดตามมาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันพิบูลย์ยังเป็นผู้ดูแลภาพรวมการบริหาร การลงทุน และการขยายสาขา โดยมีลูกทั้ง 5 คน คือ พีระพันธ์ สุทธิพงศ์ นันทิดา พิสุทธิ์ และรตนพร เข้ามาช่วยงานและบริหารโรงเรียนคนละ 1-2 สาขา ส่วนที่เหลือคัดเลือกผู้บริหารไปเป็นผู้อำนวยการ และมีคณะกรรมการอำนวยการเป็นผู้ตรวจสอบติดตามการบริหารและการทำงานของทุกๆ โรงเรียนอีกชั้นหนึ่ง

ต้องยอมรับว่าการเปิดโรงเรียนสองภาษาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ “สารสาสน์” เนื่องจากสามารถเพิ่มอัตราค่าเล่าเรียนแบบก้าวกระโดดเมื่อ 20 ปีก่อน จากไม่กี่ร้อยบาทเป็นหลักหมื่นบาท และถือเป็นต้นแบบ Bilingual School ในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมมาก แม้กระทั่งโรงเรียนรัฐต้องเพิ่มโปรแกรมภาษาอังกฤษ (English Programme) หรือ “อีพี” เพื่อสร้างจุดขายและเพิ่มรายได้ค่าเรียน

อย่างไรก็ตาม เมื่อการขยายโอกาสทางการศึกษาของภาครัฐยังไปไม่ทันกับการขยายตัวของเมือง โรงเรียนเอกชนจึงมีโอกาสเปิดตลาดอีกมาก แต่มาตรฐานและการควบคุมการบริหารจัดการ คือ โจทย์ข้อใหญ่ที่ทุกฝ่ายกำลังตั้งคำถามและต้องการคำตอบอย่างเร่งด่วนด้วย

ใส่ความเห็น