วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > พงศ์วรรธน์ ติยะพรไชย ดัน “สเตเดี้ยม วัน” สู้ยักษ์

พงศ์วรรธน์ ติยะพรไชย ดัน “สเตเดี้ยม วัน” สู้ยักษ์

“สเตเดี้ยม วัน เป็นโครงการแนวคิดใหม่ สปอร์ตรีเทล ต่างจากคอมมูนิตี้มอลล์ส่วนใหญ่ที่เน้นเรื่องอาหาร ผมและทีมผู้บริหารมีไลฟ์สไตล์คล้ายกัน เราต้องการพื้นที่ออกกำลังกายมาผนวกกับโครงการ เพื่อสร้าง destination ใหม่และต้องการให้คนกรุงเทพฯ มีชีวิตดีขึ้น มีสถานที่ออกกำลังกายใจกลางเมือง”

พงศ์วรรธน์ ติยะพรไชย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ สปอร์ต โซไซตี้ จำกัด ผู้บริหารโครงการสเตเดี้ยม วัน กล่าวกับ “ผู้จัดการ360” ถึงคอนเซ็ปต์ใหม่ของโครงการสเตเดี้ยม วัน ที่ถือเป็นสปอร์ตคอมมูนิตี้มอลล์แห่งแรกในประเทศไทย และเป็นแห่งแรกในอาเซียนด้วย

โครงการนี้เริ่มต้นจากทีมผู้บริหารคนรุ่นใหม่ 4 คน คือ พงศ์วรรธน์, สิทธิชัย ศรีสงวนสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอส.จี.ดี อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายระบบกล้องวงจรปิดแบบครบวงจรแบรนด์ฟูจิโกะ (FUJIKO), ถนอมเกียรติ สัมมาวุฒิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอฟเวอร์เอ็นจ์ จำกัด ผู้แทนจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าครบวงจร และณัฐภัค รีกิจติศิริกุล

ทั้ง 4 คนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างรุ่นต่างปีกันเกือบ 10 ปี แต่เพราะไลฟ์สไตล์ชอบออกกำลังกายเหมือนกัน และมีโอกาสเจอกันในงาน “วิศวจุฬา มินิมาราธอน” ซึ่งพงศ์วรรธน์เป็นโต้โผจัดครั้งแรกเมื่อปี 2558 ประจวบเหมาะในเวลาต่อมา สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เชิญพงศ์วรรธน์เข้าร่วมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางมาสเตอร์แพลนพื้นที่ในโซน “Sport” บริเวณสนามกรีฑาสถานต่อเนื่องถึงจุฬาฯ ซอย 12 ซึ่งเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าอุปกรณ์กีฬาระดับตำนานยาวนานกว่า 20 ปี

จนกระทั่งสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เปิดทีโออาร์ให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมพัฒนาพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ บริเวณจุฬาฯ ซอย 6 ทั้ง 4 คนจับมือและลงขันเปิดบริษัท เดอะ สปอร์ต โซไซตี้ เข้าร่วมประมูลสิทธิการบริหารพื้นที่ฝ่าด่านคู่แข่งอีก 4 บริษัท และคว้าสัมปทานได้สัญญาระยะแรก 7 ปี

“เราใช้เวลา 1 ปี เตรียมแนวคิดและเตรียมการทุกอย่างจนเปิดตัวโครงการ เรารวมตัวกันตั้งบริษัทเดอะสปอร์ตโซไซตี้ ซึ่งสะท้อนแนวคิดชัดเจน เพื่อเป็นชุมชนสังคมด้านกีฬา เรารู้ความต้องการของคนเล่นกีฬา ต้องการสถานที่ออกกำลังกายใจกลางเมืองที่สามารถแวะเล่นก่อนไปทำงานหรือหลังทำงาน ก่อนกลับบ้าน 1-2 ชั่วโมง มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม ที่อาบน้ำ ที่จอดรถ และร้านอาหาร นั่นคือที่มาและคอนเซ็ปต์สำคัญของเดอะสเตเดี้ยม วัน”

ขณะเดียวกันจุดที่ตั้งของโครงการบริเวณจุฬาฯ ซอย 6 ต่อเนื่องถึงซอย 12 เป็นตลาดจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาระดับตำนาน ซึ่งทำให้ทำเลของสเตเดี้ยม วัน เอื้อกับสปอร์ตคอมมูนิตี้มอลล์มากที่สุด เพราะมีชุมชนคนกีฬาขนาดใหญ่ในพื้นที่จำนวนมาก

“ผมเป็นคนชอบทำหลายอย่าง ผมร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นซันเคียวได เคยช่วยครอบครัวทำโรงงานรถตุ๊กตุ๊ก ทำบริษัทออร์แกไนเซอร์ สมัยเด็กๆ ชอบทำกิจกรรม แต่ Passion ของผมมาจากการออกกำลังกาย เมื่อก่อนผมอ้วน น้ำหนักร้อยกว่ากิโล วิ่งออกกำลังกาย น้ำหนักลด สุขภาพดีขึ้น ผมคิดทันทีจะดีแค่ไหนที่จะทำสถานที่ออกกำลังกายให้ทุกคน นั่นคือไอเดียหลักและการออกกำลังกายยังทำให้เราเจอกับเพื่อน เจอรุ่นพี่ และรวมตัวกัน”

พงศ์วรรธน์เล่าว่า ตามมาสเตอร์แพลนของจุฬาฯ วางคอนเซ็ปต์การพัฒนาพื้นที่บริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติ รูปแบบ Bike and Run แต่บริษัทมอง Bike and Run เป็นแค่ส่วนหนึ่งของ Sport เพราะไม่แน่ใจว่า Bike and Run จะอยู่ต่อไปแค่ไหน แต่เทรนด์ที่อยู่ต่อไปแน่นอน คือ Sport ทำให้แผนของจุฬาฯ ต้องขยายกว้างมากขึ้น ซึ่งโครงการเดอะสเตเดี้ยม วัน จะเข้ามาตอบโจทย์ทั้งหมด โดยแบ่งพื้นที่ 3 โซนหลัก ประกอบด้วยโซนร้านค้าปลีก (Sport Retail) มีร้านค้าปลีก จำนวน 129 ร้าน พื้นที่ค้าปลีก 5,000 ตารางเมตร โซนอาคารกีฬาในร่ม (Active Lifestyle พื้นที่ 5,600 ตร.ม. และลานอีเวนต์ (Event in Action) พื้นที่อีก 2,000 ตร.ม.

ขณะที่สัดส่วนไอเทมของโครงการจะแยกเป็น 5 ส่วน คือ Sport ได้แก่ แฟลกชิปสโตร์ “วอริกซ์ช็อป” ช้างศึกสโตร์ ซึ่งถือว่า “ฟุตบอล” เป็นความขลังของย่านสนามศุภชลาศัยและเป็นมนต์เสน่ห์ของกีฬาในยุคปัจจุบัน

ส่วนที่ 2 กลุ่ม Multi Brand ที่ถือเป็นสเปเชียลลิสต์ในแต่ละวงการ ทั้งวงการฟุตบอล วงการวิ่ง อุปกรณ์กีฬา ซึ่งส่วนหนึ่งจะดึงบรรดาร้านค้าอุปกรณ์กีฬาในพื้นที่เข้ามาอยู่ในโครงการด้วย

ส่วนที่ 3 กลุ่มเมดิคอล คลินิก สปา ร้านนวด ซึ่งจะเชื่อมโยงกับส่วนที่ 4 กลุ่มสตูดิโอ ฟิตเนส และส่วนสุดท้าย กลุ่มร้านอาหาร เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบัน โดยส่วนที่ 1 และ 2 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 49%

นอกจากนี้ ดึง “เอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส (SCG Yamato Express)” เข้ามาเปิดให้บริการขนส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วน ทั้งรูปแบบ B2B (ธุรกิจถึงธุรกิจ) B2C (ธุรกิจถึงผู้บริโภค) และ C2C (ผู้บริโภคถึงผู้บริโภค) เพื่อสร้างฮับการซื้อขายสินค้าอุปกรณ์กีฬา

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของสเตเดี้ยม วัน แน่นอนว่า ได้แก่ กลุ่มผู้ชื่นชอบการออกกำลังกาย เน้นกลุ่มนักวิ่งและนักปั่นจักรยาน ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มนักวิ่งและนักปั่นจักรยานเข้ามาใช้พื้นที่ในสนามเทพหัสดินเป็นประจำแทบทุกวัน กลุ่มชุมชนภายในพื้นที่ เช่น ย่านรองเมือง กลุ่มนิสิตจุฬาฯ และกลุ่มประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เดินทางเข้ามาทำงานหรือติดต่อธุรกิจย่านใจกลางเมืองและต้องการหาสถานที่ออกกำลังกายก่อนกลับบ้าน

ทั้งนี้ พงศ์วรรธน์ตั้งเป้าจะมีผู้เข้าใช้บริการในสเตเดี้ยม วัน หลังเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมนี้ ไม่ต่ำกว่า 5,000-8,000 คน โดยประเมินจากจำนวนเมมเบอร์ของสตูดิโอฟิตเนสที่จะเข้าเปิดโครงการบวกกับทราฟฟิกต่อวันที่เดินทางมาซื้ออุปกรณ์กีฬาในตลาดหลังสนามศุภฯ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ มีศักยภาพที่จะเพิ่มขึ้นแตะ 10,000 คนต่อวันด้วย เนื่องจากโครงการลงทุนเปิดลานอีเวนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นลานสปอร์ตอีเวนต์แห่งแรกใจกลางกรุงเทพฯ และจะเป็นลานอีเวนต์ที่มีผู้คนเข้ามาทำกิจกรรมอย่างหนาแน่น ไม่ต่างจากพาร์คพารากอนและลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์

อย่างไรก็ตาม การแจ้งเกิด “สปอร์ตคอมมูนิตี้มอลล์” อาจไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการต่อสู้แข่งขันกับบรรดาห้างยักษ์ใหญ่ย่านราชประสงค์และสยามสแควร์ ซึ่งพงศ์วรรธน์ตอบทันทีว่า มีปัจจัยข้อสำคัญที่ทำให้เขาและทีมผู้บริหารมั่นใจ คือการคิดนอกกรอบของคนรุ่นใหม่ ซึ่งต่างจากนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บวกกับพาร์ตเนอร์ที่มีความชำนาญด้านธุรกิจค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และอสังหาริมทรัพย์ ทั้งด้านการบริหารและการตลาด รวมทั้งค่าเช่าต่อตารางเมตรเริ่มต้นเพียง 350 บาทต่อตารางเมตร ต่ำกว่าพื้นที่เช่าในศูนย์การค้า

“ผมตั้งเป้าภายใน 1 ปี สเตเดี้ยม วัน เกิดและติดตลาด ท้าทายครับ แต่ผมมองว่า ทำได้ในสังคมปัจจุบัน เรามองตัวเราเอง คนออกกำลังกายต้องการสถานที่ออกกำลังกาย ไปสวนลุมฯ เกือบทุกวัน ต้องเบื่อบ้าง ถ้ามีสวนใกล้เคียง มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ เมื่อไปแล้วรู้สึกประทับใจกับสังคมที่เราสร้างจะมาเรื่อยๆ เราไม่ได้ต้องการ success ในรูปแบบตัวเงิน แต่ success ในรูปแบบการเป็น destination ต้องเข้าเมืองติดต่อธุรกิจ เสียเวลาอีก 1-2 ชม. เพื่อออกกำลังกายแบบสะดวกสบาย ยอมไหม ถ้าอยากชอปปิ้งไปสยาม ไปพารากอน แต่ถ้าอยากออกกำลังต้องมาที่นี่”

ถามว่า หากสเตเดี้ยม วัน บรรลุเป้าหมาย ทั้ง 4 คนจะเดินหน้าโครงการที่ 2 หรือไม่

นักธุรกิจหนุ่มบอกว่า เป็นโจทย์ของผู้บริหารที่อยากให้มีโครงการดีๆ เกิดขึ้นในทุกจังหวัด แต่ต้องดูผลลัพธ์ภายใน 1 ปี การพัฒนาพื้นที่เพื่อสปอร์ตโซไซตี้เพราะไม่มีใครทำและต้องทำ

ส่วนเรื่องเงินลงทุน ไม่ต้องห่วง พงศ์วรรธน์ยืนยัน มีไม่อั้น เท่าไหร่ก็ต้องทำและทำให้เกิดด้วย

ใส่ความเห็น