วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > On Globalization > ผู้หญิงขับรถได้ในประเทศซาอุดีอาระเบีย

ผู้หญิงขับรถได้ในประเทศซาอุดีอาระเบีย

Column: Women in Wonderland

อย่างที่เราทราบกันดีว่าซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่จำกัดสิทธิของผู้หญิงค่อนข้างมาก แม้รัฐบาลจะให้สัญญาว่า จะพยายามปรับเปลี่ยนกฎต่างๆ และให้สิทธิกับผู้หญิงมากขึ้น แต่ผู้หญิงในประเทศนี้ก็ยังคงถูกจำกัดสิทธิมากกว่าผู้หญิงในประเทศอื่นอยู่ดี

ผู้หญิงในประเทศซาอุฯ จะต้องขออนุญาตผู้ชายที่เป็นผู้ดูแลหรือผู้ปกครอง เช่น พ่อ สามี พี่ชาย หรือลูกชาย เมื่อต้องการออกไปนอกบ้าน เดินทางไปยังเมืองต่างๆ หรือไปต่างประเทศ และแต่งงาน เมื่อต้องการออกไปทำงานหรือใช้บริการตามโรงพยาบาล จะต้องมีจดหมายยินยอมและอนุญาตจากผู้ชายที่เป็นผู้ดูแลหรือผู้ปกครอง ไม่อย่างนั้นแล้วจะไม่สามารถใช้บริการของโรงพยาบาลหรือได้รับเข้าทำงานในที่ต่างๆ ได้ ยิ่งไปกว่านั้น เอกสารทางราชการไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดี ขอพาสปอร์ต จดทะเบียนสมรส หรือหย่า เช่าคอนโดหรือห้องพัก และเซ็นสัญญาต่างๆ เป็นต้น ก็ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ชาย

ธันวาคม ปี 2015 เป็นครั้งแรกที่การเลือกตั้งในระดับเทศบาลอนุญาตให้ผู้หญิงลงสมัครรับเลือกตั้งได้ และเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ลงคะแนนเลือกตั้ง ครั้งนี้มีผู้หญิงที่ได้รับการเลือกตั้งถึง 38 คน จาก 3,159 คน แม้ว่าผู้หญิงจะได้รับเลือกให้เข้าไปทำงาน แต่ก็มีคำสั่งว่า ให้แยกผู้หญิงออกมาทำงานอีกห้องหนึ่ง จะไม่มีการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิง และให้ประชุมผ่าน Video เท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้หญิงและเด็กหญิงก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายเหมือนกับผู้ชายและเด็กชาย ทำให้ในเดือนกรกฎาคม ปี 2016 โรงเรียนของรัฐแทบทุกโรงเรียนไม่มีการจัดให้นักเรียนหญิงเรียนวิชาพลศึกษา และรัฐบาลไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าร่วมเล่นกีฬาใดๆ แม้ว่ากีฬานั้นจะเป็นกีฬาระดับชาติหรือนานาชาติอย่างโอลิมปิก แต่ในปี 2016 ที่มีการจัดกีฬาโอลิมปิกที่เมือง Rio De Janeiro ประเทศบราซิล ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ซาอุฯ ส่งนักกีฬาผู้หญิง 4 คนเข้าร่วมแข่งประเภทวิ่ง ครั้งแรกที่ซาอุฯ ส่งนักกีฬาหญิงเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ London ในปี 2012 ประเภทวิ่ง 2 คน

นอกจากข้อห้ามข้างต้นแล้ว ผู้หญิงในประเทศซาอุฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถเอง ถ้าครอบครัวไหนพอมีฐานะจะต้องจ้างคนขับรถให้กับผู้หญิงในครอบครัวเวลาที่พวกเธอจะออกไปไหน หรือผู้ชายที่เป็นผู้ดูแลหรือผู้ปกครองจะต้องเป็นคนขับให้ โรงเรียนและมัสยิดในซาอุฯ มีความเชื่อและสอนว่า สมองของผู้หญิงเล็กกว่าสมองผู้ชาย ผู้หญิงจึงไม่สามารถทำงานหรือประมวลผลที่มีความซับซ้อนหรือมีข้อมูลเยอะๆ ได้

นอกจากนี้ ผู้หญิงที่ขับรถเองและกำลังตั้งครรภ์อาจทำให้เด็กในครรภ์มีอาการผิดปกติ หรือเกิดการแท้งได้ ที่สำคัญ ผู้หญิงซาอุฯ ไม่ควรพูดคุยติดต่อกับผู้ชายแปลกหน้าในที่สาธารณะ การให้ผู้หญิงขับรถอาจทำให้ต้องติดต่อพูดคุยกับผู้ชายแปลกหน้า เช่น ตำรวจ ซึ่งจะทำให้ถูกมองไปในทางไม่ดี จึงไม่อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถ

ปี 2013 ผู้หญิงซาอุฯ ได้รับอนุญาตให้ขี่จักรยานและขี่มอเตอร์ไซค์ได้ แต่ต้องแต่งตัวให้เรียบร้อยตามกฎของผู้หญิงมุสลิม และขี่ได้เฉพาะในสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น และต้องมีผู้ชายที่เป็นผู้ดูแลหรือผู้ปกครองอยู่ด้วย

26 กันยายน ปี 2017 รัฐบาลซาอุฯ ประกาศว่า ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2018 เป็นต้นไป ทางการจะอนุญาตให้ผู้หญิงขับรถเองได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากชายที่เป็นผู้ปกครอง และสามารถขับรถคนเดียวได้

ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมเปิดให้ผู้หญิงเข้าไปรับการทดสอบขับรถและตรวจสอบค่าสายตา หากผ่านทั้ง 2 การทดสอบนี้ก็จะได้รับใบขับขี่ ตอนนี้มหาวิทยาลัยสตรีมีการเปิดสอนขับรถ หลังจากผ่านหลักสูตรเรียนขับรถแล้วก็สามารถสอบขอใบขับขี่ได้

24 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้หญิงจำนวนมากออกไปเฉลิมฉลองการได้รับอนุญาตให้ขับรถเองได้บนถนน รัฐบาลเปิดเผยว่า มีผู้หญิงร้อยกว่าคนที่ได้รับใบขับขี่แล้ว และสามารถขับรถเองได้หลังจากวันนี้ไปน่าจะมีผู้หญิงอีกหลายหมื่นคนได้รับใบขับขี่เช่นเดียวกัน

การที่ซาอุฯ อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถได้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งในการให้สิทธิกับผู้หญิงมากขึ้นเพื่อให้ก้าวทันสิทธิสตรีเหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่เรื่องอนุญาตให้ผู้หญิงขับรถเองก็ทำให้ผู้คนในประเทศเกิดความลังเลและไม่แน่ใจเช่นเดียวกัน รวมถึงผู้หญิงซาอุฯ บางกลุ่มที่ยังไม่แน่ใจว่าควรจะไปทางไหนดี และค่อนข้างกังวลมากกับการอนุญาตให้ผู้หญิงขับรถเองได้

สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงซาอุฯ บางกลุ่มเกิดความวิตกกังวลก็เพราะถูกสอนว่า ผู้หญิงควรต้องเชื่อฟัง ไม่มีการเถียงหรือต่อปากต่อคำกับสามีและพ่อ ผู้คนส่วนใหญ่เติบโตมากับความคิดและความเชื่อแบบนี้ การที่รัฐบาลอนุญาตให้ผู้หญิงขับรถไปไหนเองได้นั้นขัดกับหลักคำสอน อาจทำให้คนจำนวนมากรับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงต้องให้เวลาปรับเปลี่ยนความคิดและความเชื่อที่มีมาเนิ่นนาน

ครอบครัวคนชนชั้นกลางและชนชั้นสูงหลายครอบครัวที่ส่งลูกสาวไปเรียนต่างประเทศ หลายคนที่ไปเรียนต่างประเทศอาจจะอยู่ทำงานต่อ 2–3 ปี แน่นอนว่าพวกเธอมองว่าการขับรถเองของผู้หญิงเป็นเรื่องปกติ หากแต่เมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ซาอุฯ กลับรู้สึกกลัวที่จะขับรถไปไหนเอง

อย่างที่กรุงริยาดและเมืองเจดดาห์ซึ่งเป็น 2 เมืองใหญ่ของซาอุฯ ผู้หญิงจำนวนมากที่ไปเรียนต่อในต่างประเทศและมีใบขับขี่จากประเทศนั้น อย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร แต่กลับไม่ขอใบอนุญาตขับขี่ที่ประเทศซาอุฯ ก็เพราะเธอมีความเชื่อว่า ผู้หญิงไม่ควรพูดคุยกับผู้ชายที่ไม่ใช่คนในครอบครัว และเมื่อต้องขับรถไปไหนเองก็มีโอกาสที่จะต้องพูดคุยกับคนแปลกหน้า

การที่ผู้หญิงซาอุฯ มีความเชื่อแบบนี้ก็เพราะเด็กหญิงในซาอุฯ ถูกสอนในโรงเรียนว่า ผู้หญิงเหมือนลูกอม พวกเธอจำเป็นจะต้องถูกห่อหุ้มเพื่อปกป้องความหวาน เหมือนกับการที่พ่อและผู้ชายในครอบครัวของเธอจำเป็นต้องปกป้องความหวานและความสาวของลูกสาวหรือพี่สาว ด้วยการไม่ให้พวกเธอได้คุยกับผู้ชายแปลกหน้า จนกว่าพวกเธอจะแต่งงานและสามีจะเป็นคนแกะห่อลูกอมลิ้มรสความหวาน

ดังนั้นการให้ผู้หญิงขับรถเองและมีโอกาสคุยกับผู้ชายแปลกหน้าอย่างเช่นตำรวจนั้นก็เหมือนเป็นการเอาเปลือกลูกอมออก หมายความว่า ผู้ชายอาจจะมองผู้หญิงเหล่านี้มีคุณค่าน้อยลงตามความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมา

ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการพูดคุยกับผู้ชายแปลกหน้าเท่านั้นที่ผู้หญิงเป็นกังวล แต่ยังกังวลว่าผู้ชายในซาอุฯ ไม่เคยได้รับโอกาสคุยกับผู้หญิงสองต่อสอง หากขับรถไปไหนมาไหนเองได้ เท่ากับผู้ชายแปลกหน้าเหล่านี้สามารถหาเรื่องมาคุยกับพวกเธอ แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่า พวกเขาจะแค่พูดคุยด้วยเท่านั้น ไม่มีการข่มขู่ ลวนลาม ล่วงละเมิดทางเพศ หรือแย่กว่านั้น พวกเธอยังเชื่อว่าผู้ชายซาอุฯ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีจิตใจสูงส่งมาก ดังนั้นจะเชื่อได้อย่างไรว่าพวกเธอจะไม่มีอันตราย

ปัญหาสำคัญสำหรับซาอุฯ ที่แตกต่างจากประเทศมุสลิมอื่นๆ คือ ประเทศซาอุฯ มีกฎระเบียบและข้อปฏิบัติที่เคร่งครัด ในขณะที่ประเทศมุสลิมอื่นๆ ไม่มีข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดมากกับผู้หญิงเหมือนประเทศซาอุฯ ดังนั้นการยอมรับผู้หญิงในบทบาทและสิทธิต่างๆ ที่ผู้หญิงทำได้เหมือนผู้ชายจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่มาก แต่สำหรับประเทศซาอุฯ การอนุญาตให้ผู้หญิงขับรถเองได้น่าจะเป็นการท้าทายความเชื่อและความคิดของผู้คนในประเทศนี้

เรื่องอนุญาตให้ผู้หญิงขับรถเองได้ในประเทศซาอุฯ อาจจะมีนักสิทธิสตรีและผู้หญิงบางกลุ่มที่เห็นด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศซาอุฯ เพราะความเชื่อและความคิดที่ถ่ายทอดกันมานานค่อนข้างขัดแย้งกับเรื่องนี้ ดังนั้นเรื่องนี้น่าจะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ให้ผู้คนค่อยๆ เปลี่ยนความเชื่อ และยอมรับสิทธิของผู้หญิงในด้านต่างๆ มากขึ้น

 

Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/a-driver-1309385

ใส่ความเห็น