วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ผลจาก COVID-19 ย้ำภาพเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย

ผลจาก COVID-19 ย้ำภาพเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบจำกัดอยู่เฉพาะต่อประเด็นว่าด้วยกิจกรรมทางด้านสาธารณสุข และสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างหนักหน่วงเท่านั้น หากแต่ในอีกด้านหนึ่งยังสะท้อนภาพความไร้ประสิทธิภาพในการกำหนดมาตรการในเชิงสังคมที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อยุทธศาสตร์และนโยบายที่กำหนดโดยรัฐตามมาอีกด้วย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อีกประการหนึ่งก็คือ การแพร่ระบาดของโรคนี้ส่งผลต่อระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก และทำให้รัฐบาลหลายประเทศ ประกาศปิดสถานศึกษาทั้งประเทศ มีผู้เรียนได้รับผลกระทบกว่า 1.5 พันล้านคน หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของผู้เรียนทั้งหมด สำหรับประเทศไทยสถานการณ์การระบาดเกิดขึ้นในช่วงสถานศึกษาขั้นพื้นฐานปิดภาคเรียน โดยในช่วงต้นเดือนเมษายน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เลื่อนวันเปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ไทยจึงมีโอกาสทบทวนบทเรียนจากต่างประเทศเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่สอดรับกับมาตรการป้องกันการระบาด พร้อมกับเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เรียนได้รับผลกระทบจากรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนไป

หากแต่ความเป็นไปของมาตรการด้านการศึกษาของไทยเพื่อรองรับกับการแพร่ระบาดของโรคกลับกลายเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งในมิติเชิงโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร และในมิติของเศรษฐสภาพที่หนักหน่วงของสังคมไทยให้เด่นชัดขึ้นไปอีก

เพราะในขณะที่สถานการณ์ระบาดยังคงอยู่ ทำให้ระบบการศึกษาต้องปรับให้การเรียนรู้ของนักเรียนไม่ขาดช่วง การเรียนการสอนออนไลน์ที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นทางเลือกหนึ่ง กลับดำเนินไปท่ามกลางความไม่พร้อมทั้งในมิติของบุคลากรทางการศึกษาในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ รวมถึงความต้องการสิ่งสนับสนุนจากโรงเรียนและรัฐบาลเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ในส่วนของผู้เรียนก็พบว่ามีนักเรียนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการเรียนการสอนออนไลน์ได้ จนนำไปสู่ข้อเรียกร้องความช่วยเหลือจากโรงเรียน และรัฐบาล ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ อย่างเร่งด่วน รวมถึงการจัดหาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและอุปกรณ์สื่อสารสำหรับนักเรียนทุกคน

ข้อมูลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) บ่งชี้ว่าประเทศไทยมีข้อจำกัดในการเรียนทางไกลค่อนข้างสูง โดยสัดส่วนของครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำสูงในการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัล โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีฐานะยากจน และครัวเรือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีนักเรียนกว่า 8 หมื่นคนอยู่ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ดังนั้น รัฐบาลต้องสำรวจความพร้อมของครัวเรือนเด็ก และมีมาตรการที่หลากหลายเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าถึงการเรียนทางไกลของเด็กที่มีสภาพความขาดแคลนแตกต่างกัน

ความกังวลใจดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในบริบทของประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ธนาคารโลกยังแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ปิดโรงเรียนว่าจะส่งผลให้นักเรียนส่วนใหญ่เสียโอกาสในการเรียนรู้ โดยเฉพาะนักเรียนในครอบครัวที่มีฐานะยากจน เนื่องจากไม่มีรายได้มากพอที่จะนำมาใช้สนับสนุนการเรียนของบุตรหลานเพิ่มเติม

ผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการปิดโรงเรียนนี้อยู่ที่ กรณีดังกล่าวอาจผลักให้นักเรียนกลุ่มที่มีฐานะยากจนหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อชีวิตเด็กในระยะยาว ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นคือการวางแนวทางเปิดโรงเรียนเพื่อให้เด็กได้ไปโรงเรียนอีกครั้ง โดยให้สอดคล้องกับความรุนแรงของสถานการณ์ ควบคู่กับการใช้มาตรการทางด้านสาธารณสุขและมาตรการทางสังคมอย่างเคร่งครัดในโรงเรียน ซึ่งรัฐควรดูแลเด็กยากจนเป็นพิเศษ

กลไกวิธีการสอนทางไกลที่หลายประเทศได้ใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็นการสอนออนไลน์ผ่าน Massive Open Online Courseware (MOOC) หรือแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ครูสอนในห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) หรือใช้การถ่ายทอดการสอนผ่านสัญญาณโทรทัศน์ เพื่อให้เด็กเรียนต่อที่บ้านได้ขณะปิดโรงเรียน แต่การใช้วิธีดังกล่าวทำให้เด็กบางกลุ่มโดยเฉพาะเด็กในครอบครัวที่มีฐานะยากจนเสียเปรียบ เพราะไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลที่บ้าน

นอกจากนี้ ในการเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เด็กจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ การเรียนที่บ้านจึงเป็นการผลักภาระให้ผู้ปกครอง และทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้นหากผู้ปกครองไม่มีความพร้อมในการช่วยเหลือบุตรหลานของตนในการเรียนอีกด้วย

มาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กที่ไม่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจต้องเสียโอกาสทางการศึกษา รัฐบาลของหลายประเทศได้จัดหาอุปกรณ์การเรียนให้แก่เด็กกลุ่มดังกล่าว ทั้งในมิติของการให้โรงเรียนสำรวจความพร้อมนักเรียน และจัดหาคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนยืมเรียน รวมทั้งออกคู่มือให้ผู้ปกครองสามารถช่วยเหลือเด็กในการใช้อุปกรณ์

บทเรียนจากต่างประเทศที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลไทยควรมีมาตรการเปิด-ปิดโรงเรียนให้สอดรับกับความรุนแรงของการระบาดของโรค มีความยืดหยุ่นในแต่ละพื้นที่ และใช้มาตรการด้านอื่นควบคู่ในกรณีเปิดโรงเรียน นอกจากนี้ ควรเร่งสำรวจความพร้อมในการเข้าถึงการเรียนทางไกลของเด็ก เพื่อเตรียมอุปกรณ์หรือสื่อการเรียนให้เหมาะสมกับบริบทของครอบครัวเด็กที่แตกต่างกัน

การสำรวจความพร้อมในการเรียนทางไกลของเด็ก เพื่อประเมินความเสี่ยง กระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยงานต้นสังกัดโรงเรียน ควรประสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลพื้นฐานครัวเรือนนักเรียนมาบูรณาการร่วมกันเพื่อจัดกลุ่มตามระดับความเสี่ยงในการเข้าถึงการเรียนทางไกล

โดยแบ่งเด็กเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีความพร้อม ซึ่งหมายถึงเด็กที่มีอุปกรณ์ดิจิทัลพร้อมอินเทอร์เน็ตที่บ้าน กลุ่มที่มีความเสี่ยง หรือเด็กที่ไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตที่บ้าน แต่เข้าถึงไฟฟ้าได้ และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นเด็กที่ไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตที่บ้าน และไม่มีไฟฟ้าใช้ ขณะเดียวกันควรใช้ข้อมูลเพื่อประเมินความพร้อมของผู้ปกครองด้วย เช่น เป็นเด็กอยู่กับพ่อแม่หรือไม่ เพื่อวางแผนให้การสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ครอบครัวที่ผู้ปกครองไม่พร้อมสนับสนุนบุตรหลานในกรณีที่ต้องเรียนที่บ้าน

ประเด็นที่น่าสนใจจากข้อมูลพื้นฐานครัวเรือนไทยและจากสถิติของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่าสังคมไทยไม่ได้มีความพร้อมสำหรับการเรียนทางไกลทั้งหมด โดยเด็กกลุ่มมีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นเด็กที่ไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัล ไม่มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน และไฟฟ้าเข้าไม่ถึงไม่มีไฟฟ้าใช้ มีอยู่มากถึง 8 หมื่นคน ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำไม่เฉพาะในระบบการศึกษาไทยเท่านั้น หากยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสทางสังคมอีกด้วย

การปิดสถานศึกษาและเลื่อนการเปิดภาคเรียน ภายใต้มาตรการควบคุมโรค COVID-19 พร้อมกับการเรียนทางไกล ในด้านหนึ่งเป็นการผลักภาระการเรียนการสอนที่โรงเรียนไปให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่บ้าน ซึ่งหากเป็นครอบครัวที่ไม่มีความพร้อม การเรียนทางไกลอาจเป็นการส่งเสริมความเหลื่อมล้ำในสังคมหนักหน่วงขึ้นไปอีก

กรณีที่เกิดขึ้นเช่นว่านี้รัฐควรจัดเตรียมอุปกรณ์ให้แก่นักเรียนที่มีความเสี่ยงที่จะเสียโอกาสจากการเรียนทางไกล ในกรณีโรงเรียนต้องปิดเพราะพื้นที่มีการระบาดรุนแรง หรือโรงเรียนที่ไม่สามารถจัดชั้นเรียนในห้องเรียนแก่เด็กทุกคนได้ กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานต้นสังกัดควรจัดเตรียมอุปกรณ์ รวมทั้งสื่อการเรียนการสอนแก่เด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเสี่ยงสูง โดยจัดเตรียมอุปกรณ์เสริมการเรียนรู้ พร้อมเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้ยืมเรียน สำหรับเด็กที่ขาดแคลนอุปกรณ์ที่บ้าน แต่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ เพื่อให้เด็กสามารถเรียนออนไลน์ได้ และจัดเตรียมสื่อการเรียนรู้ในลักษณะของ Learning Packages สำหรับเด็กที่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ด้วย

ประเด็นสำคัญของการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 และหลังจากนี้ ก็คือ ควรทำให้เด็กสามารถกลับมาเรียนในโรงเรียนได้เร็วที่สุด เพื่อรับประกันว่าเด็กมีโอกาสทางการศึกษา เพื่อลดความเสี่ยงด้านคุณภาพและโอกาสทางการศึกษา ซึ่งหากครอบครัวใดมีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่า ก็มีโอกาสที่จะเข้าไม่ถึงการศึกษาแบบออนไลน์ ขณะเดียวกันยังมีประเด็นว่าด้วยโภชนาการ และความรุนแรงในครอบครัว ที่อาจเกิดจากความเครียดของสมาชิกในครอบครัวซ้ำเติมเพิ่มขึ้น จึงควรผลักดันให้เปิดโรงเรียนเร็วที่สุด

การแพร่ระบาดของ COVID-19 อาจผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตในสังคมไปสู่ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal แต่ความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษาของสังคมไทยเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเป็นทั้ง Old Normal หรือ New Normal ของสังคมไทย หากแต่ควรจะเป็น Challenge for Change ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการควบคุมและกำจัดโรคร้าย COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนในสังคมตื่นตระหนกกันมาหลายเดือนที่ผ่านมานี้

ใส่ความเห็น