วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > On Globalization > ผลกระทบจาก COVID-19 ที่จะเปลี่ยนชีวิตผู้หญิงจากทั่วทุกมุมโลก

ผลกระทบจาก COVID-19 ที่จะเปลี่ยนชีวิตผู้หญิงจากทั่วทุกมุมโลก

Column: Women in wonderland

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มมีผู้ติดเชื้อคนแรกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2562 ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ต่อมาในวันที่ 23 มกราคม 2563 รัฐบาลจีนประกาศปิดนครอู่ฮั่น ให้ทุกคนอยู่แต่ในบ้านงดเดินทางเข้าออกจากเมืองทั้งหมด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นการล็อกดาวน์บางพื้นที่ที่หลายประเทศนำไปใช้ในเวลาต่อมา

ตั้งแต่วันแรกที่พบบุคคลที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 จนถึงวันนี้นับเป็นเวลากว่าปีแล้ว แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น แม้ว่าวัคซีนจากหลายบริษัทจะได้รับการรับรอง และนำมาฉีดให้กับประชาชนในหลายประเทศแล้วก็ตาม แต่จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ก็ยังคงเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อกว่าร้อยล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่าสองล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564) ซึ่ง 3 ประเทศแรกที่จำนวนผู้ติดเชื้อสูงที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 115 จาก 221 ประเทศ ซึ่งอันดับของประเทศไทยนั้นมีการปรับขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2563

ในช่วงเวลาหนึ่ง ปีที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้แล้ว และยังควบคุมได้อย่างดี เช่น ไต้หวันและนิวซีแลนด์ เป็นต้น หรือบางประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดได้ แล้วก็เริ่มกลับมาระบาดใหม่อย่างญี่ปุ่น ไทย สาธารณรัฐเกาหลี และสิงคโปร์ เป็นต้น หรือบางประเทศที่เคยควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไว้ได้ แล้วก็เริ่มที่จะมีการระบาดใหม่อีกครั้งและรุนแรงกว่าเดิม จนต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าประเทศส่วนใหญ่ยังเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 และรัฐบาลของทุกประเทศพยายามสุดความสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น เราจะเห็นรัฐบาลพยายามที่จะให้เงินช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพราะผลกระทบในครั้งนี้รุนแรงมากเมื่อเทียบกับวิกฤตอื่นของโลกในช่วงที่ผ่านมา และเวลานี้ก็ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) และ United Nations Labour ทำการสำรวจและพบว่า ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีคนสูญเสียงานที่ทำไปแล้วมากกว่า 114 ล้านคนทั่วโลก ทั้งที่ทำงานเต็มเวลา (full-time jobs) หรืองานพิเศษ เป็นพนักงานชั่วคราว (part-time jobs) และคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ผู้หญิง คนทำงานที่อายุยังน้อย และคนทำงานที่มีทักษะต่ำ (low-skilled workers) ซึ่งจะส่งผลให้ GDP รายได้ทั่วโลกในปี 2020 ลดลงถึง 4.4% หรือประมาณ 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปี 2019

แน่นอนว่าผลกระทบจากการว่างงานนั้นมีผลกระทบมากกว่าจำนวนคนที่ตกงานครั้งที่เกิดวิกฤตทางการเงินของโลกถึง 4 เท่า และองค์การแรงงานระหว่างประเทศยังวิเคราะห์ข้อมูลจากสถานการณ์ปัจจุบันและพบว่าปี 2021ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและใต้ ยุโรป และเอเชียกลาง มีแนวโน้มจำนวนคนตกงานเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันคนที่ยังมีงานทำอยู่ก็จะโดนลดชั่วโมงการทำงานด้วยเช่นกัน เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น

องค์การแรงงานระหว่างประเทศยังกล่าวในประเด็นนี้ว่า ถึงแม้ปี 2020-2021 จะมีการจ้างงานน้อยลงและมีการลดชั่วโมงทำงานต่อกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากสุดก็คือ ผู้หญิง เพราะไม่ว่าจะดูในภูมิภาคใดจำนวนผู้หญิงที่ตกงานและถูกลดชั่วโมงทำงานมีมากกว่าผู้ชาย และแน่นอนว่าเมื่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถควบคุมได้ในเร็ววัน โอกาสที่ผู้หญิงจะได้กลับไปทำงานเหมือนเดิมก็ยิ่งน้อยลง

สถานการณ์ในตอนนี้องค์กรแรงงานระหว่างประเทศให้คำแนะนำว่า ควรให้คนที่ได้รับผลกระทบได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น หากมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเมื่อไหร่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบก็จะได้หางานทำได้เพิ่มมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับการจ้างงานอีกด้วย

ในขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2020 ที่สหราชอาณาจักรมีการฉีดวัคซีน COVID-19 เป็นประเทศแรกของโลก โดยเริ่มฉีดให้กับคนกลุ่มเสี่ยงคือ มีอายุ 80 ปีขึ้นไป และบุคลากรทางการแพทย์ และต่อมาในวันที่ 14 ธันวาคม 2020 สหรัฐอเมริกาก็เริ่มมีการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับผู้สูงอายุและบุคลากรทางแพทย์เช่นกัน และในขณะนี้มีหลายประเทศที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุและบุคลากรทางการแพทย์เช่น เช่น สิงคโปร์ อาร์เจนตินา เบลเยียม ฮังการี แคนาดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล กาตาร์ เม็กซิโก รัสเซีย ชิลี สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน โปแลนด์ ฟินแลนด์ และกรีซ เป็นต้น

ประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ค่อนข้างสูง รัฐบาลพยายามเร่งหาวัคซีนเพื่อยับยั้งการระบาด โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ที่มีการระบาดอีกครั้ง และหลายประเทศก็ประกาศล็อกดาวน์อีก ทำให้สหภาพยุโรปพยายามต่อรองให้ได้วัคซีนมากที่สุดเพื่อกระจายให้กับประเทศสมาชิก

การมีวัคซีน COVID-19 ทำให้องค์การแรงงานระหว่างประเทศมองว่า เป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะวัคซีนจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลง และทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจในทุกภาคส่วนกลับมาเปิดบริการได้ แน่นอนว่ารัฐบาลทุกประเทศจะต้องผลักดันนโยบายส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีคนจำนวนมากได้รับผลกระทบ ต้องตกงาน แต่หลังจากเริ่มมีการฉีดวัคซีนก็ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา มีคนตกงานอย่างน้อย 10 ล้านคน และส่วนใหญ่คือผู้หญิง แต่เมื่อสหรัฐฯ เริ่มฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมเป็นต้นมา ทำให้สิ้นเดือนธันวาคมสถิติการจ้างงานกลับมาสูงอีกครั้ง แม้การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการจ้างงานผู้ชายมากกว่า แต่ก็เป็นแนวโน้มที่ดีที่เศรษฐกิจของหลายประเทศจะเริ่มดีขึ้น

อย่างที่กล่าวตอนต้นแม้ทุกคนจะได้รับผลกระทบจากแต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้หญิง เพราะส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในส่วนการบริการ ท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบมากที่สุด ยังไม่รวมไปถึงว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ทำงานที่มีรายได้ค่อนข้างน้อย และไม่ได้ทำงานประจำ เมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 จึงตกงาน หรือผู้หญิงที่มีรายได้ปานกลางทำงานประจำในบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ก็จะถูกพักงานหรือถูกให้ออกจากงานเป็นกลุ่มแรกๆ

เมื่อมีการล็อกดาวน์และผู้หญิงบางส่วนตกงานสิ่งที่ตามมาคือพวกเธอต้องรับผิดชอบดูแลลูกๆ และครอบครัว ดูแลทุกคนในครอบครัวที่ต้องอยู่บ้าน รวมทั้งโรงเรียนหยุดการเรียนการสอนชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาด ทำให้โอกาสที่ผู้หญิงจะได้กลับไปทำงานอีกเป็นไปได้ยาก

งานวิจัยจาก University of Cologne พบว่า การที่โรงเรียนปิดหรือให้เรียนออนไลน์นั้น ต้องมีผู้ปกครองที่เสียสละลดเวลาทำงานและอยู่บ้านเพื่อดูแลซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นแม่ ทำให้ผู้หญิงที่ยังมีงานทำต้องลดเวลาทำงาน หรือหากว่างงานก็จะไม่มีเวลาพอที่จะออกไปหางานใหม่ ดังนั้นการปิดโรงเรียนจึงกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID -19

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนชีวิตผู้หญิงไปอีกนาน ไม่ใช่แค่ 1-2 ปี แต่กำลังจะเปลี่ยนความเท่าเทียมกันทางเพศในสังคมให้กลับไปเหมือนอดีต และทำให้ผู้หญิงกลับมาหางานทำได้ยากขึ้น โอกาสที่เงินเดือนจะเท่ากับผู้ชายแทบเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นการใช้ชีวิตของผู้หญิงหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงไม่เหมือนเดิม

แม้ว่าก่อนการเกิดแพร่ระบาดของ COVID-19 ปัญหาความเท่าเทียมกันทางเพศในสังคมจะยังมีอยู่ แต่ก็ถือว่าดีกว่าเมื่อก่อนมาก ผู้หญิงได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น ได้รับสิทธิต่างๆ แทบจะเท่าเทียมกับผู้ชาย แต่ COVID-19 ส่งผลให้ปัญหาความเท่าเทียมกันทางเพศกลับไปเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมเหมือนอดีต และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อให้กลับมาเหมือนก่อนการระบาดของ COVID-19 และแน่นอนว่าคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือ ผู้หญิง

Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/mother-and-son-1434950

ใส่ความเห็น