วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > ปักหมุด “ล้ง” เชื่อม “ทรงวาด” ทีซีซีกรุ๊ป ปลุก The River Journey

ปักหมุด “ล้ง” เชื่อม “ทรงวาด” ทีซีซีกรุ๊ป ปลุก The River Journey

การประกาศเช่าที่ดินริมน้ำประวัติศาสตร์ “ล้ง 1919” สร้าง The Integrated Wellness Destination ภายใต้แนวคิด The River Journey ถือเป็นจังหวะก้าวล่าสุดตามมาสเตอร์แพลนที่เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี วางไว้ตั้งแต่ปักหมุดโครงการเอเชียทีคเมื่อปี 2555 การสร้างโครงข่าย River Front Connection เชื่อมโยงบิ๊กโปรเจกต์ตลอดสายน้ำเจ้าพระยายาวตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงพระนครศรีอยุธยา

ขณะเดียวกัน หากย้อนดูมาสเตอร์แพลนของทีซีซีแลนด์วางไว้นานกว่า 20 ปี ตั้งเป้าสร้างเมืองที่มีทั้งโครงการที่อยู่อาศัย ศูนย์กลางธุรกิจ ศูนย์ประชุม โรงแรม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายใน 3 จังหวัด โดยในกรุงเทพฯ มี 3 แผน 3 ทำเล ได้แก่ โครงการ “นวมินทร์ ซิตี้ มาสเตอร์แพลน” ย่านเกษตร-นวมินทร์ ที่ดินรวม 300-400 ไร่ คอนเซ็ปต์ “The Integrated Township”

โครงการ “นอร์ธปาร์ค มาสเตอร์แพลน” พื้นที่หลังสนามกอล์ฟราชพฤกษ์ นอร์ธปาร์ค ติดศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เนื้อที่ 200-300 ไร่ คอนเซ็ปต์ “The Ultimate Town” และโครงการ “เอเชียทีคมาสเตอร์แพลน” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Unique Riverfront Destination”

ส่วนอีก 2 จังหวัด กำหนดไว้อีก 2 แผน ได้แก่ โครงการชะอำ รีสอร์ท ทาวน์ ใน อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี เนื้อที่มากกว่า 5,000 ไร่ และโครงการบางไทร ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่มากกว่า 2,000 ไร่

อย่างไรก็ตาม มาสเตอร์แพลนทั้งหมดถูกปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ประเทศและผลการประมูลคว้าที่ดินผืนต่างๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีทั้งการวางโครงข่ายย่านธุรกิจผ่านบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ยึดทำเลทองทุกสี่แยกตลอดแนวเส้นพระราม 4 ไล่มาตั้งแต่เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ เดอะปาร์ค วัน แบงค็อก สามย่านมิตรทาวน์ และเพิ่งเปิดตัวโครงการสีลมเอจ ดันคอนเซ็ปต์ซิลิคอนแวลลีย์เมืองไทย เจาะคน Gen ใหม่ในยุคดิจิทัล ธุรกิจ Start-Up และแพลตฟอร์มออนไลน์

อีกด้านหนึ่ง บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2562 เป็น Holding Company ภายใต้เครือทีซีซีกรุ๊ป เร่งพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) บริหารงานโดยผู้บริหารโรงแรมที่มีชื่อเสียงภายใต้แบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับสากล เช่น แมริออท เดอะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล โอกุระ บันยันทรี ฮิลตัน และเชอราตัน

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งครอบคลุมโครงการท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตีชอปปิ้งมอลล์ คอมมูนิตี มาร์เก็ต และอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าส่ง ได้แก่ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เกทเวย์ แอท บางซื่อ พันธุ์ทิพย์ พลาซา ประตูน้ำ ตะวันนา บางกะปิ และมีกลุ่มอาคารสำนักงาน ได้แก่ อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ และอาคารแอทธินี ทาวเวอร์

ดังนั้น การเติมเต็มโครงการริมน้ำในเครือจึงถือเป็นแผนขั้นต่อไป หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิดและไทยมีการเปิดประเทศ เพื่อพลิกฟื้นการท่องเที่ยวขนานใหญ่ โดยมีจังหวะเวลาอย่างน้อยอีก 2-3 ปี เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดการแพร่ระบาดใหญ่อีกครั้ง

ทั้งนี้ The River Journey เป็นแนวคิดสำคัญตั้งแต่การเปิดตัว เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ บนที่ดินมากกว่า 70 ไร่ มีหน้ากว้างติดริมแม่น้ำเจ้าพระยายาวกว่า 300 เมตร และพื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 80,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายระดับนานาชาติ และเป็นหมุดต่อยอดบิ๊กโปรเจกต์อีกหลายโครงการ ทั้งในกลุ่มโรงแรม คอนโดมิเนียม ค้าปลีก และธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งทีซีซีกรุ๊ปต้องการใช้แบรนด์ “เอเชียทีค” เป็นตัวหลักและตามด้วยชื่อที่อิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

เบื้องต้นมีการวางแผนเอเชียทีค 2 บริเวณถนนเจริญนคร ฝั่งตรงกันข้ามของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ 29 ไร่ พื้นที่ใช้สอยประมาณ 150,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวและคนฝั่งธนบุรี ซึ่งมีกำลังซื้อสูงมาก

ที่สำคัญ การเชื่อมต่อโครงการเอเชียทีคฝั่งเจริญกรุงและเจริญนครถือเป็นจุดเริ่มโมเดลการเชื่อมโครงข่ายธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเจ้าสัวเจริญมีที่ดินขนาดใหญ่อยู่ในมืออีกหลายแปลง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่อเนื่องไปถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากเอเชียทีคต่อเนื่องกับแปลงที่ 2 บริเวณอาคารอี๊สต์เอเชียติ๊ก ติดโรงแรมโอเรียนเต็ล เป็นอาคารเก่าสไตล์โคโลเนียล

แปลงที่ 3 ที่ดินเปล่าทำเล “ทรงวาด” ย่านการค้าของชุมชนชาวจีนในไทย ขนาดประมาณ 1 ไร่เศษ แปลงที่ 4 ที่ดินริมน้ำเจ้าพระยาเกือบ 20 ไร่ อยู่บนถนนพระราม 3 ถัดจากเอเชียทีคไม่ไกลนัก

แปลงที่ 5 บริเวณบางโคล่ ฝั่งธนบุรี แปลงที่ 6 ที่ดินริมน้ำในเขตบางกระเจ้า และถนนสรรพาวุธ บางนา ส่วนแปลงที่ 7 ที่ดินริมน้ำย่านบางไทร ใกล้ศูนย์ศิลปาชีพ ประมาณ 3,000 ไร่ ซึ่งตามมาสเตอร์แพลนของกลุ่มทีซีซีต้องการเชื่อมโยงโครงการต่างๆ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา และวาง “เอเชียทีค” เป็นลิงก์เกจเชื่อมโยงกลุ่มเป้าหมายตามจุดต่าง ๆ

ก่อนหน้านี้ นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งเน้นตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร เคยให้ข้อมูลว่า ทีซีซีแลนด์ได้คุยกับโอเปอเรเตอร์เจ้าหนึ่ง เพื่อหยิบที่ดินริมน้ำมาพัฒนาโครงการ ภายใต้คอนเซ็ปต์ River Front Connection แต่สุดท้ายต้องชะลอไว้

จนกระทั่งรัฐบาลประกาศเร่งเดินหน้าพลิกฟื้นเศรษฐกิจและผลักดันธุรกิจท่องเที่ยวขนานใหญ่หลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดโควิดหลายระลอก จึงเปิดโอกาสการปลุกแผนเชื่อมโยงโครงข่ายธุรกิจริมน้ำกลับมาอีกครั้ง

สิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 บริษัท เอดับบลิวซี บาย ริเวอร์ฟรอนท์ จำกัด บริษัทย่อยที่ AWC ถือหุ้นทางตรงและทางอ้อม 100% ได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับ บริษัท หวั่งหลี จำกัด เพื่อเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ที่ตั้ง “ล้ง 1919” ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามกับตลาดน้อย เนื้อที่เช่ารวม 8 ไร่กว่า ระยะเวลา 64 ปีเศษ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 3,436 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเช่ารวม 1,269.2 ล้านบาท และเงินลงทุนพัฒนาโครงการอีก 2,166.8 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการล้งขึ้นชั้น The Integrated Wellness Destination ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้านสุขภาพจำนวนมากจากทั่วโลก

นางวัลลภากล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นเวลเนส โมเดล รูปแบบใหม่ ประกอบด้วย โรงแรม จำนวน 86 ห้อง เรสซิเดนต์ จำนวน 56 ยูนิต บริการสุขภาพแบบองค์รวม มาตรฐานของแบรนด์ Ritz Carlton ที่มีความลักชัวรี รวมถึงบริการการท่องเที่ยวทางน้ำในรูปแบบ Ecotourism ทั้งกลางวัน กลางคืน จะทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนสำหรับคนรักสุขภาพ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2569 หลังบริษัท หวั่งหลี จำกัด ส่งมอบการครอบครองพื้นที่เช่าภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และใช้เวลาพัฒนาประมาณ 5 ปี

“บริษัทมีโมเดลเชื่อมโยงกับโครงการอื่นๆ ในเครือที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมต่อไปยังโครงการเอเชียทีค เพื่อสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวอย่างครบวงจร สอดคล้องกับแนวคิด The River Journey โดยจะมีโครงการเอเชียทีค 2 ฝั่งตรงข้าม ต่อด้วยตำแหน่งเบอร์ 2 คือ ล้ง เบอร์ 3 คือ โครงการตรงข้ามย่านทรงวาดที่จะเชื่อมกับล้ง และเบอร์ 4 คือ โครงการภายใต้ AWC บริเวณอาคารอี๊สต์เอเชียติ๊ก ก่อนต่อยอดไปยังโครงการในต่างจังหวัด เช่น พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ และเชียงราย”

โดยเฉพาะโครงการทรงวาดจะเชื่อมโยงกับล้ง 1919 เพื่อสร้างจุดขายและเสริมความแข็งแกร่งให้ความเป็น The Integrated Wellness Destination มากยิ่งขึ้น ชูแนวคิด “หยิน-หยาง” เปิดประสบการณ์การเสริมสร้างสุขภาพองค์รวมรูปแบบใหม่

ฟากฝั่ง “ล้ง 1919” จะเป็นพลังหยิน เน้นการสร้างความสงบ การดึงจิตวิญญาณลึกๆ สร้างความรื่นรมย์ ธาตุของน้ำและดิน ส่วนโปรเจกต์ทรงวาด คือ หยาง เน้นแนวคิดการสร้างพลัง ความสนุก ตอบโจทย์ของลูกค้าที่ต้องการศูนย์สุขภาพที่เข้าถึงจิตวิญญาณอย่างแท้จริง การสร้างความสมดุลข้ามสายน้ำ เชื่อมต่อ 2 ฝั่งแม่น้ำ เนื่องจาก “หยิน” ทางแพทย์แผนจีนเปรียบเป็นธาตุเย็นในร่างกาย เมื่อธาตุเย็นสูงขึ้นมากไปจะทำให้ร่างกายขาดสมดุล

ในทางกลับกัน “หยาง” เป็นเสมือนธาตุร้อน ถ้ามากเกินไปจะป่วยไข้ จึงจำเป็นต้องรักษาสมดุล “หยิน-หยาง” ของร่างกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

เมื่อผนวกคอนเซ็ปต์และการผนึกกำลังของสองตระกูลใหญ่จึงส่งอุณหภูมิความร้อนแรงให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ริมน้ำ โดยเฉพาะการเปิดตัวโครงการของคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) บริเวณที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสามอันเก่าแก่กว่า 130 ปี ย่านเจริญกรุง ซึ่งประกาศจะสร้าง New Destination ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ภายในปี 2568 ก่อนหน้า “ล้ง 1919” โฉมใหม่เพียง 1 ปี

เช็กสมรภูมิ The River Journey คงไม่สามารถรักษาความสมดุลเหมือน “หยิน-หยาง” แน่

ใส่ความเห็น