วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ดาบสองคมของเศรษฐกิจไทย

ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ดาบสองคมของเศรษฐกิจไทย

ข่าวการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของภาคแรงงานไทย กำลังเป็นที่จับตามองของหลายฝ่าย ทั้งจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เฝ้ารอให้วาระนี้ถูกนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า และได้รับการอนุมัติเห็นชอบ

ขณะที่บรรดานักลงทุนอาจกำลังวิตกว่าหากผลสรุปของที่ประชุม ครม. ไม่คัดค้าน และมีผลให้ค่าแรงอัตราใหม่ต้องบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2561 นั่นหมายถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่การแข่งขันดำเนินไปด้วยความยากลำบาก

ประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ สามารถมองได้ในหลากหลายมิติ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะ คสช. มองว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้น่าจะส่งผลดีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในห้วงยามที่กำลังต้องการตัวกระตุ้น

โดยก่อนหน้านี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แสดงความคิดเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า มีความเหมาะสม เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ปรับขึ้นมานานถึง 3 ปี และหากแรงงานได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น น่าจะส่งผลต่ออำนาจการซื้อของประชาชนมากขึ้น ผู้ประกอบการร้านค้าจะได้รับประโยชน์จากการขายสินค้าได้มากขึ้น เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

ทั้งนี้ ผลสรุปของคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ที่กำลังเสนอคณะรัฐมนตรีนั้น เป็นการเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยอัตรา 5-22 บาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 อัตรา ตามแต่ละพื้นที่

โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 308 บาทต่อวัน ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 310 บาทต่อวัน มี 22 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ตรัง ลำปาง ลำพูน ตาก ราชบุรี ระนอง ชุมพร สตูล หนองบัวลำภู พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย เชียงราย อุทัยธานี ศรีสะเกษ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช และมหาสารคาม

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 315 บาทต่อวัน ได้แก่ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยโสธร พะเยา บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี และอ่างทอง

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 318 บาทต่อวัน ได้แก่ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 320 บาทต่อวัน อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และพังงา

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 330 บาทต่อวัน ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง

อย่างไรก็ตาม ด้วยอัตราดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อธิบายว่า “การขึ้นค่าแรงครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ความจริงแล้วเขาเสนอมาเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่รัฐบาลมองทุกด้าน ค่าแรงที่ขึ้นครั้งนี้ต่ำสุด 5 บาท สูงสุด 22 บาท และเชื่อว่าผลกระทบอาจจะมีบ้าง แต่มีมาตรการรองรับหลายด้าน”

แม้ว่าอัตราค่าจ้างที่เตรียมการจะปรับขึ้นนั้นจะเป็นการปรับที่สูงในรอบ 3-4 ปี กระนั้นก็ดูจะไม่เป็นที่พอใจนักของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) โดย ธนพร วิจันทร์ รองประธาน คสรท. ที่เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 เพื่อขอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ

ซึ่งหากมองในแง่มุมของภาครัฐต่อกรณีดังกล่าวคงไม่ผิดนัก เพราะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นเสมือนการหยอดน้ำมันลงในฟันเฟืองที่เป็นฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ค่าแรงอัตราใหม่กำลังรอคอยบทสรุป สิ่งที่ภาครัฐต้องพึงระวังคือการฉวยโอกาสเตรียมปรับขึ้นราคาสินค้าของบรรดาผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องหาทางรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แม้ว่า ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จะแสดงความคิดเห็นว่า หากมีการสรุปว่า วันที่ 1 เมษายนที่จะถึงนี้ จะต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่น่าจะส่งผลต่อต้นทุนโดยรวมของผู้ประกอบการมากนัก ดังนั้นจึงไม่ใช่ต้นเหตุของการปรับขึ้นราคาสินค้า

สัปดาห์หน้าหากวาระเรื่องอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำถูกนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและได้รับการอนุมัติ คงเป็นผลดีต่อผู้ใช้แรงงานไม่น้อย กระนั้นสิ่งที่หลายฝ่ายต้องตระหนักไม่ใช่เพียงการสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจระดับครัวเรือนเท่านั้น เมื่อการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเสมือนดาบสองคม ที่ย่อมส่งผลกระทบต่อนักลงทุนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ที่กำลังพิจารณาว่าประเทศไทยเหมาะที่จะเป็นฐานการผลิตหรือไม่

เพราะหากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้นักลงทุนหรือผู้ประกอบการจำเป็นต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นด้วย เมื่อค่าจ้างแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในต้นทุน ซึ่งสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ค่าจ้างแรงงานคือ 15-20 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิต และอุตสาหกรรมรถยนต์ ค่าจ้างแรงงานคือ 10-15 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิต

แน่นอนว่าหากจะพิจารณาในแง่มุมของนักลงทุน การเพิ่มต้นทุนการผลิตดูจะเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดอยู่ไม่น้อย ความเสี่ยงที่น่ากังวลว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากมีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ คือการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุน

ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงว่าจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทยคือ กลุ่มธุรกิจเครื่องหนัง สิ่งทอ ผลิตแผงวงจรไฟฟ้า เซรามิก และอาหารกระป๋อง

เพราะเมื่อครั้งที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศในปี พ.ศ. 2555 ครั้งนั้นมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นที่มีค่าแรงถูกกว่าไทย หลังจากนั้นอีก 5 ปี ช่วงต้นปี 2560 มีการปรับขึ้นค่าแรงอีกรอบ 305-310 บาท

ความกังวลที่เกิดขึ้นต่อการปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้จำเพาะกับผู้ประกอบการหรือนักลงทุนเท่านั้น ภาครัฐเองควรพิจารณาความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นให้รอบด้าน เพราะแม้ว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นการทำเพื่อยกระดับความสามารถในการจับจ่ายของประชาชนระดับฐานรากให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

หากแต่นโยบายดังกล่าวเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่นักลงทุนจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่มีอัตราค่าแรงถูกมากขึ้น นั่นหมายความว่าโอกาสที่แรงงานไทยมีความเสี่ยงที่จะตกงานจำนวนมาก แน่นอนว่าระลอกคลื่นดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบไม่มากก็น้อย ต่อนักลงทุนหน้าใหม่ที่กำลังพิจารณาว่าจะใช้ไทยเป็นฐานที่ตั้งการผลิต และอาจจะชะลอแผนการลงทุนในไทย

ซึ่งหากรัฐบาลประยุทธ์พิจารณาอนุมัติค่าแรงในอัตราที่นำเสนอไปนั้น จะทำให้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ ไทยจะเป็นประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงสูงที่สุดในอาเซียน

ทั้งที่ในห้วงยามนี้รัฐไทยกำลังเดินหน้าอย่างเต็มกำลังในการเชิญชวนเหล่านักลงทุนทั้งจากไทยและต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่รัฐบาลไทยกำลังปลุกปั้นอย่าง EEC หมากตัวสำคัญที่อาจจะเป็นตัวชี้วัดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย ว่าจะดำเนินไปในทิศทางใดบนเวทีโลก

การปรับค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ผู้ประกอบการอาจจะพิจารณาปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้น หรือให้เหมาะสมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น นั่นทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพที่สูงขึ้น อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้ว่ากระทรวงที่เกี่ยวข้องจะออกมาให้ความเห็นว่าจะมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าก็ตาม

ผลกระทบของระลอกคลื่นนี้คงไม่ใช่เพียงการโยนหินสักก้อนลงในแม่น้ำ และเกิดเพียงระลอกคลื่นขนาดเล็กที่หายไปได้ง่ายๆ เท่านั้น หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายกับความพยายามเคลื่อนแผ่นดินในแนวดิ่งที่ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดยักษ์ ที่กวาดทุกสิ่งทุกอย่างให้พังทลายลง

การประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า คงเป็นช่วงเวลาที่แทบจะเรียกได้ว่า “หยุดหายใจ” ทั้งฟากฝั่งของผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการ ที่เฝ้ารอผลสรุปการประชุม รวมไปถึงมาตรการอื่นๆ ที่จะตามมาเพื่อแก้ปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงไม่น่าแปลกใจที่ “การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ในครั้งนี้จะกลายเป็นดาบสองคม ที่ให้ทั้งคุณและโทษในเวลาเดียวกัน

ใส่ความเห็น