วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > นับถอยหลังภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นำร่องกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

นับถอยหลังภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นำร่องกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

ภูเก็ต เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มักจะติดอันดับจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว โดยเมื่อปี 2020 จากผลการจัดอันดับโดย CEOWORLD นิตยสารด้านธุรกิจของสหรัฐอเมริกา ภูเก็ตติดอันดับ 9 ในการเป็นจุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดของโลกสำหรับนักเดินทางเพื่อธุรกิจ

ขณะที่การจัดอันดับของ U.S. News & World Report รายงานการจัดอันดับ 30 สถานที่ท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2563-2564 พบว่า จังหวัดภูเก็ตติดอยู่ในอันดับ 10 ของรายการนี้ ด้านมาสเตอร์การ์ด เคยเผยผลสำรวจเมืองสุดยอดจุดหมายปลายทางของโลกเพื่อการท่องเที่ยวและพักผ่อน พบว่า ภูเก็ตติด 1 ใน 10 เมืองที่นักท่องเที่ยวเลือกที่จะเดินทางมา โดยเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่นิยมเดินทางมาเที่ยวพักผ่อนที่ภูเก็ตมากที่สุด และระหว่างท่องเที่ยวที่ภูเก็ตนักท่องเที่ยวจะใช้เงินคนละประมาณ 4,700 บาท หรือ 239 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน

ด้วยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ตที่เป็นเกาะ และยังมีเกาะน้อยใหญ่รายล้อม ทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม อาหาร วัฒนธรรม ประเพณี หรือแม้แต่อาคารบ้านเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสาน สไตล์ชิโนโปรตุกีส จึงทำให้ภูเก็ตกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี

กระทั่งในที่สุด ภูเก็ตเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก และเมื่อแทบทุกประเทศมีคำสั่งปิดประเทศเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด การเดินทางระหว่างประเทศถูกระงับ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 80 เปอร์เซ็นต์หายไปกับเชื้อร้ายดังกล่าว

แม้จะมีบางช่วงบางตอนที่สถานการณ์โควิดในประเทศไทยเริ่มดีขึ้น และคนไทยหันมาเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ทว่ารายได้ที่ผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ตได้รับไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ธุรกิจจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายไหวตัดสินใจหยุดดำเนินกิจการ และประกาศขายในที่สุด ในขณะที่แรงงานในพื้นที่ต้องอยู่ในภาวะว่างงานกันระนาว

เป็นระยะเวลาหนึ่งปีกว่าที่โลกต้องเผชิญกับหายนะที่มาพร้อมกับเชื้อไวรัส เครื่องจักรทางเศรษฐกิจของไทยติดลบเกือบทุกตัว และวัคซีนกลายเป็นกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อกสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ได้ จนทำให้ภาครัฐผุดแผนเปิดประเทศด้วยการกดสวิตช์เครื่องจักรการท่องเที่ยวให้ทำงานอีกครั้ง ด้วยโมเดลสำคัญอย่าง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

ผลกระทบของไวรัสโควิดทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรุนแรงกว่าเมื่อครั้งเกิดสึนามิปี 2547 นี่จึงเป็นเหตุให้ภูเก็ตถูกเลือกเป็นจังหวัดนำร่องของประเทศที่จะเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาได้ ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564

หากพิจารณาจากห้วงเวลาที่เหลือที่ค่อนข้างกระชั้นชิด หลายฝ่ายจึงเริ่มเป็นกังวลว่า ระยะเวลาที่เหลือนี้ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะเตรียมการทันหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนในพื้นที่

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุม ครม. ว่า ครม. มีมติรับทราบนโยบายการเปิดประเทศที่จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ให้ภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง ซึ่งต้องดำเนินการภายใต้ความสมดุลทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจควบคู่กันไป โดยขั้นตอนต่อไปจะส่งให้ ศบค. พิจารณา แล้วจากนั้นจะกลับมานำเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อปรับแก้ไข ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันภูเก็ตมีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อยประมาณ 56 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งภูเก็ตมีจำนวนประชากรประมาณ 4 แสนกว่าคน ซึ่งเป็นคนภูเก็ตประมาณ 3 แสน ประชากรแฝงราว 1 แสนคน และแรงงานต่างด้าว 5.6 หมื่นคน

ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางของจังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox) ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยมีกำหนดแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว ดังนี้

1. เปิดรับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสตามเกณฑ์ของวัคซีนแต่ละชนิด มีระยะเวลาการฉีดมากกว่า 14 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี และเป็นผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศต้นทางที่มีความเสี่ยงต่ำ – ปานกลาง ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข

2. กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่เดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองที่ฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้าได้ ในขณะที่เด็กอายุระหว่าง 6-18 ปี จะต้องได้รับการตรวจเชื้อเมื่อเดินทางมาถึงสนามบินภูเก็ต

3. มีเอกสารรับรองการฉีดจากประเทศต้นทาง โดยวัคซีนจะต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของประเทศไทย หรือได้รับการรับรองโดย WHO

4. มีการติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือน

5. พำนักในโรงแรมที่พักที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ ในเวลา 14 คืน และภายหลังการพำนักตามระยะเวลาที่กำหนด สามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในประเทศไทยได้

6. รายงานตัวและรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข และสามารถทำกิจกรรมท่องเที่ยวได้ภายใต้มาตรการป้องกันตามมาตรฐาน DMHTTA

นอกจากนี้ จะมีการดำเนินการเตรียมพื้นที่รองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวภายใต้แผนการพัฒนาเมืองภูเก็ต อาทิ 1. การปรับปรุงภูมิทัศน์ 2. โครงการสร้างคุณค่าและประสบการณ์โดยการท่องเที่ยววิถีชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์ 3. การพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรทางการท่องเที่ยว 4. การดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณพื้นที่ท่องเที่ยว

แม้ว่าความก้าวหน้าของโครงการที่เริ่มมีกรอบเงื่อนไขและข้อกำหนด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ ทว่า นั่นเป็นข้อกำหนดสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย อีกสิ่งหนึ่งที่ยังต้องขบคิดคือ ความมั่นใจของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยในยามนี้ต่างหาก เมื่อปัจจุบันจังหวัดที่จะเป็นโมเดลต้นแบบในโครงการนี้เพิ่งฉีดวัคซีนเข็มแรกไปประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นี่เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องรับรู้ว่า ภายใต้กรอบเงื่อนไขเวลาของการเปิดโครงการ จะทำอย่างไรให้ประชาชนในภูเก็ตได้รับวัคซีนเข็มแรกครบทุกคน

ภูเก็ตโมเดล นับเป็นการเดิมพันที่สูงมาก เพราะความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นนั้นหมายถึงการกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในอีกหลายจังหวัดโดยเฉพาะอีก 9 พื้นที่ที่อยู่ในแผนเปิดรับนักท่องเที่ยว เช่น พังงา กระบี่ เกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ พัทยา กรุงเทพฯ ชะอำ หัวหิน และบุรีรัมย์

ขณะที่การท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ตั้งเป้ารายได้ไว้กว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2564 แบ่งเป็น เดือนกรกฎาคม เป็นการทำตลาดในระยะใกล้ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน และญี่ปุ่น ตั้งเป้านักท่องเที่ยว 6,000 คน ประมาณการรายได้ 284.40 ล้านบาท เดือนสิงหาคม 15,000 คน ประมาณการรายได้ 743.40 ล้านบาท และ กันยายน 23,000 คน ประมาณการรายได้ 1,151.40 ล้านบาท

แผนบุกตลาดระยะไกล ได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี รัสเซีย อิสราเอล กลุ่มประเทศ GCC หรือกลุ่มประเทศอาหรับ 6 ประเทศ ฝรั่งเศส นอร์ดิก และอเมริกา เดือนกรกฎาคมตั้งเป้านักท่องเที่ยว 23,700 คน ประมาณการรายได้ 2,597 ล้านบาท เดือนสิงหาคมอีก 32,300 คน รายได้ที่คาด 3,539 ล้านบาท และเดือนกันยายน 29,000 คน รายได้ที่คาด 3,177 ล้านบาท นักท่องเที่ยวทั้งสองกลุ่มตลาดที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามา 129,000 คน สร้างรายได้ประมาณ 11,492.2 ล้านบาท

สำหรับการเข้าพักของนักท่องเที่ยวในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะต้องเป็นโรงแรมที่มีใบรับรองสัญลักษณ์ SHA+ เท่านั้น ปัจจุบันมีโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ 149 แห่ง (ข้อมูลล่าสุดวันที่ 9 มิถุนายน 2564) ได้แก่ ตรีสรา ภูเก็ต วิลลาแอนด์เรสซิเดนซ์, ศรีพันวา ภูเก็ต ลักซ์ชัวรี พูล วิลล่า โฮเทล และ ทราย ลากูน่า ภูเก็ต เป็นต้น

SHA และ SHA+ เป็นโครงการเพื่อควบคุมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยให้มีมาตรฐานความปลอดภัยให้สอดคล้องกับวิถีปกติใหม่ และแสดงให้นักท่องเที่ยวเห็นว่าโรงแรมและบริการอื่นๆ ได้ดำเนินการมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 สัญลักษณ์นี้เป็นเครื่องหมายว่าธุรกิจนั้นๆ ได้ผ่านการรับรอง ไม่เพียงแต่ตรง
ตามเกณฑ์การรับรอง SHA เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพนักงานโรงแรมอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างครบถ้วน
ภาครัฐและภาคเอกชนพยายามอย่างเต็มกำลังในการประชาสัมพันธ์โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ทว่า ทั้งเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด จนกว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หลังจากนั้นคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า ความเป็นเมืองสุดยอดปลายทางของนักท่องเที่ยวจะยังคงมนต์ขลังเอาไว้ได้หรือไม่ หลังเปิดโครงการแล้วจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากน้อยเพียงใด ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

ใส่ความเห็น