วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > ธุรกิจ-อุตสาหกรรมปรับตัว ส่งตลาดแรงงานสะเทือน

ธุรกิจ-อุตสาหกรรมปรับตัว ส่งตลาดแรงงานสะเทือน

การประกาศปิดสาขาของธนาคารพร้อมกับแผนที่จะลดจำนวนพนักงานลงตามแผนพัฒนาในกรอบระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ของธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการประกาศผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ที่มีมติให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2561 ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ด้วยอัตรา 308-330 บาทต่อวัน ในอีกด้านหนึ่งยังเกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามปรับตัวของภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม ที่กำลังถูกท่วมทับด้วยกระแสธารของเทคโนโลยีในยุคสมัยแห่งดิจิทัล

ถ้อยแถลงของอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ในงาน SCB VISION 2020 ที่ระบุถึงการ “ลดสาขา” และ “ลดพนักงาน” ลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี 2018-2020 ของธนาคารไทยพาณิชย์ จากจำนวนสาขาที่มีอยู่ 1,153 สาขาให้เหลือ 400 สาขา และปรับลดจำนวนพนักงานจาก 27,000 คน ให้เหลือ 15,000 คน ในด้านหนึ่งอาจไม่ใช่สิ่งเหนือความคาดหมาย หากแต่กรณีที่ว่านี้กลายเป็นประเด็นร้อน เพราะนี่ถือเป็นการประกาศทิศทางของการเปลี่ยนผ่าน หรือ SCB Transformation อย่างเป็นทางการสู่สาธารณะให้ได้ร่วมรับรู้

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในระบบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงินก็คือเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มในการให้บริการได้ขยับคืบรุกไล่เข้ามามีบทบาทต่อวิถีความคิดและรูปแบบการให้บริการแบบเดิมด้วยอัตราเร่ง และทำให้ปรากฏการณ์แห่งการปิดและลดจำนวนสาขาของธนาคารแต่ละแห่ง กลายเป็นภาพที่ชินตาตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมกับความกังวลว่าด้วยการพ้นจากสภาพการจ้างงานของพนักงานธนาคารจำนวนมาก ที่พร้อมจะถูกปรับออกจากการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้

ภายใต้สถานการณ์ของการแข่งขันภายในหมู่ผู้ประกอบการธุรกิจธนาคาร และการเกิดขึ้นของ flatform ที่นำเสนอบริการทางการเงินและการลงทุน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในมิติของไลฟ์สไตล์และประพฤติกรรมของผู้บริโภคที่พร้อมจะเปิดรับความสะดวกจากพัฒนาการของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ห้วงเวลาที่ดำเนินอยู่นี้จึงเป็นประหนึ่งช่วงเวลาแห่งการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่มีผลต่อทั้งภูมิทัศน์และรูปการณ์จิตสำนึกในการให้บริการทางการเงินและการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์อย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน

การปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงที่ผ่านมา นอกจากจะต้องเน้นหนักไปที่การยกระดับเทคโนโลยีของธนาคารให้สามารถรองรับกับธุรกรรมยุคดิจิทัล ที่ก้าวหน้าไปไกลกว่าการเป็นเพียงธุรกรรมทางการเงิน หากแต่ยังมีผลต่อเนื่องไปสู่การดำเนินธุรกิจที่กำลังเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสด รวมถึงการพัฒนาระบบการชำระเงินผ่าน QR Code กลางของธนาคารแห่งประเทศไทย

เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มการให้บริการทางการเงินในยุคดิจิทัล ไม่เพียงแต่จะส่งผลให้โครงสร้างต้นทุนการให้บริการ (cost to serve) ของแต่ละธนาคารปรับเปลี่ยนไปเท่านั้น หากกรณีดังกล่าวยังส่งให้โครงสร้างรายได้ของแต่ละธนาคารเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากเดิมที่ธนาคารเคยมีรายได้จากค่าธรรมเนียมอย่างเป็นกอบเป็นกำในสัดส่วนร้อยละ 30-40 ของรายได้ที่แต่ละธนาคารมี แต่ในอนาคตรายได้จากส่วนนี้มีแนวโน้มที่จะตีบแคบลง และทำให้วิถีของการให้บริการแบบเดิมที่ต้องให้บุคลากรจำนวนมาก (human process) กลายเป็นต้นทุนที่เกินความจำเป็นไปโดยปริยาย

การปลดลดจำนวนพนักงาน หรือแม้กระทั่งการปรับเปลี่ยนโยกย้ายพนักงานเดิมไปสู่ตำแหน่งงานเพื่อทำหน้าที่และความรับผิดชอบใหม่ๆ ที่ธนาคารเห็นว่าเหมาะสม เพื่อให้องค์กรโดยรวมมีขนาดเล็กลงเพื่อความคล่องตัวและประหยัดต้นทุนทางธุรกิจ และเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่ออยู่รอด จึงดูเป็นประหนึ่งมาตรฐานแห่งหนทางในการอธิบายที่พนักงานจำนวนไม่น้อยอาจจะต้องถูกผลักให้อยู่ในภาวะจำยอมในการยอมรับสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้

ปรากฏการณ์ที่สั่นคลอนตลาดแรงงาน ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกรณีของระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีภาพลักษณ์เป็นธุรกิจบริการ และกำลังโดนคลื่นของเทคโนโลยีถาโถมเข้าใส่เท่านั้น หากแต่ในภาคผลิตอุตสาหกรรมการมาถึงของเทคโนโลยีการผลิตที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดสูงขึ้นมาก็กำลังผลักให้แรงงานภาคการผลิตจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อความอยู่รอดไม่น้อยเช่นกัน

สถานการณ์ของตลาดแรงงานไทยในมิติเช่นว่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งปรากฏเกิดหรือเหนือการคาดหมาย หากแต่ในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เคยเปิดเผยข้อมูลจากการรวบรวมและศึกษา ว่ามีอาชีพใดบ้างที่อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกเทคโนโลยีเข้ามาแย่งงานหรือถูกแทนที่จากการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

การมาถึงของเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ รวมถึงหุ่นยนต์ หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีประสิทธิภาพทั้งในมิติของความแม่นยำในการผลิตและการเติมเต็มขีดความสามารถในการเพิ่มผลผลิต ท่ามกลางการปรับตัวขึ้นของอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่กำลังจะถูกปรับขึ้น กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภูมิทัศน์ของตลาดแรงงานโดยรวมอยู่ในสภาวะที่พร้อมจะเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ บนทางแพร่งแห่งความอยู่รอด

เพราะในขณะที่ ต้นทุนการผลิตของระบบอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นจากอัตราค่าจ้างและข้อกำหนดว่าด้วยมาตรฐานการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยกำลังมองหาและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ ที่นอกจากจะลดทอนปัญหาในมิติของต้นทุนแล้ว ยังเป็นการเติมเต็มศักยภาพการผลิตสำหรับการแข่งขันในอนาคตด้วย

ทางเลือกเพื่อทางรอดของบุคลากรในตลาดแรงงานในอนาคตจึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่การเป็นพนักงานที่กำลังจะถูกเบียดแทรกด้วยเทคโนโลยีหรือไม่ หากแต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวและพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงเพิ่มพูนทักษะความชำนาญการเพื่อต่อยอดความเป็นนักวิชาชีพที่มีอยู่ในแต่ละสาขาอาชีพได้มากน้อยเพียงใด

ความเป็นไปในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นความพยายามของรัฐบาล ที่จะนำเสนออัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำรอบใหม่ในฐานะที่เป็นประหนึ่งของขวัญให้กับผู้ใช้แรงงานไทย หรือการเปลี่ยนแปลงจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไปสู่การนำเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตชั้นสูงเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ในด้านหนึ่งกลายเป็นภาพสะท้อนความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ของปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจที่น่าพิจารณาไม่น้อย

ประเด็นหลักสำคัญที่ต่อเนื่องมาจากความพยายามของรัฐในการผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งหมายให้ระบบธุรกิจอุตสาหกรรมเติบโตและมีความสามารถสำหรับการแข่งขันในระดับสากลด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ จึงอยู่ที่ว่ารัฐประเมินการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถให้กับบุคลากรในชาติ ที่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในอนาคตนี้อย่างไร

ใส่ความเห็น