วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ธุรกิจไทยยังทรุดหนัก ทุกสำนักปรับลด GDP ติดลบ

ธุรกิจไทยยังทรุดหนัก ทุกสำนักปรับลด GDP ติดลบ

สถานการณ์ในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมไทยยังคงทรุดตัวหนักและไม่มีท่าทีว่าจะฟื้นคืนกลับมาได้โดยง่ายและในเร็ววัน และทำให้ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 อยู่ในภาวะที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่มูลค่าทางเศรษฐกิจก็หดหายไปไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาทอีกด้วย

ความพยายามที่จะกระตุ้นภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่เป็นอุตสาหกรรมความหวังและเป็นจักรกลหนุนนำเศรษฐกิจไทยมาในช่วงก่อนหน้านี้กลายเป็นฝันสลายเมื่อแนวความคิดว่าด้วย Travel Bubble ที่เป็นการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศคู่เจรจาถูกพับฐานลงไปเมื่อจำนวนยอดผู้ติดเชื้อในแต่ละประเทศยังคงพุ่งทะยานขึ้นสูงและทำให้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวต้องรอคอยให้ COVID-19 คลี่คลายไปมากกว่านี้

ความเป็นไปของภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมามักได้รับการประเมินว่าเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นไปทั่วทั้งโลก หากแต่ในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งสภาพเศรษฐกิจไทยที่ปรากฏขึ้นอยู่นี้เป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการของรัฐที่ขาดความรอบคอบและการวางแผนเพื่อรับมือผลกระทบที่จะตามมาจากการดำเนินมาตรการดังกล่าว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีดังกล่าวอยู่ที่ผลของมาตรการปิดเมืองที่กระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว อุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหารค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจขนส่งและธุรกิจบันเทิงที่มีผลกระทบรวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ภาคการผลิตและการส่งออกได้รับผลกระทบมากถึง 5 แสนล้านบาท ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งที่ดำเนินอยู่ก่อนหน้าโดยปราศจากความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมส่งผลกระทบรวมกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท

กรณีเช่นว่านี้ทำให้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยปรับประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ให้อยู่ในระดับติดลบร้อยละ -8.4 ถึงลบร้อยละ -11.4 ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมไม่ต่ำกว่า 2.1 ล้านล้านบาท ท่ามกลางการส่งออกที่ติดลบร้อยละ 10.2 จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะติดลบร้อยละ -8.8 ถึงร้อยละ -12.0 การลงทุนรวมติดลบร้อยละ -8 จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบร้อยละ -5.4 ถึงร้อยละ -7.4 ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปถึงร้อยละ 82.3 จากเดิมที่คาดว่าจะหายไปร้อยละ 74.3-78.7 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบร้อยละ 1.5 จากเดิมที่ติดลบร้อยละ 0.5-1 เท่านั้น

ก่อนหน้านี้มีการเฝ้าติดตามว่าจีดีพีของไทยจะดำเนินไปอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งในครั้งนั้นจีดีพีไทยติดลบในระดับร้อยละ -12 ในขณะที่มีการประเมินว่าจีดีพีไทยหลัง COVID-19 อาจจะติดลบถึงร้อยละ -15 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังมีบางฝ่ายเชื่อว่าสถานการณ์จะกระเตื้องขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 จากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลและการผ่อนคลายต่างๆ ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินอย่างเป็นปกติได้

หากแต่ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ เม็ดเงินงบประมาณตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 400,000 ล้านบาทยังไม่ถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภายในปีนี้ ดังนั้นภาครัฐจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการใหม่ๆ เช่น การปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาวหรือซอฟต์โลนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กหรือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้เพื่อนำเงินไปใช้เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจประคองไม่ให้มีการเลิกจ้างหรือเลิกประกอบธุรกิจ รัฐจึงควรเร่งดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบและผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้ เพราะหากไม่มีมาตรการของรัฐบาลเข้ามาเพิ่มเติม ในขณะที่ SMEs ไม่มีเงินทุนและสภาพคล่องหมุนเวียนเชื่อว่าช่วงที่เหลือของปีต้องมีการปลดคนงานออก 1.9 ล้านคน ซึ่งจะยิ่งฉุดให้สถานการณ์เศรษฐกิจทรุดหนักลงไปอีก

ความตกต่ำของภาวะเศรษฐกิจไทยได้รับการตอกย้ำอย่างชัดเจนเมื่อกระทรวงการคลังยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยติดลบต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี และได้เตรียมมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ภายใต้ความเชื่อที่ว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและกำลังจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ภายใต้สมมุติฐานจากการคำนวณการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นบ้างแล้ว

ทัศนะและแนวความคิดความเชื่อของผู้ที่เกี่ยวข้องในกลไกรัฐเชื่อว่าภายใต้มาตรการเยียวยาต่างๆ และมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศที่รัฐบาลออกมา จะสามารถช่วยประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีแรงส่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้ และยืนยันว่าพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยจะเน้นการบริโภคในประเทศ แต่จะต้องออกในช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมไปถึงข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้ออกมาตรการช้อปช่วยชาติในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แต่พวกเขาละเลยที่จะกล่าวถึงกรอบนโยบายเชิงโครงสร้างที่จะนำพาเศรษฐกิจไทยเข้าสู่สถานการณ์ใหม่ ทั้งที่กลไกรัฐพยายามกล่าวถึงชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal มาอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ถ้อยแถลงของผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จึงสะท้อนออกมาในลักษณะที่หวังว่า COVID-19 จะคลี่คลายลงในเร็วๆ นี้ และจะทำให้นักท่องเที่ยวกลับเพิ่มเข้ามาได้ โดยหากทุกอย่างดีขึ้น คาดการณ์ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4-5% และการส่งออกจะกลับเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 5 ส่วนตัวเลขนักท่องเที่ยวน่าจะเข้ามาอย่างน้อย 15-16 ล้านคนได้ ดังนั้นกระทรวงการคลังยังไม่มีแผนในการจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มเติม แม้ว่าจะมีเม็ดเงินเยียวยาก้อน 600,000 ล้านบาท เหลืออีกประมาณ 200,000 ล้านบาทก็ตาม ซึ่งจะเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น

ขณะที่ข้อเสนอที่ภาคเอกชนเรียกร้องให้รัฐดำเนินการในห้วงปัจจุบันคือการอนุมัติให้มีการจ้างงานแบบชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเลิกจ้างแรงงานในภายหลัง ควบคู่กับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจจ้างแรงงานที่เคยถูกเลิกจ้าง รวมทั้งผ่อนคลายเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงวงเงินสินเชื่อซอฟต์โลน โดยในการกลั่นกรองโครงการที่ขอใช้เงินกู้หรือเงินงบประมาณปี 2564 ควรให้น้ำหนักกับโครงการที่เน้นเพิ่มการจ้างงานในตำแหน่งที่ถาวรหรือเพิ่มกำลังซื้อในระบบด้วย

สิ่งหนึ่งที่กลไกรัฐไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายดูจะไม่ใช่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่พยายามสร้างและผลักให้เป็นปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งภาพรวมทางเศรษฐกิจของไทยแต่เพียงลำพัง หากแต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือกลไกรัฐไทยขาดทิศทางและความสามารถในการนำพามาตรการทางเศรษฐกิจออกสู่สังคมในฐานะที่เป็นนโยบายสาธารณะ (public policy) ที่มีรูปธรรมและความต่อเนื่องชัดเจน

การปล่อยให้ตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจว่างลง โดยไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรีในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและยังสะท้อนภาพการละเลยต่อประเด็นสำคัญที่รัฐควรมุ่งแก้ไขจัดการมากกว่าที่จะให้น้ำหนักอยู่ที่การเกลี่ยผลประโยชน์ในหมู่พวกพ้องคนรอบตัวอย่างที่ปรากฏอยู่

ท่ามกลางตัวเลข GDP ที่สะท้อนภาพรวมทางเศรษฐกิจซึ่งปรับตัวทรุดหนักลงอย่างต่อเนื่องดังที่เป็นอยู่นี้ ตัวเลขความเชื่อมั่นในรัฐบาลไทยก็ดูเหมือนจะย่อตัวต่ำลงและกำลังเข้าสู่การติดลบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ประเด็นอยู่ที่ว่าตัวเลขใดจะนำไปสู่วิกฤตและการเปลี่ยนแปลงในอนาคตนับจากนี้

ใส่ความเห็น