วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ธุรกิจเรียงคิวจี้ปลดล็อก ลดเคอร์ฟิวแลกเลิกจ้าง

ธุรกิจเรียงคิวจี้ปลดล็อก ลดเคอร์ฟิวแลกเลิกจ้าง

ต้องจับตาการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค. ชุดเล็กนัดต่อไปจะมีท่าทีอย่างไรกับการผ่อนคลายกิจการเพิ่มเติมและปรับเวลาเคอร์ฟิว เพื่อนำเสนอ ศบค. ชุดใหญ่ หลังหลายๆ ธุรกิจแห่ยื่นข้อเรียกร้องกดดันอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างถึงผลกระทบต่อแรงงานนับแสนที่มีสิทธิ์ถูกเลิกจ้างได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ หากดูประเภทกิจการที่ ศบค. เปิดไฟเขียวเพิ่มเติมจากการประชุมนัดก่อน ได้แก่ ร้านทำเล็บ ธุรกิจสปา ร้านนวด ธุรกิจโรงภาพยนตร์ และการเล่นดนตรีในร้านอาหาร จำนวนนักดนตรีไม่เกิน 3 คน แต่ดูเหมือนการผ่อนคลายยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารออกมาเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาลเร่งลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวลงอีก จากปัจจุบันกำหนดช่วงเวลาระหว่าง 22.00-04.00 น.

ธนากร คุปตจิตต์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ระบุว่า จากการติดตามสอบถามธุรกิจร้านอาหารและอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น นักดนตรี พนักงานต้อนรับ หลังผ่อนคลายกิจการเพิ่มเติมและลดเวลาเคอร์ฟิวอีก 1 ชั่วโมง จากเวลา 21.00 น.-04.00 น เป็น 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับผลบวกใดๆ ทั้งในแง่การเพิ่มรายได้และการจ้างงาน เพราะพฤติกรรมลูกค้า การฟังดนตรีจะไปพร้อมกับการรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งเวลาที่เพิ่มขึ้นเพียง 1 ชั่วโมง รายได้ต่อการขายไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นชัดเจน

ล่าสุด สมาคมฯ ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติม เพื่อสะท้อนไปถึงการประชุม ศปก.ศบค. ครั้งหน้า ช่วงวันที่ 11 ตุลาคม จำนวน 2 ข้อ คือ

1. ลดเวลาเคอร์ฟิว เป็น 24.00-04.00 น.

2. อนุญาตการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารทั่วไป โดยเป็นการทดลองในช่วงแรก ให้นั่งกินอาหารพร้อมดื่มแอลกอฮอล์และฟังดนตรีในร้านอาหารได้ถึง 22.00 น. ภายใต้เงื่อนไขเข้มงวดด้านสาธารณสุขทั้งพนักงานทุกคนต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ใส่หน้ากากอนามัย จัดสถานที่เว้นระยะห่าง ทำความสะอาดฆ่าเชื้อตลอดเวลา เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้เข้าใช้บริการ

นอกจากนี้ อยากให้ ศบค. เปิดรับฟังความคิดเห็นและแนวทางปฏิบัติได้จริงจากสมาคมการค้าหรือธุรกิจในแขนงต่างๆ มากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมการเปิดประเทศตามแผนในวันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งมีอีกหลายกิจการที่ควรได้รับการอนุมัติ เช่น ลานกลางแจ้งจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมฟังเพลง คล้ายกับลานเบียร์ ในช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ เพื่อจูงใจการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและสร้างบรรยากาศเฉลิมฉลองในเทศกาลปีใหม่

ด้านสมาคมภัตตาคารไทยยังคงยืนยันการขอขยายเวลาเปิดร้านอาหารถึง 22.00 น. เพราะการขยายเวลาให้ร้านอาหารเปิดได้ถึงเวลา 21.00 น. ช่วยกระตุ้นยอดขายให้ร้านอาหารไม่ได้มาก บางร้านต้องปิดรับออเดอร์ ประมาณ 19.00-20.00 น. เพื่อใช้เวลาปิดร้านและให้พนักงานมีเวลาเดินทางกลับที่พักให้ทันเวลาเคอร์ฟิว

ส่วนกลุ่ม 4 สมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ ได้แก่ สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) และสมาคมโรงแรมไทย ร่วมลงนามในหนังสือยื่นถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ผ่อนคลายเปิดกิจการและจัดกิจกรรมได้ในช่วงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น ภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ หลังเจอมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ประสบปัญหาขาดทุน เลิกจ้างงาน และเลิกกิจการ

ปัจจุบันอุตสาหกรรมไมซ์มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท จ้างงานเกือบ 4 แสนอัตรา หากกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งจะเกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ นำไปสู่การจ้างแรงงานในกิจการต่างๆ เช่น โรงแรม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า ร้านอาหาร ร้านค้า และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลพยายามลดกระแสการเลิกจ้าง โดยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs จะจ่ายเงินอุดหนุนเพิ่มเติมให้นายจ้างและลูกจ้างสัญชาติไทย จำนวนไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาท/คน/เดือน ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่พฤศจิกายน 2564 ถึงมกราคม 2565 ซึ่งเงินอุดหนุนจะคำนวณตามยอดการจ้างจริงทุกเดือนและพิจารณาจากจำนวนลูกจ้างที่นำส่งเงินสมทบประกันสังคม

เงื่อนไข คือ นายจ้างต้องรักษาการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ระหว่างร่วมโครงการ หากต่ำกว่านั้นจะถูกตัดสิทธิ์ในเดือนนั้น ในกรณีนายจ้างมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มตามจำนวนการจ้างงานจริง ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนลูกจ้างสัญชาติไทย โดยมั่นใจว่าจะรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทยในธุรกิจ SMEs จากสถานประกอบการ 480,122 แห่ง และรักษาการจ้างงานได้มากกว่า 5 ล้านคน

ทว่า ปัญหาว่างงานและการเลิกจ้างยังถือเป็นวิกฤต โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ สำรวจภาวะการทำงานของประชากรพบอัตราการว่างงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 1.9% ของกำลังแรงงานทั้งหมด เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 0.9% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดโควิดในประเทศไทย

ยิ่งไปกว่านั้น การว่างงานกินเวลานานขึ้น โดยมีผู้ว่างงานนานกว่า 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี มากถึง 94,000 คน เพิ่มขึ้นถึง 438.3% เทียบกับช่วงก่อนโควิด และผู้ว่างงานนานกว่า 1 ปี เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 86,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 332.6%

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ชี้ว่า แม้แนวโน้มตลาดแรงงานไทยค่อยๆ ฟื้นตัวมากขึ้น หลังรัฐผ่อนคลายมาตรการการควบคุมต่างๆ แต่ยังคงเปราะบางเนื่องจากตลาดแรงงานของไทยส่วนหนึ่งอยู่ในภาคการค้าบริการและการท่องเที่ยวกว่า 18 ล้านคนและอาจต้องใช้เวลาถึงปี 2566 จึงจะกลับไปสู่ภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาด

ดูจากข้อมูลสภาวะแรงงานเดือน ก.ค. 64 ผู้มีงานทำในภาคเอกชนทั้งในและนอกระบบประกันสังคมรวมกัน 24.283 ล้านคน เป็นแรงงานอยู่ในภาคธุรกิจ SME ราว 12.71 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้าและบริการ นอกจากนั้น จำนวนคนว่างงานตามข้อมูลทางการระบุไว้ 7.3 แสนคน แต่แรงงานที่ทำงานไม่เกิน 1-24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเป็น “ผู้เสมือนว่างงาน” สูงถึง 3.53 ล้านคน และมีถึง 21% เป็นคนที่ทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สภาพไม่ต่างจากคนว่างงาน

นั่นหมายความว่า การจ้างงานจริงยังไม่กลับมา โดยแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 เดือนกรกฎาคมมีจำนวน 11.127 ล้านคน และช่วงมกราคมถึงกรกฎาคม 2564 มีการจ้างงานรวมกันเพียง 71,720 คน เฉลี่ยเพียงเดือนละหมื่นเศษ ต่างจากข้อมูลรัฐที่ระบุว่ามีการจ้างงานเป็นหลักแสนหลักล้าน

ทั้งหมดจึงอยู่ที่ความพร้อมในการคลายล็อกและเปิดประเทศให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งนั่นคือโจทย์ข้อใหญ่ที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจังและจริงใจด้วย

ใส่ความเห็น