วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ธุรกิจคลังสินค้าโตสวนกระแสวิกฤตโควิด เบสท์บอนด์ แวร์เฮ้าส์ ลุยเพิ่มพื้นที่กว่า 2 แสน ตร.ม.

ธุรกิจคลังสินค้าโตสวนกระแสวิกฤตโควิด เบสท์บอนด์ แวร์เฮ้าส์ ลุยเพิ่มพื้นที่กว่า 2 แสน ตร.ม.

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในวงกว้าง แต่สำหรับเบสท์บอนด์ แวร์เฮ้าส์ ผู้ให้บริการคลังสินค้ากลับมีทิศทางธุรกิจที่สดใส ไม่แผ่วตามธุรกิจส่วนใหญ่ และยังเตรียมผุดแวร์เฮ้าส์ใหม่เจาะทำเลยุทธศาสตร์อีกกว่า 2 แสนตารางเมตร ยึดทำเลทองกระจายสินค้า พร้อมดันไทยเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าแห่งภูมิภาค

ธุรกิจให้บริการคลังสินค้านับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และมีผู้เล่นในตลาดมากมายหลายกลุ่มทั้งรายเล็กรายใหญ่และในหลากหลายทำเลที่ตั้ง ซึ่งหนึ่งในผู้เล่นที่น่าจับตาคือ บริษัท เบสท์บอนด์ แวร์เฮ้าส์ จำกัด ผู้ให้บริการคลังสินค้าครบวงจร ที่ยืนระยะมายาวนานกว่า 30 ปี และที่สำคัญยังสามารถทำรายได้เติบโตขึ้นถึง 30% ท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ส่งแรงสั่นสะเทือนถึงห่วงโซ่ของโลจิสติกส์ทั้งระบบ

สำหรับเบสท์บอนด์ แวร์เฮ้าส์ เป็นผู้ให้บริการคลังสินค้าแบบครบวงจรทั้งด้านการจัดเก็บดูแล ขนส่งสินค้า รับฝากสินค้าทัณฑ์บนและสินค้าทั่วไป บริการรับฝากสินค้าในห้องรักษาอุณหภูมิ (ห้องเย็นอุณหภูมิ 18-22 องศาเซลเซียส) รวมถึงห้องอุณหภูมิติดลบสำหรับสินค้าที่มีความจำเป็นเฉพาะ คลังสินค้าฮาลาล คลังสินค้าเคมี บริการเดินพิธีการศุลกากร บริการขนส่งสินค้า รวมถึงการให้เช่าคลังสินค้า เป็นต้น

สิทธิพล เจริญขจรกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบสท์บอนด์ แวร์เฮ้าส์ จำกัด เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ถึงการดำเนินธุรกิจในช่วงปีที่ผ่านมาว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ เกิดการหยุดชะงักในห่วงโซ่ของโลจิสติกส์ แต่ธุรกิจของเบสท์บอนด์กลับขยายตัวขึ้นกว่า 30% และมีลูกค้ามาใช้บริการมากกว่า 200 บริษัท”

คำถามที่ตามมาคือ อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ เบสท์บอนด์ แวร์เฮ้าส์ โตสวนกระแสเช่นนี้

แชร์แมนของเบสท์บอนด์ ตอบคำถามดังกล่าวว่า จุดเด่นของเบสท์บอนด์คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้บริษัทฯ เติบโตท่ามกลางวิกฤต โดยจุดเด่นแรกคือเรื่องของ “ทำเลที่ตั้ง” เพราะเบสท์บอนด์เลือกที่ตั้งคลังสินค้าที่เป็น Logistics Route เพื่อความสะดวกในการกระจายสินค้าและความปลอดภัยในทุกๆ ด้าน

ปัจจัยต่อมาคือ การช่วยลูกค้าลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์
“เรามีระบบบริหารงานที่มีคุณภาพและทีมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งระบบจัดเก็บสินค้าที่ดีและได้มาตรฐานด้วยระบบคอมพิวเตอร์สำหรับบริหารงานคลังสินค้า โดยเฉพาะการจัดเก็บมีประสิทธิภาพสามารถตรวจเช็กสินค้าได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว ตลอดจนสามารถให้ข้อมูลสินค้าคงคลังแก่ลูกค้าที่ต้องการทราบได้ตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยให้ลูกค้าลดต้นทุนด้านการบริหารคลังสินค้ากว่าจัดการเอง”

อีกหนึ่งจุดเด่นคือมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริหารงานคลังสินค้าและเชื่อมข้อมูลกับหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรมศุลกากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยมีการพัฒนาระบบบริหารสินค้า หรือ WMS (Warehouse Management System) ระบบการจัดการและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถรองรับระบบและเชื่อมต่อกับระบบของลูกค้าได้ทันที และใช้ได้ในทุกแพลตฟอร์ม

มีโซลูชันที่ตอบโจทย์ให้กับลูกค้าแต่ละรายได้ตามความต้องการ คือปัจจัยที่สิทธิพลมั่นใจว่านี่คือสิ่งที่ทำให้เบสท์บอนด์ถูกเลือกใช้บริการจากลูกค้าเป็นลำดับต้นๆ

“เราตอบโจทย์ลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มทั้งประเภทและรูปแบบสินค้า เพราะเรามีคลังสินค้าที่รองรับสินค้าได้หลากหลาย และที่สำคัญในฐานะที่เราเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ยังมีสิทธิประโยชน์ที่ต่างจากคลังสินค้าทั่วไป ที่รับเก็บสินค้าทั่วไปมีอายุการเก็บรักษา 3 ปี โดยงดเว้นการเก็บอากรขาเข้าและขาออก หากส่งออกนอกราชอาณาจักร และยังงดเว้นการเก็บอากรขาเข้าและขาออก สำหรับสิ่งของที่นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อทำการบรรจุ หรือแบ่งบรรจุในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปเพื่อเป็นสินค้าส่งออก โดยสามารถทยอยส่งออกได้ภายในระยะเวลา 3 ปี”

ปัจจุบันเบสท์บอนด์ แวร์เฮ้าส์ มีคลังสินค้าให้บริการกระจายอยู่ตามโลเคชั่นสำคัญๆ 4 แห่งด้วยกัน ได้แก่ คลังสินค้ากิ่งแก้ว ขนาดพื้นที่ 50,000 ตารางเมตร, คลังสินค้านวนคร ขนาดพื้นที่ 100,000 ตารางเมตร, คลังสินค้าพระราม 3 ขนาดพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร และคลังสินค้าบางนา กม. 18 ขนาด 20,000 ตารางเมตร มีลูกค้าหลากหลายมากกว่า 200 บริษัท ทั้งลูกค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม, กลุ่มวัตถุดิบ, กลุ่มเทรดดิ้ง รวมถึงกลุ่มลูกค้าอีคอมเมิร์ซและสินค้าออนไลน์ที่กำลังมาแรง

โดยกลุ่มลูกค้าที่สำคัญๆ ได้แก่ SCG, Goodyear, Ecco, TCL, Brenntag, PPG Coating, Connell, NCC Management รวมถึง อิตาเลเซียเทรดดิ้ง (ITALASIA) ผู้นำเข้าสินค้าหลากหลายประเภทที่แต่ละชนิดต้องการการดูแลและการจัดเก็บที่แตกต่างกันเพื่อให้สินค้าคงสภาพดีเหมือนที่ส่งมาจากต้นทาง และนับเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ใช้บริการคลังสินค้าของเบสท์บอนด์มายาวนานกว่า 20 ปี

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ขยายฐานสู่ลูกค้ากลุ่มออนไลน์
กลุ่มอีคอมเมิร์ซและออนไลน์ที่ถูกพูดถึงข้างต้น เป็นอีกกลุ่มลูกค้าที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เบสท์บอนด์โตได้ถึง 30% ในช่วงของวิกฤตโควิดที่ผ่านมา

“กลุ่มลูกค้าออนไลน์โตขึ้นเร็วมาก ทั้งปัจจัยของ Digital Disruption และการล็อกดาวน์ช่วงโควิดระบาด เราพลิกวิกฤตตรงนี้เพื่อทำให้เป็นโอกาส โดยขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มออนไลน์มากขึ้น เรามีระบบที่เชื่อมโยงกับลูกค้าได้ตลอดเวลา สื่อสารได้เร็ว ทั้งจัดเก็บและส่งออก เช็กสต็อกออนไลน์ได้ และแนวโน้มจะเติบโตได้อีกมาก เพราะผู้บริโภคต้องการอะไรที่รวดเร็ว เรามีระบบที่ตอบโจทย์เขา ส่งมอบสินค้าได้เร็วขึ้น ลูกค้าเลือกที่จะสั่งของมาสต็อกไว้ก่อน เพราะกังวลว่าในอนาคตระบบโลจิสติกส์จะชะงักงันอีก”

นอกจากนี้ เบสท์บอนด์ยังเปิดบริการใหม่อย่าง e-fulfillment warehouse เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีการค้าแบบออนไลน์โดยเฉพาะ โดยจับมือกับ SCG Express ในการกระจายสินค้าอีกด้วย

สำหรับ e-fulfillment เป็นระบบรับคำสั่งเบิกจ่ายสินค้าออนไลน์ มีระบบ software intelligent warehouse ด้วยระบบบาร์โค้ด ที่สามารถคัดแยกรายการสินค้าที่หลากหลายและมีจำนวนมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว ลูกค้าสามารถเข้าถึงระบบได้จากเครื่องมือหลากรูปแบบ ทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดเวลาใดก็ตาม และสามารถตอบกลับคำสั่งภายในเสี้ยววินาที ทำให้ลูกค้าเห็นตัวเลขสินค้าคงเหลือและเสนอขายได้ง่ายขึ้น

ตั้งเป้า ปี 2565 รายได้ขยายตัวเพิ่ม 30% หรือราวๆ 10,000 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขยายแวร์เฮาส์ใหม่เพิ่มอีก 4 แห่ง

จากแนวโน้มธุรกิจที่เป็นที่ต้องการของตลาดและอัตราการเติบโตที่ผ่านมา ทำให้เบสท์บอนด์ตั้งเป้ารายได้ของปี 2565 ไว้ที่ 10,000 ล้านบาท เติบโตเพิ่มอีก 30% โดยมีแผนขยายคลังสินค้าแห่งใหม่เพิ่มอีก 4 แห่ง พื้นที่รวมกว่า 200,000 ตารางเมตร เจาะทำเลยุทธศาสตร์การขนส่ง หรือ logistics route ที่สำคัญๆ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone), บริเวณถนนพหลโยธิน กม. 51, บริเวณถนนพระราม 2 และบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC) เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งงบลงทุนของปี 2565-2566 ไว้ที่ 1,000-2,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นงบลงทุนที่มากที่สุดหลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19

หนุนภาครัฐผลักดัน “คลองไทย” เพื่อเป็นฮับของโลก
“ผมมองว่าโครงการคลองไทยน่าสนใจ ถ้าทำได้สำเร็จจะช่วยย่นระยะเวลาในการขนส่ง และอาจจะทำให้ไทยมีท่าเรือที่ใหญ่กว่าสิงคโปร์ กลายเป็นฮับแห่งใหม่ของโลกได้ หวังว่าภาครัฐจะเห็นความสำคัญและผลักดันให้โครงการนี้สำเร็จ”

“คลองไทย” คือโครงการขุดคลองในเส้น 9A ตัดผ่าน 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา ความยาว 137 กิโลเมตร ลึก 35 เมตร เชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย เป็นโครงการที่ถูกผลักดันมากว่า 20 ปี และเป็นที่ถูกจับตามองจากหลายฝ่ายว่าจะคุ้มค่าหรือไม่? แล้วใครคือผู้ที่ได้รับประโยชน์?

โดยทางฝั่งผู้สนับสนุนมองว่าประโยชน์ของคลองไทยคือการช่วยย่นระยะเวลาการเดินเรือจากมหาสมุทรอินเดียไปทะเลจีนใต้ ไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาซึ่งแออัดคับคั่ง แต่สามารถตัดตรงผ่านทางคลองไทยได้เลย ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเดินเรือในภูมิภาคนี้แทนสิงคโปร์ ช่วยกระตุ้นจีดีพีของประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ช่วยเสริมยุทธศาสตร์ของภาครัฐที่จะผลักดันให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

เพราะคาดหวังว่าคลองไทยจะเป็นประตูนำสินค้าภาคเกษตรของไทยและเพื่อนบ้านออกสู่ตลาดโลกได้สะดวกขึ้น อีกทั้งสิ่งที่ตามมาจากการขุดคลองไทยคือโครงการต่างๆ ที่จะผุดขึ้นตามมาด้วย ทั้งท่าเรือตามแนวคลอง นิคมอุตสาหกรรม และคลังสินค้าต่างๆ เป็นต้น

แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดข้อกังขาตามมาว่าผลดีที่ถูกหยิบยกขึ้นมานั้นจะเป็นตามที่คาดหวังหรือไม่ และการดำเนินโครงการขุดคลองไทยเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนหรือไม่?

ปัจจุบันโครงการขุดคลองไทยยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐบาล และมีการจัดเวทีเปิดรับฟังข้อคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่าย

คงต้องติดตามกันต่อทั้งในมิติของการเติบโตของธุรกิจคลังสินค้า และความคืบหน้าของโครงการคลองไทย ที่นับวันจะเข้มข้นขึ้นไม่แพ้กัน.

ใส่ความเห็น