วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ท่องเที่ยวลุ้น 2 เดือนผ่านฉลุย กรุยทางรายได้ 1 ล้านล้าน

ท่องเที่ยวลุ้น 2 เดือนผ่านฉลุย กรุยทางรายได้ 1 ล้านล้าน

ธุรกิจท่องเที่ยวเร่งนับถอยหลังการเปิดประเทศแบบไม่ต้องกักตัว ดีเดย์ 1 พฤศจิกายนนี้ หวังพลิกฟื้นสถานการณ์หลังเจอวิกฤตโควิดแพร่ระบาดยาวนานกว่า 3 ปี สูญเม็ดเงินรายได้หลายแสนล้านบาท และต้องถือเป็น 2 เดือนสุดท้ายของปีก่อนเข้าสู่เทศกาลเคานต์ดาวน์และปีใหม่

หากทุกอย่างผ่านฉลุยพร้อมๆ กับยอดผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวทั้งไทย-เทศ มีความมั่นใจกับมาตรการด้านสาธารณสุขบวกกับแผนกระตุ้นต่างๆ โดยเฉพาะแผนการทาบทาม ลิซ่า แบล็คพิงก์ และอันเดรอา โบเชลลี ร่วมงานเคานต์ดาวน์ปีใหม่ 2022 เพื่อปลุกกระแสครั้งใหญ่ นั่นย่อมหมายถึงการกลับมาเติบโตอย่างมั่นคงได้อีกครั้ง โดยเฉพาะเม็ดเงินรายได้จากกลุ่มทัวร์ต่างชาติ

ทั้งนี้ ตามแผนการเปิดประเทศโดยไม่ต้องกักตัว มีเงื่อนไขสำคัญ คือต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือครบโดส และมีหลักฐานผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ที่รับรองผลด้วยประเทศต้นทางไม่เกิน 72 ชั่วโมง และมีการตรวจหาเชื้ออีกครั้ง เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย หากผลเป็นลบ (negative) จะสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน หรือ 7 วัน เหมือนในอดีต

ขณะที่การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน กำหนดไว้ 15 จังหวัด จากนั้นระยะที่ 2 เริ่ม 1-31 ธันวาคม 2564 อีก 16 จังหวัด และระยะที่ 3 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ในกลุ่มจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 12 จังหวัด

สำหรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะเดินทางเข้ามานั้นต้องเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านโควิด-19 ตํ่าสุด ซึ่งล่าสุดมีประมาณเกือบ 50 ประเทศ และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะประกาศรายชื่อประเทศอย่างเป็นทางการอีกครั้งในเร็วๆ นี้ โดยชัดเจนว่าประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร (UK) สวิตเซอร์แลนด์ สเปน เยอรมนี อิตาลี และรัสเซีย ส่วนทางเอเชีย ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอินเดีย ติดอยู่ในกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำด้วย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวครั้งนี้ตั้งเป้าภายในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 5 แสนคน หรือภายใน 2 เดือนจะมีนักท่องเที่ยว 1 ล้านคน

หลังจากนั้น ช่วงไตรมาส 1/2565 จะเป็นช่วงพีกสุด หากสถานการณ์โควิดคลี่คลายตามเป้าหมายและวางแผนพร้อมเปิดทั้งประเทศทุกจังหวัด มั่นใจว่าจะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย 10-15 ล้านคน สร้างรายได้มากกว่า 1.1-1.5 ล้านล้านบาท

ส่วนการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งถือเป็นแผนนำร่องเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แม้รายได้ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย 1 แสนคนภายใน 3 เดือน โดยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 40,000 คน เป้าตกไป 6 หมื่นคน แต่สิ่งที่ได้มาทดแทน คือการยกระดับรายได้จากนักท่องเที่ยว เฉลี่ยใช้จ่ายสูงถึง 60,000 บาทต่อคน จากเดิมอยู่ที่ 40,000 บาทต่อคน ถือเป็นนักท่องเที่ยวที่มีรายจ่ายสูงและสามารถสร้างชื่อเสียงของโปรเจกต์ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไปทั่วโลก

อย่างเช่นกรณีทวิตเตอร์ @russellcrowe ของ รัสเซล โครว์ ดารานักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง เปิดเผยความเคลื่อนไหวระหว่างเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ โดยเดินทางผ่านจังหวัดภูเก็ตและพำนัก 14 วัน ก่อนขึ้นไปถ่ายทำภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ มีการพูดถึงประเทศไทย จุดหมายปลายทางที่หลายคนชื่นชอบ และรัฐบาลไทยมีสิ่งยอดเยี่ยมในสถานที่ที่เรียกว่า Sandbox Quarantine ถ้าคุณได้รับวัคซีนครบตามจำนวน คุณสามารถบินไปยังภูเก็ตและเดินทางรอบเกาะได้อย่างเสรี

โครว์ยังเผยแพร่วิดีโอคลิประบุข้อความว่า “Amanpuri dreaming. Phuket. #sandboxquarantine” โดยเข้าพักที่รีสอร์ตหรูระดับลักชัวรี “อมันปุรี” ที่ย่านหาดสุรินทร์ ต. เชิงทะเล อ. ถลาง จ. ภูเก็ต ซึ่งที่พักราคาเริ่มต้น 30,000-40,000 บาทต่อคืน

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า หลายประเทศเริ่มรับรู้ถึงการเตรียมเปิดประเทศของไทย หลังจากเริ่มเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดยได้รับการติดต่อจองห้องพักเข้ามาแล้วอย่างต่อเนื่อง เพราะไทยเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจ ถูกค้นหาข้อมูลออนไลน์มากที่สุดอันดับ 1 ของโลก และประเมินเบื้องต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงมกราคมปีหน้า น่าจะมีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 1.1 ล้านคน

ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ระบุเงื่อนไขสำคัญ คือ ประเทศไทยต้องจัดการโควิดอย่างมีประสิทธิภาพและน่าจะเห็นผลบวกชัดเจนในปี 2565 เพราะแม้สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศนิ่งขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ ขณะเดียวกันสถานการณ์โควิดและนโยบายการเดินทางออกนอกประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ในบางประเทศยังกำหนดการกักตัวหลังเดินทางกลับจะมีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ผลจากการเปิดประเทศน่าจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เพิ่มขึ้นประมาณ 64% เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ ซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งปี 2564 ขยับขึ้นมาที่ประมาณ 1.8 แสนคน จากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 1.5 แสนคน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.35 หมื่นล้านบาท โดยรายได้การท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังกระจายอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ชาวต่างชาติที่มีแนวโน้มเดินทางเข้ามา ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ ยุโรป บางประเทศในเอเชียและตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศที่เข้าข่ายตามเงื่อนไขของทางการแล้ว เช่น อัตราการฉีดวัคซีนสูงหรือจัดการโควิดได้ดีนับตั้งแต่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม STV (Special Tourist Visa) จนมาถึง Phuket Sandbox รวมทั้งเป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งสะท้อนผ่านเครื่องชี้การค้นหาโรงแรมและที่พักในไทยผ่านเว็บไซต์ต่างๆ จากข้อมูลของกูเกิล Destination Insight (Travel Insights with Google) ตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคม ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยประเทศที่มีการค้นหาโรงแรมและที่พักในไทยสูง ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐฯ อินเดีย สหราชอาณาจักร และเยอรมนี

ด้านโรงแรมและที่พักในพื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการค้นหาสูงสุด เช่น กรุงเทพฯ ป่าตอง พัทยา เกาะสมุย กะรน โดยจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวจะเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงโควิดต่ำ สะท้อนจากจำนวนผู้ป่วยต่ำและอัตราการได้รับวัคซีนเข็มสองที่มีสูง จังหวัดเป้าหมายตามแผนเปิดประเทศทั้ง 3 ระยะ เช่น ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี

ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564 จึงถือเป็นเวลาทองของการท่องเที่ยว หากเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจชิ้นนี้สอบผ่านทุกมาตรการจะส่งต่อและผลักดันการเติบโตในปี 2565 พลิกฟื้นประเทศไทยได้อย่างชัดเจนที่สุด

แผนเปิดจังหวัดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว

ระยะนำร่อง (1-31 ต.ค. 2564) เมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 80% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด มี 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่

ระยะที่ 1 (1-30 พ.ย. 2564) เมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 15% มี 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ กระบี่ พังงา ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน และหนองแก) เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) ชลบุรี (พัทยา อ. บางละมุง ต. นาจอม เทียน ต. บางเสร่ เกาะสีชัง อ. ศรีราชา) ระนอง (เกาะพยาม) เชียงใหม่ (อ. เมือง อ. แม่ริม อ. แม่แตง อ. ดอยเต่า) เลย ( เชียงคาน) บุรีรัมย์ (อ. เมือง) หนองคาย (อ. เมือง อ. ศรีเชียงใหม่ อ. ท่าบ่อ อ. สังคม) อุดรธานี (อ. เมือง อ. นายูง อ. หนอง หาน อ. ประจักษ์ศิลปาคม อ. กุมภวาปี อ. บ้านดุง) ระยอง (เกาะเสม็ด) และตราด (เกาะช้าง)

ระยะที่ 2 (1-31 ธ.ค. 2564) เมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 15% มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส

ระยะที่ 3 (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65) เป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน มี 12 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล

ใส่ความเห็น