วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Home > Cover Story > ท็อปส์เดลี่ผนึกแฟมิลี่มาร์ท พลิกโฉมบุกแนวรบเซเว่นฯ

ท็อปส์เดลี่ผนึกแฟมิลี่มาร์ท พลิกโฉมบุกแนวรบเซเว่นฯ

เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล เปิดเกมรุกสู้ทั้งวิกฤตโควิด ปัญหาของแพงและศึกค้าปลีก ไม่ใช่แค่ผุดโมเดลใหม่ ซูเปอร์มาร์เก็ตสแตนด์อโลน สาขาแรกพัฒนาการ 30 รับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่เลือกจับจ่ายใกล้บ้าน ล่าสุดตัดสินใจยกเครื่อง “ท็อปส์ เดลี่” มินิซูเปอร์มาร์เก็ตโฉมใหม่ ดันแฟลกชิปสโตร์แห่งแรก นำเสนอสินค้าแบบ Room Concept มีพื้นที่เช่ารับร้านค้าและโซนที่นั่งรับประทานอาหาร

ที่สำคัญ คู่แข่งรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโลตัสของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ค่ายบิ๊กซีของกลุ่มเบอร์ลี่ยุคเกอร์ (บีเจซี) ต่างเร่งปรับโฉมสร้างโมเดลใหม่ รวมถึงค่าย ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป พยายามไล่จี้กลุ่มเซเว่นอีเลฟเว่น” ปูพรมสาขาเบียดพื้นที่แข่งขันชนิดห่างกันไม่กี่คูหาและชูจุดขาย ”ซูเปอร์มาร์เก็ต+คอนวีเนียนสโตร์” เพิ่มร้านค้าและบริการหลากหลายไม่ต่างจากมินิคอมมูนิตี้มอลล์ในทุกชุมชน

อันที่จริงหากย้อนกลับไปในช่วงการเซ็นสัญญาร่วมทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล รีเทลคอร์ปอเรชั่น (ซีอาร์ซี) กับบริษัท แฟมิลี่มาร์ท จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2555 นายทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซีอาร์ซี ขณะนั้น วางแผนบุกตลาดร้านสะดวกซื้อด้วยการทยอยปรับร้านท็อปส์เดลี่มาเป็นแฟมิลี่มาร์ท จนถึงขั้นอาจปิดฉาก “ท็อปส์เดลี่” โดยเฟสแรกปรับร้านท็อปส์เดลี่ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 250 ตารางเมตร เป็นร้านแฟมิลี่มาร์ทจำนวน 74 สาขา ภายในไตรมาส 1 ปี 2557 แต่สุดท้ายดูเหมือนยุทธศาสตร์ดังกล่าวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

เกมใหม่จึงเปลี่ยนเป็นการผนึกกำลังร่วมกัน โดยท็อปส์เดลี่เน้นจุดขายมินิซูเปอร์มาร์เก็ต มีความหลากหลายของสินค้ากลุ่มของสด อาหารพร้อมปรุง และขยายในทำเลหลากหลายมากขึ้น เช่น ในสถานีบริการน้ำมัน

ส่วนแฟมิลี่มาร์ทเน้นความเป็นร้านสะดวกซื้อ ชูจุดขายความรวดเร็ว อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องดื่ม ดึงร้านกาแฟสด อาริกาโตะ เข้ามาเสริมเพิ่มความพรีเมียมรองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ อาหาร และขนมนำเข้าจากญี่ปุ่น โดยเจาะทำเลย่านสัญจรต่าง ๆ เช่น ในรถไฟฟ้าใต้ดิน คอนโดมิเนียม สถานศึกษา โรงพยาบาล

นางสาวเมทินี พิศุทธิ์สินธพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ-Small Format บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด กล่าวว่า เทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบันและพฤติกรรมการชอปที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายใกล้บ้าน การนำเสนอสินค้าที่ดึงดูดใจ คุ้มค่า และบริการหลากหลาย ทำให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กต้องเร่งปรับตัวสร้างโมเดลร้านรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์การชอปปิ้งในร้านค้าปลีกไซส์เล็กใกล้เคียงกับการชอปปิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ต

นั่นจึงเป็นที่มาล่าสุดของการปรับกระบวนทัพรอบใหม่ โดยใช้โมเดลความสำเร็จด้านการนำเสนอสินค้าแบบ Room Concept มาเป็นไฮไลท์ ได้แก่ โซน Snacker ขนมขบเคี้ยวนำเข้าราคาประหยัด จัดกรุ๊ปสินค้าแพ็กไซส์ขนาดเล็กราคาเริ่มต้น 5-20 บาท ทั้งจากญี่ปุ่นและเกาหลีที่เพิ่มขึ้นกว่า 300 รายการ รวมถึงขนมนำเข้าเอ็กซ์คลูซีฟจากอเมริกาที่หมุนเวียนมาจำหน่ายตลอดทั้งปี

โซน Cooking รูปแบบ Asian cooking wall เช่น เนื้อสัตว์ ผักสด เซตสุกี้ ชาบู ยากินิคุหลากชนิด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป วัตถุดิบทำอาหารจากญี่ปุ่นและเกาหลี เครื่องปรุงอาหารเฉพาะทางสำหรับคนรักสุขภาพ

นอกจากนี้ มีโซน LOOKS สินค้าเพื่อสุขภาพและความงามสไตล์เอเชีย เน้นไซส์เล็ก ราคาประหยัด โซน Baby & Me กลุ่มสินค้าแม่ลูก โซน PETSTER สินค้ากลุ่มสัตว์เลี้ยง และมีร้านกาแฟ ARIGATO รองรับคอกาแฟคนรุ่นใหม่

ขณะเดียวกัน เน้นกลยุทธ์ Instagrammable คือการออกแบบตกแต่งร้านให้มีมุมสำหรับลูกค้าได้ถ่ายภาพอัปลงโซเชียล มีบริการแบบฟูลเซอร์วิสเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการชอปปิ้งผ่านช่องทางออนไลน์ www.tops.co.th บริการผู้ช่วยชอปส่วนตัว (Personal Shopper) ในไลน์ @TopsThailand หรือดีลิเวอรี่พาร์ตเนอร์บนแอปพลิเคชัน Grab และ Foodpanda บริการรับชำระบิลค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยคิวอาร์โค้ด (QR Code) และแอปพลิเคชันดอลฟิน (Dolfin Wallet) อาทิ บัตรเครดิต ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ บริการธุรกรรมการเงิน บริการส่งพัสดุ

ล่าสุด ซีอาร์ซี ยังลุยบริการ Tops Online แพลตฟอร์มออนไลน์ซูเปอร์มาร์เก็ตที่อัดสินค้าต่างๆ กว่า 20,000 รายการ ออกบริการใหม่ “Tops PRIME” (ท็อปส์ ไพร์ม) รับสมัครสมาชิกบนแพลตฟอร์มธุรกิจค้าปลีกครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสร้างฐานสมาชิกที่เหนียวแน่นและเพิ่มสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น บริการจัดส่งฟรีไม่จำกัดจำนวนครั้ง รับโค้ดคูปองส่วนลดพิเศษทุกเดือน และโปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดที่ดีที่สุด เพื่อทำให้ผู้บริโภคมีความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty)

การงัดท็อปส์ ไพร์ม ของซีอาร์ซี ด้านหนึ่งรองรับพฤติกรรมนักชอปที่คุ้นเคยกับการสั่งซื้อออนไลน์มากขึ้นและมีอัตราขยายตัวต่อเนื่องทุกปี โดยหลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 มีการสั่งซื้อสินค้าผ่านท็อปส์ออนไลน์เพิ่มสูงถึง 60%

อีกด้านหนึ่งรองรับกระแสกลุ่มไลฟ์สดขายสินค้าหลายรายที่เริ่มขยายไลน์จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น เปลี่ยนจากไลฟ์สดขายกระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า อาหารเสริม มาพ่วงขายสินค้าพวกน้ำมันพืช ผงซักฟอก น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน กระทะ ไม่ต่างจากร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ โดยใช้วิธีดีลกับผู้ผลิตหรือร้านค้าส่งรายใหญ่ทำให้ได้ราคาถูกกว่าห้าง ซึ่งโดนใจกลุ่มลูกค้ามาก แถมบริการส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำด้วย

ทั้งนี้ จากการประเมินมูลค่าตลาดค้าปลีกออนไลน์ในปี 2565 คาดเติบโต 20-25% หรือมีมูลค่ารวม 50,000-52,000 ล้านบาท มาจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ 1. Work From Home กลายเป็นรูปแบบการทำงานใหม่สำหรับบางองค์กร 2. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้าที่หันไปช้อปสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างถาวร อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ 3. การลงทุนด้านเทคโนโลยีที่สูงขึ้นทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เพื่อสร้างประสบการณ์ชอปปิ้ง และ 4. บริการขนส่งออนดีมานด์หรือการเรียกรถจัดส่งสินค้าระบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน ได้กลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ของคนยุคหลังโควิด

แน่นอนว่า ตัวเลขทางการดังกล่าวยังไม่รวมกับบรรดาแม่ค้าออนไลน์ไลฟ์สดที่เปิดการไลฟ์ขายของทุกวัน วันละ 3 เวลา ซึ่งสามารถสร้างยอดขายได้ดีกว่าการขายสินค้ากลุ่มเดิม

ด้านยักษ์สะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” พยายามตอกย้ำความเป็น “ห้างใกล้บ้าน” และใช้รูปแบบวางร้านสาขาขนาดใหญ่ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าให้ร้านสาขาขนาดย่อย สาขาแฟรนไชส์ โดยวางจำหน่ายสินค้าหลากหลายกลุ่ม ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคยกแพ็ก กลุ่มอาหาร เนื้อหมู เนื้อไก่ กลุ่มหมูกระทะ ผักสด ผลไม้ ซึ่งลูกค้าสามารถออร์เดอร์ออนไลน์ผ่านบริการดีลิเวอรีทุกสาขาและร้านสาขาย่อยสามารถรับสินค้าที่ไม่มีจำหน่ายจากร้านสาขาขนาดใหญ่ได้ทันที

นอกจากนี้ มีบริการซื้อสินค้าแบบเงินผ่อน 0% ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์สำนักงาน เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายมากขึ้น

จิราพรรณ ทองตัน ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส สำนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากสถานการณ์โควิดไม่รุนแรงหรือกลับมาระบาดอีกระลอก จะทำให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการในร้าน 7- Eleven ต่อสาขาฟื้นตัวเพิ่มขึ้นจาก 800 คนต่อวัน และยอดขายเฉลี่ย 60,600 บาทต่อวัน ผลักดันยอดขายดีขึ้นในทุกๆ ไตรมาสและผลประกอบการทั้งปี 2565 จะเติบโตจากปี 2564 ที่มีรายได้รวม 587,597 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 12,985 ล้านบาทอย่างแน่นอน ซึ่งปี 2564 สัดส่วนของรายได้จากการขาย 73.7% มาจากสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และ 26.3% มาจากสินค้าอุปโภค

ขณะที่ช่องทางการขายใหม่ๆ ทั้งการซื้อผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) บริการ 7-delivery และALL Online ห้างใกล้บ้าน รวมถึงเว็บไซต์ ShopAt24 ยังมีการเติบโตสูง เนื่องจากมีเครือข่ายสาขาครอบคลุมการบริการทั่วประเทศ โดยปี 2565 บริษัทยังตั้งเป้าหมายขยายร้านใหม่ 700 สาขา จากปี 2564 มีจำนวนสาขาทั่วประเทศทั้งสิ้น 13,134 แห่ง

ดังนั้น หากตรวจแนวรบสงครามสะดวกซื้อ ยักษ์ใหญ่ “เซเว่นฯ” มีคู่แข่งรอบด้าน โดยเฉพาะเกมล่าสุดของกลุ่มเซ็นทรัล แต่ไม่ว่าจะพลิกโฉมกี่รอบ ทั้งหมดต้องวัดกลยุทธ์ ค่ายไหนจะเด็ดดวงโดนใจผู้บริโภคมากกว่ากัน.

ใส่ความเห็น