วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 61 กับการขับเคลื่อนของ 3 เครื่องจักร

ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 61 กับการขับเคลื่อนของ 3 เครื่องจักร

ศักราชใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นท่ามกลางบรรยากาศของความสดชื่น สดใส กระนั้นดูจะอุดมไปด้วยความคาดหวังในหลากหลายมิติ ทั้งในแง่มุมของการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจต่างประเทศดูจะมีอิทธิพลต่อไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

หรือความคาดหวังเกี่ยวกับการเมือง ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในเร็ววัน ซึ่งหากมีการกำหนดวันเลือกตั้ง น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับบรรดานักลงทุนทั้งในไทยและโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติได้มากโข

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ตัวเลขเศรษฐกิจไทย ทั้งตัวเลขจีดีพี การส่งออก และจำนวนนักท่องเที่ยว ดูจะเป็นไปตามการคาดการณ์และคาดหวังของหลายฝ่าย สถานการณ์ที่ค่อยๆ ดีขึ้นส่งผลต่อทิศทางความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยในปีพุทธศักราชใหม่นี้ด้วย แม้ว่าเครื่องจักรสำคัญยังคงเป็นเครื่องจักรตัวเดิมอย่างการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน

หลายฝ่ายเริ่มเปิดเผยถึงการคาดการณ์เศรษฐกิจภาพรวมของไทยว่า น่าจะมีแรงบวกมากขึ้นจากอานิสงส์ของสถานการณ์ช่วงปลายปี 2560 โดยเฉพาะเรื่องของการส่งออกที่มีแรงหนุนในช่วงท้ายปีที่ผ่านมา แม้จะยังเป็นเพียงกระแสที่ค่อนข้างจะแผ่วไปจากความคาดหวังก็ตาม

กระนั้นจากที่เคยคาดการณ์กันว่าตัวเลขส่งออกที่ตั้งเป้าเอาไว้ตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่ตัวเลขการเติบโตเพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์นั้น ต้องปรับเป้าหมายขึ้นมาเป็น 6.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีการเติบโตที่ค่อนข้างเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น

ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจากปี 2560 ส่งผลให้หลายฝ่ายยังมั่นใจว่าไตรมาสแรกของปี 2561 น่าจะยังคงดำเนินไปได้ด้วยตัวเลขสถิติการส่งออกที่ดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แม้ว่าในปัจจุบันค่าเงินบาทจะแข็งตัวอยู่ในระดับ 32.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไม่เอื้อต่อการส่งออกมากนัก

ขณะที่การส่งออกจำต้องอาศัยปัจจัยจากภายนอกมากกว่าปัจจัยภายใน โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ค่าเงินบาท และสถานการณ์การเมืองของประเทศมหาอำนาจเช่นสหรัฐอเมริกา และจีน

ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวไม่ได้มีผลต่อตัวเลขการส่งออกเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังหมายความรวมถึงสถานการณ์การลงทุนของภาคเอกชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนจะไม่ใช่ตัวแปรสำคัญต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยก็ตาม

กระนั้นสิ่งที่จะเกื้อหนุนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนคงหนีไม่พ้นนโยบายหลักทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผู้รับหน้าที่เป็นต้นเรือที่ชื่อ “เศรษฐกิจ” ซึ่งขณะนี้กำลังพยายามอย่างหนักในการนำเรือที่ชื่อว่า EEC ลงสู่มหาสมุทรไทย แม้ว่าอีกนัยหนึ่ง โครงการ EEC จะเป็นเสมือนการลงทุนจากภาครัฐ

การโหมกระพือโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ดูจะเป็นเสมือนหัวรบในการนำทัพของเศรษฐกิจไทยในห้วงยามนี้ โดยเฉพาะการตัดสินใจปล่อยแคมเปญโฆษณาโครงการนี้ในช่วงท้ายปีจึงกลายเป็นหมัดแย็บ ที่ประกาศว่าโครงการนี้กำลังเริ่มเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง

ขณะที่การท่องเที่ยวไทยยังคงดำเนินไปด้วยอัตราเร่งเดิม แม้ว่ายังไม่ได้ตัวเลขสรุปยอดจำนวนนักท่องเที่ยวของปี 2560 อย่างเป็นทางการ หากแต่การคาดการณ์ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวทั้งปีที่ผ่านมาน่าจะสูงถึง 35-36 ล้านคน ทั้งนี้สถิติดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในปี 2561 ได้ ซึ่งบางประเทศที่มีการคาดเดาไว้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจะลดจำนวนลง อย่างนักท่องเที่ยวจีน กระนั้นก็ยังมีจำนวนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือมีการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยมีผู้ให้ความคิดความเห็น ประเมิน คาดการณ์รวมไปถึงการให้บทวิเคราะห์ไว้อย่างน่าขบคิด

ทั้งนี้ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายเจน นำชัยศิริ คาดการณ์ว่า “จีดีพีของไทยน่าจะเติบโต 3.5-4.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อรัฐบาลส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC รวมไปถึงสิ่งเกื้อหนุนอื่นๆ เช่น การขนส่งระบบรางคู่มอเตอร์เวย์ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในประเทศ น่าจะทำให้เศรษฐกิจฐานรากดีขึ้น และการลงทุนน่าจะเกิดเป็นรูปธรรมได้ในปี 2561 เนื่องจากเรื่อง PPP ได้รับการแก้ไขให้สะดวกขึ้น”

ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายวิรไท สันติประภพ พูดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561 ไว้ว่า “คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมไปถึงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของจีดีพีเป็น 3.9 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมเมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่ 3.8 เปอร์เซ็นต์ โดยแรงส่งมาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนเริ่มดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ตลาดแรงงานและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง และการลงทุนภาคเอกชนได้รับอานิสงส์จากการส่งออก”

“ความเสี่ยงและความท้าทายของเศรษฐกิจปี 2561 คือ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและหนี้ครัวเรือนสูง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อและการบริโภคของประชาชน ความท้าทายจากเทคโนโลยีและโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะเป็นอีกปัจจัยเสี่ยง และความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ไม่เท่ากันของคนแต่ละกลุ่ม”

แน่นอนว่าทั้งหมดทั้งมวลเป็นเพียงการคาดการณ์และการประเมินจากสถานการณ์ของปีที่ผ่านมา และสถานการณ์ความเป็นไปของโลกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยที่เน้นส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ยังคงต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่อาจประเมินได้ในอนาคต ทั้งเรื่องความไม่มั่นคงทางการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจ การเงินระหว่างประเทศ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

หากการเลือกตั้งทั่วไปคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รัฐบาลคงจำเป็นจะต้องนำเรื่องนี้มาพิจารณาว่า ถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วหรือยังที่จะสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติ

ใส่ความเห็น