วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ทองผันผวนหนัก จับตากองทุนเทขาย

ทองผันผวนหนัก จับตากองทุนเทขาย

ราคาทองคำกลายเป็นประเด็นร้อนแรงหลังพุ่งทะลุระดับบาทละ 30,000 บาท และมีการประกาศราคาหลายรอบ บางวันเปลี่ยนแปลงมากกว่า 40 ครั้ง ทุบสถิติเป็นประวัติการณ์ เกิดการเก็งกำไร ผู้คนแห่เข้าคิวขายเป็นแถวยาวเหยียดหนาแน่น แต่หลังจากนี้ต้องจับสัญญาณความเสี่ยงและปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มกองทุนต่างชาติเพราะจะเป็นตัวการทำให้ราคาทองผันผวนและพลิกร่วงลงได้

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาข้อมูลต่างๆ เริ่มจากภาพรวมความต้องการซื้อทองคำของทั้งโลกยังเพิ่มขึ้น แม้เจอภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งในแง่ความต้องการเพื่อการสวมใส่เครื่องประดับ ทองคำเพื่อการลงทุน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้นำเข้าทองคำแท่งมากเป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน และความต้องการของธนาคารกลางประเทศต่างๆ

ว่ากันว่า ธนาคารกลางที่ถือครองทองคำเป็นเงินสำรองมากที่สุดในโลก คือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ มากกว่า 8,000-9,000 ตัน ตามด้วยเยอรมนี 3,369 ตัน และอิตาลี 2,451 ตัน แต่ประเทศที่ถูกจับตามากกลับเป็นจีนและรัสเซีย เนื่องจากทั้งสองประเทศพยายามถือครองทองคำในเงินทุนสำรองมากขึ้น เพื่อลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐและลดบทบาทเงินดอลลาร์สหรัฐ

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า ราคาทองคำผันผวนมากจนไม่สามารถคาดการณ์ตัวเลขเป้าหมายชัดเจนได้ แต่หากประเมินราคาทองคำมีโอกาสขยับขึ้นในระยะสั้น เพราะเหตุการณ์ต่างประเทศยังมีปัญหาหลายอย่าง และอยู่ในจุดรุนแรงทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นเหตุระเบิดร้ายแรงในกรุงเบรุตจนจุดกระแสประท้วงต่อต้านรัฐบาล กรณีความขัดแย้งยืดเยื้อระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล และประเทศแถบยุโรปยังมีการระบาดต่อเนื่อง

อย่างกรณีเลบานอน แม้ล่าสุด นายกรัฐมนตรีฮัสซัน ดิอับ ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเลบานอน หลังอยู่ในตำแหน่งเพียง 7 เดือน ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งหมดต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย หลังชาวเลบานอนรวมตัวเดินขบวนประท้วงและเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบกรณีเหตุระเบิดของแอมโมเนียมไนเตรตน้ำหนัก 2,750 ตัน ที่โกดังสินค้าภายในท่าเรือเบรุต เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยแอมโมเนียไนเตรตถูกซุกซ่อนในโกดังแห่งนี้นานถึง 7 ปี เป็นเหตุครั้งร้ายแรงที่สุดของเลบานอน มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน บาดเจ็บอีกมากกว่า 6,000 คน จนเป็นชนวนปลุกผู้คนลุกฮือกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน ปัญหาเศรษฐกิจและการแย่งชิงอำนาจระหว่างขั้วการเมือง

“ตอนนี้ทั่วโลกมีปัญหา ขณะที่ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง ในระยะสั้นจึงมีโอกาสขึ้นไปอีก แต่ราคาทองคำล่อแหลมมาก โดยเฉพาะพวกกองทุนเข้ามาเก็งกำไร เข้ามาซื้อจำนวนมากตั้งแต่ต้นปี เหตุการณ์ราคาทองคำรอบนี้เป็นประวัติการณ์เลยไม่เคยขึ้นสูงสุดขนาดนี้ จึงเป็นห่วงมากว่ากองทุนพวกนี้จะทำกำไรเมื่อไหร่ ถ้าเทขายจะทำให้ราคาร่วงแรง”

นายจิตติย้ำว่า พวกกองทุนเป็นพวกทุนหนา ลงทุนซื้อทองคำ 300 กว่าตัน เป็นเงินมหาศาล ถือเป็นกลุ่มอิทธิพล มักออกบทวิเคราะห์ผลักดันราคาทองคำว่าจะพุ่งสูงขึ้นให้หลงเชื่อ ดังนั้น นักลงทุนไทยต้องระมัดระวัง อย่าเชื่อมาก และใช้กลยุทธ์ดูจังหวะทำกำไรบางส่วน

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงในครึ่งปีหลัง ได้แก่ 1. แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและสถานการณ์ความตึงเครียดกับจีน โดยล่าสุดทางการจีนตัดสินใจคว่ำนักการเมืองสหรัฐฯ รวมถึงวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ที่ประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของจีนและฮ่องกง

2. ค่าเงินบาท เพราะหากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวจนตกชั้นประเทศน่าลงทุนในสายตาต่างชาติและมีแนวโน้มที่เม็ดเงินของต่างชาติไหลออกจะทำให้เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ซึ่งจะส่งให้ราคาทองในประเทศแพงยิ่งขึ้น และ 3. การคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 หากคิดค้นสำเร็จและสามารถใช้ได้ในคนจะทำให้สถานการณ์ทั่วโลกดีขึ้น สถานการณ์ราคาทองคำจะนิ่งและเข้าสู่ภาวะปกติ ขึ้นลงตามความต้องการที่แท้จริง

แน่นอนว่า สมาคมค้าทองคำในฐานะผู้กำหนดและประกาศราคาทองคำของประเทศไทยภายใต้คณะอนุกรรมการควบคุมราคาทองของสมาคมฯ คอยกำกับดูแลตลอดช่วงเวลาการซื้อขาย จะตัดสินใจปรับ ขึ้น-ลง ราคาทองคำในประเทศแต่ละครั้ง โดยพิจารณาจากองค์ประกอบของราคาทองคำในตลาดโลก ค่าเงินบาท อัตราค่า Premium และภาวะตลาด ความต้องการซื้อ ปริมาณทองคำภายในประเทศ

ดังนั้น ราคาทองในช่วงจังหวะหลังจากนี้จึงเป็นโจทย์ยากข้อสำคัญ โดยเฉพาะหากกลุ่มกองทุนต่างชาติเทขายทำกำไรจะทำให้ราคาทองคำร่วงทันที อย่างช่วงระหว่างวันที่ 7-10 สิงหาคมที่ผ่านมา ราคาทองคำในตลาดโลก (Gold Spot) ปรับลดลงต่อเนื่อง หลังเจอแรงเทขายทำกำไรระหว่างทาง

ไม่ใช่เพียงแค่ตลาดภายในประเทศที่ผู้คนต่างพุ่งเป้าหมายการขึ้นลงของราคาทองคำเท่านั้น แต่ยังเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก โดยการส่งออกทองคำของไทยช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่าสูงถึง 6,372.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.97 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 350.01% เนื่องจากเป็นการส่งออกไปทำกำไรจากส่วนต่างของราคาในช่วงทองคำในตลาดโลกพุ่งสูง รวมถึงนักลงทุนหันมาซื้อสะสมทองคำมากขึ้น เพื่อเตรียมรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว

ทั้งนี้ ถ้าย้อนตรวจสอบราคาทองคำในประเทศไทยช่วงวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น ปี 2551 เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤตซับไพรม์ กรณี เลห์แมน บราเธอร์ส สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศล้มละลาย และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยถือว่าเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ราคาทองคำตลาดโลกพุ่งพรวดแตะระดับ 1,032 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ราคาทองคำในประเทศไทยช่วงเดือนกันยายน 2551 พุ่งสูงสุดแตะบาทละ 14,200 บาท

ปี 2552 เกิดวิกฤตการณ์ยูโรโซน หรือวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป โดยเฉพาะในประเทศกรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน ไซปรัส ราคาทองคำในตลาดโลกแตะระดับ 1,671 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนราคาในประเทศไทยอยู่ในระดับบาทละ 18,000-19,000 บาท

ปี 2554 เหตุการณ์สถาบัน S&P ลดอันดับเครดิตสหรัฐอเมริกา จาก AAA เหลือ AA+ ราคาทองคำพุ่งไปแตะระดับ 1,920 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาทองในประเทศไทยพุ่งตามไปถึง 27,000-27,100 บาท

ปี 2559 กรณีอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) สถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ในภาวะสั่นคลอน ราคาทองคำแตะ 1,357 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาในประเทศไทยพุ่งสูงสุดอยู่ที่ 22,700-22,800 บาท

ชัดเจนว่า ราคาทองคำจะพุ่งปรี๊ดในช่วงวิกฤตต่างๆ และท่ามกลางสถานการณ์โลก หรือแม้แต่สถานการณ์ภายในประเทศไทย ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ ล้วนทำให้ “ทองคำ” เป็นสินทรัพย์น่าลงทุนและทุกคนต่างปรารถนาทั้งสิ้น

ทองคำ ความมั่งคั่งจากโบราณกาลสู่ยุคปัจจุบัน

ข้อมูลจากสมาคมค้าทองคำเล่าประวัติศาสตร์การค้นพบทองคำครั้งแรกสุดในโลกอยู่ที่เอเชียตะวันตก โดยเฉพาะในประเทศอียิปต์ มีสิ่งของเครื่องทองปรากฏให้เห็นตั้งแต่ 4,000 ปีก่อนศริสต์ศักราช

ต่อมามีการค้นพบที่ประเทศมาเซโดเนีย อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และผู้คนต่างแห่ขุดทองเพิ่มมากขึ้นหลังจากค้นพบทวีปอเมริกา

นับเป็นเวลาหลายศตวรรษ ที่ทองคำสามารถใช้เป็นเงินตราที่มีค่าสูงสุดและเป็นโลหะชนิดเดียวที่ได้รับการยอมรับในดินแดนที่มีความเจริญในสมัยโบราณกาล จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการเอามาตรฐานทองคำเข้ามาใช้ในระบบเงินตราในหลายประเทศ นายทุนใหญ่ๆ โดยรัฐบาลเป็นผู้หลอมทำและจำหน่ายเงินเหรียญทองคำ กลายเป็นพื้นฐานหลักของระบบเงินตรา โดยมีการกำหนดมาตรฐานทองคำเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ และแผ่ขยายออกไปประเทศอื่นๆ ตามลัทธิล่าอาณานิคม

ตอนกลางศตวรรษที่ 19 มีการค้นพบทองคำในแคลิฟอร์เนียและออสเตรเลีย ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วในยุโรปตะวันตกและในอเมริกาเหนือ รวมถึงดึงเอาประเทศต่างๆ เข้ามาร่วมกันก่อตัวเป็นตลาดโลก

สำหรับประเทศไทยตามหลักฐานของกรมทรัพยากรธรณีมีการร่อนหาทองคำมาแต่โบราณ อาจย้อนไปถึงสมัยอาณาจักรเชียงแสน เพราะมีหลักฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 4 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การขุดทองลดน้อยลงจนต้องซื้อนำเข้าจากต่างประเทศ

กระทั่งปี พ.ศ. 2414 มีการค้นพบทองคำที่บ้านบ่อ อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี และช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำแก่บริษัทจากประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสหลายแห่ง แต่หยุดดำเนินการเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีสำรวจพบแร่ทองคำกระจายอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัด โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพทางแร่สูงมี 2 แนว

แนวแรก พาดผ่าน จ. เลย หนองคาย เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และระยอง ส่วนแนวที่ 2 พาดผ่าน จ. เชียงราย แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย และตาก นอกจากนี้ พบกระจายทั่วไปใน อ. บางสะพาน จ. ประจวบคีรีขันธ์ แหล่งโต๊ะโมะ อ. สุคิริน จ. นราธิวาส และ อ. ทองผาภูมิ จ. กาญจนบุรี

เมื่อทองแพงขึ้นต่อเนื่องอาจทำให้แหล่งแร่เหล่านี้ได้รับความสนใจและจะมีการเสนอสำรวจพื้นที่อย่างคึกคักอีกครั้ง

ใส่ความเห็น