วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > ตลาดยานยนต์ถึงแรงงานไทย กระทบแค่ไหนเมื่อจีเอ็มถอนทัพ

ตลาดยานยนต์ถึงแรงงานไทย กระทบแค่ไหนเมื่อจีเอ็มถอนทัพ

การประกาศยุติการผลิตรถยนต์เชฟโรเลต ของค่ายจีเอ็ม หรือ บริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด สร้างความสั่นสะเทือนแก่วงการยานยนต์ไทยไม่น้อย หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า อะไรเป็นสาเหตุให้ค่ายรถสัญชาติอเมริกันตัดสินใจแบบนี้

หากติดตามข่าวสารของรถยนต์ค่ายนี้อาจจะพอทราบทิศทางแนวนโยบายของ Marry Barra ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจีเอ็ม ว่า ได้มีการวางแผนปรับโครงสร้างของบริษัทมาตั้งแต่ปี 2558 โดยจะทยอยถอนตัวจากกลุ่มตลาดที่ทำกำไรได้น้อย และให้ความสำคัญกับกลุ่มตลาดหลัก นอกจากนี้ ยังจะเน้นการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่สำหรับอนาคตเป็นหลัก รวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากการประกาศถอนทัพออกจากไทยภายในสิ้นปี 2563 จีเอ็มยังทิ้งทวนด้วยการหั่นราคารถยนต์ลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถเรียกความสนใจจากผู้มีกำลังซื้อได้ไม่น้อย

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลหลังจากหยุดการผลิตรถยนต์ของเชฟโรเลตคือ ความวิตกของพนักงานจำนวนนับพันคน กลุ่ม Supplier สายการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ ตัวแทนจำหน่าย รวมไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย

โดย บริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบกิจการรถยนต์เชฟโรเลต ปัจจุบันมีลูกจ้างประมาณ 1,100 คน และบริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) ที่ประกอบกิจการผลิตเครื่องยนต์ ปัจจุบันมีลูกจ้างประมาณ 400 คน รวมทั้งสองบริษัทมีลูกจ้างประมาณ 1,500 คน

ซึ่งบริษัททั้งสองมีแผนที่จะเลิกจ้างในส่วนของการผลิตชิ้นส่วนปลายเดือนมิถุนายน 2563 และเลิกจ้างลูกจ้างในส่วนของเครื่องยนต์ปลายเดือนตุลาคม 2563 และเลิกจ้างลูกจ้างในส่วนของงานสนับสนุนในปลายปี 2563 โดยบริษัทจะจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและจะจ่ายเงินเพิ่มให้ลูกจ้างเป็นเวลาอีก 4 เดือน

ด้านกระทรวงแรงงานลงพื้นที่และมอบหมายให้กรมการจัดหางานเข้าช่วยเหลือ โดยได้เตรียมตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไว้ประมาณ 15,132 อัตรา ซึ่งตำแหน่งงานว่างในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีตำแหน่งงานว่างประมาณ 2,536 อัตรา

การเลิกจ้างงานที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่ได้สร้างความกังวลใจแก่ตัวลูกจ้างของบริษัทจีเอ็มเท่านั้น เมื่อสถานการณ์ด้านแรงงานที่ว่างงานในไทยอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเผยผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 พบว่า จำนวนผู้มีงานทำมีทั้งหมด 37.71 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า จำนวนผู้ที่มีงานทำทั้งหมด 38.26 ล้านคน ลดลงไปถึง 5.5 แสนราย

และหากจะนับเฉพาะจำนวนผู้ว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2562 เพียงเดือนเดียว พบว่า มีผู้ว่างงานทั้งหมด 4.29 ล้านคน ถือเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่มีจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด 4.36 ล้านคน

และปัจจัยที่ทำให้เกิดการว่างงานคือ การถูกเลิกจ้างเนื่องจากนายจ้างหยุดหรือปิดกิจการจำนวน 4.75 หมื่นคน หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า การถูกเลิกจ้างเกิดขึ้นเพียง 1.89 หมื่นคน เท่ากับว่า ถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นถึง 251 เปอร์เซ็นต์ และการหมดสัญญาจ้างงานจำนวน 3.85 หมื่นคน

นอกจากผลกระทบด้านแรงงานและการว่างงานที่เป็นกังวล ยังมีเรื่องของทิศทางของภาคอุตสาหกรรมที่หลายคนเป็นห่วงว่าจะได้รับอานิสงส์ทางลบจากกรณีที่จีเอ็มย้ายฐานการผลิตออกจากไทยหรือไม่

เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ก้าวเข้าสู่ภาวะยากลำบาก เพราะเมื่อช่วงเดือนตุลาคม สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมและสมาชิกผู้ผลิตยานยนต์ในประเทศไทย ได้ปรับลดเป้าการผลิตรถยนต์ปี 2562 เหลือ 2,000,000 คัน จากเดิม 2,150,000 คัน

นอกจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลให้ยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศลดลงแล้ว ความเข้มงวดของสถาบันการเงินต่อการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ซึ่งการปรับลดเป้าการผลิตลงไปในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้มูลค่าในอุตสาหกรรมยานยนต์หายไปราว 1.5 แสนล้านบาท

ขณะที่ความเห็นของรองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (ส.อ.ท.) ต่อกรณีการถอนทัพของจีเอ็มมองว่า ไม่น่าส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทยมากนัก เนื่องจากบริษัทมีการประกาศแผนการตลาดมาก่อนหน้านี้ และการปิดโรงงานจีเอ็มในไทยเป็นเพราะต้องการปรับแผนลงทุนไปยังตลาดอื่นที่ดีกว่า ถือเป็นเรื่องของธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของตลาดรถยนต์ต่อจากนี้ยังไม่เห็นสัญญาณบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นจะย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศอื่น แม้ว่าสุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับโครงสร้างของแต่ละบริษัทก็ตาม และ จีเอ็มมียอดขายรถต่ำกว่าร้อยละ 2 ของภาพรวมยอดขายรถยนต์ในไทย ที่มียอดจำหน่ายรถปีละประมาณ 1 ล้านคัน

สำหรับภาพรวมตลาดรถยนต์ทั้งที่จำหน่ายในประเทศและเพื่อการส่งออกในช่วงเดือนมกราคมปี 2563 ความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงินทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนแรกของปีนี้ ลดลง 8.2 เปอร์เซ็นต์ โดยมียอดขายรวมทั้งสิ้น 71,688 คัน และรถจักรยานยนต์ลดลง 2.4 เปอร์เซ็นต์ โดยมียอดขายรวม 145,279 คัน

ด้านการส่งออกรถยนต์ในช่วงเดือนมกราคม 2563 รถยนต์สำเร็จรูปรวม 65,295 คัน หรือร้อยละ 76.69 ของยอดการผลิตเพื่อการส่งออก ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 19.96 ต่ำสุดในรอบ 7 ปีเศษ

ส.อ.ท. มองว่าการส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด มีปัจจัยมาจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว ยกเว้นตลาดตะวันออกกลาง โดยมีมูลค่าส่งออกรวม 32.271.37 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า คิดเป็นร้อยละ 20.94 ด้านรถจักรยานยนต์ส่งออกได้ 78,033 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 0.74 และมีมูลค่าส่งออกรวม 6,216.50 ล้านบาท

ขณะที่การผลิตรถยนต์ในเดือนมกราคม 2563 จำนวน 156,266 คัน ลดลง 12.99 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า และยอดการผลิตรถจักรยานยนต์ 209,606 คัน ลดลง 3.98 เปอร์เซ็นต์

การยุติผลิตรถยนต์เชฟโรเลตในไทยหลายฝ่ายกังวลถึงผลต่อภาคการลงทุนในไทย เพราะจีเอ็มเป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ แต่การเข้าซื้อโรงงานผลิตรถยนต์เชฟโรเลตของบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ส ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์อเนกประสงค์และรถบรรทุกชั้นนำของจีน รวมถึงการประกาศจะขยายการลงทุนในไทยเพิ่ม และยังมีแผนที่จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนและออสเตรเลีย น่าจะทำให้ความต่อเนื่องของภาคการลงทุนในไทยไม่ได้รับผลกระทบ แม้จีเอ็มจะถอนทัพออกไปก็ตาม

ดูเหมือนว่าความคิดเห็นของ ส.อ.ท. และบีโอไอต่อกรณีที่จีเอ็มประกาศยุติกิจการในไทย ทั้งภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และการลงทุนจะไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนัก ทว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบตัวจริงคือ แรงงานที่กำลังจะถูกเลิกจ้างภายในปีนี้ แม้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า เกรท วอลล์ มอเตอร์ส จะรับโอนพนักงานจากจีเอ็มหรือไม่ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตและบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ที่ป้อนให้กับเชฟโรเลต อาจจะต้องปรับตัวกันยกใหญ่ และต้องสร้างโอกาสให้ตัวเองในการนำพาธุรกิจให้รอดท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ที่กำลังเผชิญ

ใส่ความเห็น