วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > ดาบหน้าของผู้อพยพ กับมนุษยธรรมของประเทศมหาอำนาจ

ดาบหน้าของผู้อพยพ กับมนุษยธรรมของประเทศมหาอำนาจ

ภาพผู้อพยพแตกฮือวิ่งหนีหลบแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกายิงใส่ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เหล่าผู้อพยพผ่านเข้ามาจนถึงชายแดนสหรัฐฯ ได้ หลังผู้อพยพพยายามข้ามรั้วพรมแดนเมืองตีฮัวนา ประเทศเม็กซิโก เพื่อหวังจะขอลี้ภัย

เหตุการณ์ความโกลาหลนี้เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากที่จำนวนผู้อพยพเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นหลายพันคน พร้อมการประกาศกร้าวจากผู้นำสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะไม่ยินยอมให้ผู้อพยพผ่านเข้ามาในประเทศได้เด็ดขาด

หญิงสาวยึดมือลูกของเธอแน่นขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าลูกของเธอทั้งสองคนจะไม่มีใครหลุดมือหรือพลัดหลงไปในขณะที่กำลังกระเสือกกระสนวิ่งหนีแก๊สน้ำตา เป็นภาพที่ถูกเผยแพร่ในหลายสื่อ สร้างความรู้สึกเศร้าสลดหดหู่ใจไม่น้อย พร้อมเกิดคำถามว่า การกระทำดังกล่าวของประเทศมหาอำนาจ รุนแรงและไร้มนุษยธรรมเกินไปหรือไม่

ภายหลังคำสั่งอย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ส่งทหารกว่า 5,000 นายไปยังพรมแดนเม็กซิโก เพื่อสนับสนุนภารกิจของหน่วยป้องกันชายแดน

สหรัฐอเมริกาเป็นจุดหมายปลายทางของผู้อพยพจากหลายประเทศ ในแต่ละปีมีผู้อพยพที่แสดงความประสงค์จะขอเป็นผู้ลี้ภัยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะปีนี้สถานการณ์จำนวนผู้อพยพจากกลุ่มประเทศอเมริกากลางจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นจากหลักร้อยเป็นหลายพันคน

โดยเฉพาะผู้อพยพที่เดินเท้ามาจาก 3 ประเทศนี้ ได้แก่ กัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส ซึ่งเหตุผลที่ผู้อพยพเหล่านี้ตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนและเดินทางมายังสหรัฐฯ เพราะปัญหาความยากจน ปัญหาอาชญากรรมที่รุนแรงในประเทศของตัวเอง

แน่นอนว่า “การไปตายเอาดาบหน้า” อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักในห้วงยามนี้ กระนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศของผู้อพยพ ทางเลือกที่ว่า น่าจะมีเปอร์เซ็นต์รอด หรืออาจมีหนทางไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

คำถามเรื่องมนุษยธรรมของสหรัฐฯ ที่มีต่อผู้อพยพไม่ใช่เพียงแค่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดเท่านั้น เพราะเมื่อช่วงกลางปี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะผลักดันให้เกิดการใช้นโยบาย “ความอดทนเป็นศูนย์” กับผู้อพยพ

หรือให้เข้าใจง่ายๆ คือ มาตรการการพรากลูกจากอกพ่อ-แม่ เพื่อกดดันผู้อพยพที่กำลังตัดสินใจเดินทางมาบริเวณชายแดนอีกทางหนึ่ง โดยหวังให้ผู้อพยพหันหลังและถอยกลับไปยังประเทศของตัวเอง

การประกาศใช้มาตรการนั้นเพื่อหยุดยั้งและลดจำนวนผู้อพยพ ส่งผลให้มีเด็กๆ มากกว่า 2,300 คนถูกแยกตัวจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ลักลอบข้ามชายแดนเข้ามาอย่างผิดกฎหมายนับตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกฝ่ายจะเห็นด้วยและรับได้กับมาตรการดังกล่าวของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อภาพของเด็กๆ ที่นั่งอยู่ในกรงตาข่ายพื้นปูนตามศูนย์พักพิงทั่วสหรัฐฯ สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับผู้คนเป็นวงกว้าง ทั้งจากประชาคมนานาชาติ พรรคเดโมแครต หรือแม้กระทั่งสมาชิกพรรครีพับลิกันเอง

ซึ่งส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า เป็นมาตรการที่ไร้มนุษยธรรม และสร้างผลเสียต่อสหรัฐฯ อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุภาพสตรีหมายเลข 1 เมลาเนีย ทรัมป์ ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยและเรียกร้องให้สามีของตนเองทำอะไรบางอย่างเพื่อยุติปัญหาที่รังแต่จะขยายวงกว้างขึ้น และอาจส่งผลเสียต่อคะแนนเสียงสำหรับการเลือกตั้งในอนาคต

แน่นอนว่า ในเวลาต่อมา โดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจออกคำสั่งยุติมาตรการพรากลูกจากพ่อ-แม่ พร้อมกับโยนบาปให้พรรคเดโมแครต ทั้งที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากใน 2 สภา

การข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมายไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อย้อนเวลากลับไปร่วม 100 ปี ผู้อพยพจำนวนไม่น้อยพยายามเดินทางเข้ามาสหรัฐฯ ทั้งหมดล้วนแต่ต้องการที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยผู้นำสหรัฐฯ แต่ละคนมีนโยบาย และมาตรการที่จะจัดการปัญหาผู้อพยพแตกต่างกันไป ซึ่งประธานาธิบดีคนที่ 29 อย่าง Warren Gamaliel Harding มีนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” เฉกเช่นเดียวกันกับผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน

ขณะที่อดีตผู้นำสหรัฐฯ อย่าง จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และบารัค โอบามา กลับมีแนวทางที่แตกต่างออกไป โดยพยายามที่จะหาวิธีให้ผู้อพยพผิดกฎหมายได้สัญชาติอเมริกัน

สำหรับผู้นำอย่างทรัมป์ ที่มองผู้อพยพเหล่านี้คือภัยคุกคาม ทำให้ทรัมป์หยิบยกกรณีนี้มาเป็นนโยบายหาเสียง เพื่อหวังคะแนนเสียงสนับสนุนจากคนผิวขาว

กระนั้นยังมีความจริงที่ต้องยอมรับว่า ผู้อพยพเหล่านี้กระทำผิดกฎหมายจริง เพราะหากผู้อพยพประสงค์จะขอลี้ภัยและเข้ามายังสหรัฐฯ นั้นสามารถทำได้ เพียงแต่ใช้เวลาดำเนินการ 6 เดือน

ทว่าระยะเวลา 6 เดือนอาจจะยาวนานเกินไปสำหรับการดิ้นรนเพื่อปากท้อง ทั้งของตนเองและสมาชิกในครอบครัว กับสภาพชีวิตที่แร้นแค้นในประเทศในอเมริกากลาง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากรายงานของสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ฮอนดูรัส คือหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดคดีฆาตกรรมสูงสุดในโลก อีกทั้งยังมีปัญหาการว่างงานสูง ขณะที่รัฐบาลฮอนดูรัสเองได้ออกมาประณามพรรคฝ่ายค้านที่สนับสนุนและกระตุ้นให้ประชาชนอพยพออกจากบ้านเกิด

นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุให้ผู้อพยพจากฮอนดูรัสตัดสินใจแบกความหวังเดินเท้าหนีปัญหาเป็นระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตร

ขณะที่นายกเทศมนตรีเมืองตีฮัวนา กล่าวว่า เมืองนี้กำลังเผชิญวิกฤตด้านมนุษยธรรม นอกจากนี้ยังใช้งบประมาณดูแลผู้อพยพประมาณ 500,000 เปโซต่อวัน หรือราว 800,000 บาท โดยนายกเทศมนตรีวิงวอนให้นานาชาติยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

ล่าสุดมีความพยายามจากนักสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องต่อศาลชั้นต้นนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งในที่สุดศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยประกาศว่า บุคคลใดลักลอบเข้าสหรัฐฯ ด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายจะไม่มีสิทธิขอลี้ภัย

ซึ่งข้อโต้แย้งที่นักสิทธิมนุษยชนชี้ให้เห็นคือ คำสั่งของทรัมป์นั้นขัดกับกฎหมายที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานแก่มนุษย์ทุกคน และสหรัฐฯ มีพันธกรณีต้องรับฟังความเดือดร้อนของผู้อพยพที่ต้องการขอลี้ภัยทุกกรณี

โดยผู้พิพากษาจอน ไทการ์ กล่าวว่า ภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ ชาวต่างชาติที่เดินทางมาถึงสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเข้ามาทางใด มีสิทธิยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยในสหรัฐฯ ได้

และหากจะย้อนดูถ้อยแถลงของทรัมป์เกี่ยวกับผู้อพยพ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้นำสหรัฐฯ มีคำสั่งที่ดูจะห่างไกลความมีมนุษยธรรม เมื่อในความคิดของทรัมป์ ผู้อพยพจำนวนมากคืออาชญากร และการเดินขบวนของกลุ่มผู้อพยพเหล่านี้ถือเป็นการรุกรานสหรัฐฯ

นอกจากนี้ทรัมป์ยังขู่ประเทศในอเมริกากลางว่า หากปล่อยให้ผู้อพยพทะลักเข้าประเทศโดยไร้การควบคุม สหรัฐฯ จะใช้มาตรการคว่ำบาตรประเทศนั้น

กระนั้น ประธานาธิบดีเม็กซิโก อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ แสดงความคิดเห็นกรณีผู้อพยพว่า สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ควรหาทางลงทุนเพื่อให้อเมริกากลางเกิดการพัฒนา เพราะนี่จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

สถานการณ์หนีความทุกข์ยากของผู้อพยพชาวอเมริกากลางจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ และท่าทีที่สหรัฐฯ จะปฏิบัติต่อผู้หนีร้อนมาพึ่งเย็นจะเป็นอย่างไรก็สุดที่จะรู้ หวังเพียงว่าจะไม่มีการสูญเสียมากไปกว่าที่เป็นอยู่ หากสหรัฐฯ ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรม

 

ใส่ความเห็น