วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > ดับบลิวเอชเอ เดินหน้าธุรกิจโค้งสุดท้าย เชื่อมั่นเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

ดับบลิวเอชเอ เดินหน้าธุรกิจโค้งสุดท้าย เชื่อมั่นเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อยอดขายที่ดินอุตสาหกรรมในประเทศไทยอันเนื่องมาจากการระงับการเดินทางชั่วคราว แต่ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มลูกค้ายังคงมีอยู่ต่อเนื่อง

รายงานจากวิจัยกรุงศรี ระบุว่า ณ สิ้นปี 2563 ยอดขายและเช่าที่ดินนิคมอุตสาหกรรมสะสมทั่วประเทศรวมเป็นพื้นที่ 123,861 ไร่ หรือคิดเป็น Occupancy rate ที่ 76.4% ลดลงจาก 77.5% ในปี 2562 แต่คาดการณ์ว่าช่วงปี 2564-2566 ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโต โดยคาดว่ายอดขายและให้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ช่วง 3 ปีข้างหน้าจะขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปี เช่นเดียวกับรายได้จากการให้บริการสาธารณูปโภคต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ทั้งการค้าระหว่างประเทศ การส่งออก และการลงทุนจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป (WHA Group) หนึ่งในผู้นำในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมแบบครบวงจรรายใหญ่ของเมืองไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เร่งเครื่องธุรกิจในเครือลุยโค้งสุดท้ายของปี ทั้งโลจิสติกส์ สาธารณูปโภค พลังงาน และนิคมอุตสาหกรรม เตรียมพร้อมทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล ตั้งเป้าปี 2564 เติบโต 30%

“การดำเนินธุรกิจในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ถือเป็นเส้นทางที่มีความท้าทายแต่ก็เต็มไปด้วยโอกาสใหม่ๆ เรามองเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และหวังว่าในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยจะสามารถเร่งให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนได้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งวิกฤตครั้งนี้นับเป็นตัวเร่งให้เกิดการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้” จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการดำเนินธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิด

สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์และคลังสินค้ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2564 จากผลการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการศูนย์กระจายสินค้า ตลอดจนคลังสินค้าและโรงงานสำเร็จรูปเพิ่มมากขึ้น

ส่งผลให้ครึ่งปีแรกของปี ดับบลิวเอชเอมีการเซ็นสัญญาใหม่รวมพื้นที่ 35,000 ตารางเมตร และระยะสั้นอีกกว่า 100,000 ตารางเมตร และภายในสิ้นปีจะมีการส่งมอบโครงการโลจิสติกส์แห่งใหม่อีก 5 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่รวมมากกว่า 110,000 ตารางเมตร พร้อมเปิดตัวโครงการเมกกะโลจิสติกส์แห่งใหม่และขยายพื้นที่ในโครงการเดิม โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารจัดการรวม 2,560,000 ตารางเมตร

กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจโลจิสติกส์จะเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างบริการใหม่ๆ รวมถึงการเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 29.40 ในบริษัท สตอเรจ เอเชีย จำกัด ผู้ให้บริการให้เช่าพื้นที่จัดเก็บทรัพย์สินส่วนบุคคลระดับพรีเมียม เพื่อต่อยอดธุรกิจให้บริการพื้นที่จัดเก็บทรัพย์สินส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ยังมีแผนขายทรัพย์สินในโครงการ Built-to-Suit Warehouse และ General Warehouses ขนาด 180,000 ตารางเมตร เข้ากองทรัสต์ WHART ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 5,500 ล้านบาท

ในส่วนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมภายใต้บริษัทในเครืออย่าง ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ (WHAID) ปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมในเครือทั้งสิ้น 12 แห่ง ตั้งอยู่ในไทย 11 แห่ง และอีก 1 แห่งในประเทศเวียดนาม

และมีแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่เพิ่มอีก 3 โครงการในไทย และในเวียดนามอีก 2 โครงการ ซึ่งประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3, นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ซึ่งจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ช่วงปลายปี 2564 และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง จะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ซึ่งนั่นจะส่งผลให้ WHAID มีที่ดินอุตสาหกรรมพร้อมซื้อขายบนทำเลยุทธศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

แนวโน้มการเติบโตดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากผลพวงของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการหนุนการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ซึ่งคาดว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจรวมถึงแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากต่างชาติจากภาครัฐ

การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอจะเป็นไปตามแนวคิด “Smart Eco Industrial Estates” โดยเน้นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในนิคม ทั้งตรวจสอบการทำงาน ความปลอดภัย ข้อมูลการปล่อยก๊าซ ระดับน้ำ และการควบคุมน้ำเสีย เพื่อพัฒนาสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะตามแนวโน้มของตลาด

ด้านธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักในเครือของดับบลิวเอชเอนั้น ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีว่า

“ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจสาธารณูปโภคภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอทั้งในไทยและเวียดนาม รวมถึงพัฒนานวัตกรรมโซลูชันพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าส่วนแบ่งกำไรทั้งปีให้เพิ่มขึ้น 25%”

สำหรับปริมาณการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำทั้งในและต่างประเทศของ WHAUP มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้นทั้งจากกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีการขยายกำลังการผลิต และลูกค้ารายใหม่ที่เริ่มทยอยเปิดดำเนินการ เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ GSRC ของ บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF)

นอกจากนี้ ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่มและผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) โดยใช้เทคโนโลยีเมมเบรนรี เวิร์สออสโมซิส ควบคู่ไปกับการพัฒนา Smart Utilities Service Platform และ Innovative Solution เพื่อให้บริการลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม และมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอีกหลายโครงการ เช่น โรงบำบัดน้ำแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 กำลังการผลิตอยู่ที่ 2.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี, โครงการผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุสำหรับจำหน่ายลูกค้านอกนิคม กำลังผลิต 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และโครงการแหล่งน้ำดิบทางเลือก

ในส่วนของธุรกิจน้ำที่เวียดนามก็มีการเติบโตเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant: SDWTP) ยอดจำหน่ายน้ำเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26

รวมถึงมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจพลังงานและการพัฒนาโซลูชันพลังงานหมุนเวียนภายใต้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นนวัตกรรม โดยในปี 2564 ตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้า 670 เมกะวัตต์ ซึ่งการเติบโตหลักมาจากโครงการ Solar Rooftop ซึ่ง ณ ไตรมาส 2 WHAUP มีโครงการ Solar Rooftop ที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 46 เมกะวัตต์ สัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 63 เมกะวัตต์ จากเป้าที่วางไว้ที่ 90 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะขยายให้ครบ 300 เมกะวัตต์ ในปี 2566

ล่าสุดได้ส่งมอบโครงการ Solar Rooftop บนหลังคาโรงงานให้กับบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 5 เมกะวัตต์ ไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 9 หมื่นตัน และลดต้นทุนค่าไฟเฉลี่ยปีละ 31.6 ล้านบาท

อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับ บมจ. ปตท. และเซอร์ทิส เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะในการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย

สำหรับในปีนี้ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป คาดการณ์ว่า รายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติจะสูงเป็นประวัติการณ์ ด้วยอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 30 จากปีก่อน โดยที่ยังคงระดับความสามารถในการทำกำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย (EBITDA) กว่าร้อยละ 40 ซึ่งจากแผนการดำเนินงานที่ผ่านมาผนวกกับกลยุทธ์ช่วงโค้งสุดท้าย สิ่งที่ดับบลิวเอชเอคาดการณ์ไว้ คงเป็นจริงได้ไม่ยากนัก

ใส่ความเห็น