วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > On Globalization > ฌอง ก็อกโต อาร์ทิสต์หลากแขนง

ฌอง ก็อกโต อาร์ทิสต์หลากแขนง

Column: From Paris

ชอบแหวนของการ์ทีเอร์ (Cartier) รุ่นหนึ่ง เป็นทองสามสีไขว้กัน วงหนึ่งเป็นทองขาว อีกวงหนึ่งเป็นทองคำสีเหลืองและวงสุดท้ายเป็นทองสีชมพู เป็นรุ่นชื่อ Trinity รู้สึกว่าเท่ดี ร้านเพชรที่เคยคุ้นในอดีตทำเป็นแหวนก้อยให้ น่ารักมาก จำไม่ได้ว่ายกให้สาวคนไหนแล้ว

Trinity เป็นผลงานการออกแบบของฌอง ก็อกโต (Jean Cocteau) แล้วให้ห้างการ์ทีเอร์ทำให้ บางกระแสก็บอกว่าการ์ทีเอร์ทำออกมา บังเอิญให้ฌอง ก็อกโตไปเห็นเข้า เขาชอบใจจึงสั่งทำหลายวง สำหรับสวมเองและมอบเป็นของขวัญใครบางคน

ฌอง ก็อกโตเป็นอาร์ทิสต์หลากแขนง เขาเริ่มจากการเขียนบทกวี หนังสือบทกวีเล่มแรกของเขาคือ La lampe d’Aladin เอดูอารด์ เดอ มักซ์ (Edouard de Max) ชอบใจบทกวีของเขา จึงจัดให้มีการอ่านบทกวีที่โรงละครเฟมีนา (Fémina) ผู้ชมชอบใจ ฌอง ก็อกโตในฐานะกวีจึงดังนับแต่นั้น เขาชอบเข้าสังคมคนดัง และกลายเป็นหนุ่มสำอางชื่อดังในยุคนั้น

ฌอง ก็อกโตชอบใจผลงานของแซร์จ เดอ ดีอากีเลฟ (Serge de Diaghilev) ผู้อำนวยการคณะบัลเลต์รัสเซีย และกลายเป็นเพื่อนกันในที่สุด เขาเขียนบทบัลเลต์ให้บัลเลต์คณะนี้เรื่อง Le dieu bleu และ Parade ซึ่งปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) เป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายและฉาก เรื่องหลังนี้ประทับใจนักเขียนอย่างกีโยม อะโปลลิแนร์ (Guillaume Apollinaire) ซึ่งเห็นว่าเป็นผลงานที่เป็นเหนือจริง (surréaliste) ภายหลังเกิดกลุ่มเซอเรียลิสต์อันมีอองเดร เบรอะตง (André Breton) เป็นหัวหน้ากลุ่ม ฌอง ก็อกโตร่วมกับนักแต่งเพลงกลุ่ม Groupe des six ซึ่งมี 6 คนด้วยกันคือ ฟรองซิส ปูแลงก์ (Francis Poulenc) จอร์จส์ โอริก (Georges Auric) เป็นอาทิ แต่งบัลเลต์เรื่อง Mariés de la tour Eiffel

Le bel indifférent เป็นละครที่ฌอง ก็อกโตแต่งให้เอดิธ เปียฟ (Edith Piaf) นักร้องดังเจ้าของเพลง La vie en rose … และประสบความสำเร็จสูง

ฌอง ก็อกโต (1889-1963) เกิดในครอบครัวบูร์จัวส์ในปารีส พ่อฆ่าตัวตายขณะเขาอายุ 9 ขวบ เป็นเหตุการณ์ที่ตราตรึงในความทรงจำของเขา ซึ่งสะท้อนในผลงานหลายเรื่อง เขาไม่ชอบเรียนหนังสือ จึงออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 15 ปี และเขียนบทกวีเล่มแรกขณะอายุ 19 ปี เขาแต่งบทละคร เขียนนิยาย และสร้างภาพยนตร์ เรื่องแรกคือ Le sang d’un poète เขาให้เงินสนับสนุนแก่ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ (François Truffaut) ในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Le testament d’Orphée เรื่องที่ดังที่สุดของเขาคือ La belle et la bête ทว่าไม่ได้รับรางวัลใดๆ เลยจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองกานส์ (Cannes)

ด้านชีวิตส่วนตัว ฌอง ก็อกโตเป็นรักร่วมเพศ มีความสัมพันธ์กับหนุ่มหลายคน หนึ่งในนั้นคือฌอง มาเรส์ (Jean Marais) นักแสดงชื่อดังของฝรั่งเศส ทว่าเขาก็มีสัมพันธ์รักกับสตรีหลายคนเช่นกัน เจ้าหญิงนาตาลี ปาเลย์ (Nathalie Paley) ธิดาของแกรนด์ ดุ๊ค แห่งรัสเซีย ซึ่งเป็นนางแบบนักแสดง และเป็นอดีตภรรยาของลูเซียง เลอลงก์ (Lucien Lelong) ช่างเสื้อดัง เธอตั้งท้อง แต่แท้งเสียก่อน ทำให้ชีวิตของฌอง ก็อกโตผันผวนอีก

ฌอง ก็อกโตได้รับแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตฝรั่งเศสในปี 1955 นอกจากนั้นเขายังได้เป็นราชบัณฑิตของเบลเยียมด้วย

ฌอง ก็อกโตเสียชีวิตในปี 1963 ที่มิลลี-ลา-ฟอเรต์ (Milly-la-Forêt) อันเป็นวันที่เขาทราบข่าวการเสียชีวิตของเอดิธ เปียฟ ผู้เป็นเพื่อนรัก ความเสียใจทำให้เขาหัวใจวายตายตามไปด้วย

ในฐานะจิตรกร ฌอง ก็อกโตเขียนภาพเฟรสโกให้โบสถ์เล็กที่วิลฟรองช์-ซูร์-แมร์ (Villefranche-sur-mer) และมิลลี-ลา-ฟอเรต์

บ้านของเขาที่มิลลี-ลา-ฟอเรต์ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เรียก Maison Cocteau ในปี 2010 เป็นบ้านที่เขาซื้อกับฌอง มาเรส์ในปี 1947 เพื่อแสวงหาความสงบ ด้วยว่าบ้านที่ปารีสถูกรบกวนอยู่เนืองๆ จากผู้ที่ต้องการคำแนะนำหรือข้อเขียนของเขา

ฌอง มาเรส์ไม่เคยมาพำนักที่บ้านนี้ เขาดังจากภาพยนตร์ที่ฌอง ก็อกโตสร้าง เช่น La belle et la bête, L’ternel retour, Orph?e ฌอง ก็อกโตจึงหันไปทุ่มเทให้กับรักใหม่ เป็นหนุ่มน้อยชื่อเอดูอารด์ แดร์มีต์ (Edouard Dermit) จวบจนเขาเสียชีวิตในปี 1995 พินัยกรรมของเขายกสมบัติส่วนใหญ่ให้รักสุดท้าย ผู้ได้รับประโยชน์อื่นๆ อาทิ ฌอง มาเรส์ การอล ไวส์ไวเลอร์ (Carole Weisweiler) มรดกที่เอดูอารด์ แดร์มีต์ได้รับมาตกทอดไปยังลูกชายชื่อสเตฟาน แดร์มีต์ (Stéphane Dermit)

ในปี 2002 ปิแอร์ แบร์เจ (Pierre Bergé) นักธุรกิจที่เป็นคู่ชีวิตของอีฟส์ แซงต์-โลรองต์ (Yves Saint-Laurent) ดีไซเนอร์ดัง ได้ซื้อบ้านนี้ร่วมกับองค์กรบริหารส่วนจังหวัด เพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์ อันเป็นที่รวบรวมผลงานเขียนและภาพเขียน รวมทั้งของใช้ส่วนตัวของฌอง ก็อกโต ของประดับบ้าน และภาพพอร์เทรตของเขาซึ่งเพื่อนอาร์ทิสต์วาดให้ เช่น แอนดี วาร์โฮล (Andy Warhol) แมน เรย์ (Man Ray) เออร์วิง เพนน์ (Irving Penn) ภาพถ่ายและผลงานของเพื่อนอย่างโกโก้ ชาแนล (Coco Chanel) เอลซา เชียปาเรลลี (Elsa Schiaparelli) ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) เอดูอารด์ มาเนต์ (Edouard Manet) คริสติออง เบรารด์ (Christian Bérard) เป็นต้น

ปิแอร์ แบร์เจได้พบกับฌอง ก็อกโตที่ภัตตาคาร Le Grand Véfour ย่านปาเลส์-รัวยาล (Palais-Royal) ในปี 1955 ต่างนั่งคนละโต๊ะ หากจบลงที่โต๊ะเดียวกัน และคบหาสนิทสนมนับแต่นั้น แม้เมื่อปิแอร์ แบร์เจย้ายไปยังโปรวองซ์ (Provence) ฌอง ก็อกโตก็ไปพักด้วย

ปิแอร์ แบร์เจเล่าความทรงจำเกี่ยวกับเพื่อน ฌอง ก็อกโตพำนักในย่านปาเลส์-รัวยาล (Palais-Royal) กับแม่ ณ เลขที่ 10 ถนนอองจู (rue d’Anjou) และพำนักย่านมาดแลน (Madeleine) กับคู่เชยคนแรกคือ เรย์มงด์ ราดิเกต์ (Raymonde Radiguet) ผู้เขียนเรื่อง Le diable du corps

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2011 เมืองมองต็ง (Menton) ทางใต้ของฝรั่งเศสเปิดพิพิธภัณฑ์ฌอง ก็อกโต (Musée Jean Cocteau) ด้วยว่าเซเวอริน วุนเดอร์มาน (Severin Wunderman) เศรษฐีชาวอเมริกันได้ยกงานศิลป์ที่เขาสะสมไว้แก่เมืองมองต็งในปี 2005 ทั้งหมด 1,800 ชิ้น เป็นผลงานของฌอง ก็อกโต 900 ชิ้น มีทั้งภาพเขียน ภาพลายเส้น หนังสือ เอกสารลายมือเขียน ภาพถ่าย น่าเสียดายที่เซเวอริน วุนเดอร์มานเสียชีวิตก่อนที่จะมีโอกาสลงเสาเอกพิพิธภัณฑ์ที่รวมงานศิลป์ที่เขาสะสม

ฌอง ก็อกโตเคยมาพำนักที่มองต็งระหว่างปี 1956-1958 เขาเขียนภาพเฟรสโก (fresco) ในห้องประกอบพิธีแต่งงานของสำนักงานเทศบาลเมืองมองต็ง

ใส่ความเห็น