วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > On Globalization > ชีวิตหลังตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ

ชีวิตหลังตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ

Column: women in wonderland

ทุกปีจะมีการประกาศรางวัลโนเบล หรือ Nobel Prize ให้กับผู้ที่มีผลงานโดดเด่น มีความเชี่ยวชาญ หรือสร้างคุณประโยชน์ให้กับมนุษยชาติในด้านต่างๆ โดยรางวัลโนเบลจะแบ่งออกเป็น 6 สาขาด้วยกัน คือ สาขาฟิสิกส์ เคมี การแพทย์ วรรณกรรม สันติภาพ และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งผู้ที่จะได้รับรางวัลในแต่ละสาขาอาจเป็นบุคคลที่มีผลงานเดี่ยว ผลงานคู่ หรือทำงานเป็นทีมก็ได้ โดยทีมหนึ่งมีได้สูงสุดแค่ 3 คนเท่านั้น และผู้ที่ได้รับรางวัลก็ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลเสมอไป อาจจะเป็นองค์กรก็ได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross หรือเรียกสั้นๆ ว่า ICRC) ก็เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมาแล้วถึง 3 ครั้ง ในขณะเดียวกัน ถ้าในปีนั้นคณะกรรมการไม่สามารถหาบุคคลเหมาะสมที่ควรจะได้รับรางวัลในสาขานั้นๆ ก็จะไม่มีการมอบรางวัล

ปี 2018 รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประกาศชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา และผู้ที่ได้รับรางวัลทุกคนจะขึ้นรับรางวัลพร้อมกันในวันที่ 10 ธันวาคม

ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้ คือ Nadia Murad หญิงสาวชนกลุ่มน้อยชาวอิรัก ที่ถูกไอเอสจับตัวไปทรมานและข่มขืน และ Dr. Denis Mukwega นรีแพทย์ชาวคองโก ที่ให้ความช่วยเหลือและรักษาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศในประเทศคองโก ซึ่งคณะกรรมการรางวัลโนเบลมองว่าบุคคลทั้งสองมีความพยายามอย่างสูงในการที่จะหยุดยั้งและยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศในฐานะอาวุธที่ถูกหยิบมาใช้ทุกครั้งในภาวะสงคราม

Nadia เป็นหญิงสาวชนกลุ่มน้อย Yazidi ในประเทศอิรัก เธอถูกกลุ่มไอเอสจับตัวไปทรมานและข่มขืนประมาณ 3 เดือน และเธอสามารถหลบหนีออกมาได้สำเร็จ เธอเริ่มรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์และเรียกร้องให้นานาประเทศมองเห็นความร้ายแรงในการใช้ความรุนแรงทางเพศอย่างการข่มขืนเป็นอาวุธในสงคราม Nadia จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งการปลดปล่อยชาว Yazidi ให้เป็นอิสระ นอกจากนี้เธอยังได้รับเลือกให้เป็นทูตสันถวไมตรีขององค์การสหประชาชาติสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์เป็นคนแรกอีกด้วย

Dr.Denis เป็นนรีแพทย์ชาวคองโก ที่ใช้เวลามากกว่า 10 ปีให้ความช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการข่มขืนในช่วงสงคราม ช่วงเวลาที่ผ่านมา Dr. Denis และทีมแพทย์น่าจะช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30,000 คน และเขาน่าจะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่สุดในการรักษาและเยียวยาจิตใจผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศในช่วงสงครามและมีอาการบาดเจ็บอยู่ในขั้นร้ายแรง

ในปี 2008 องค์การสหประชาชาติได้มอบรางวัล UN Human Rights Prize ให้กับ Dr.Denis และในปี 2009 เขายังได้รับรางวัล African of the Year อีกด้วย ปัจจุบัน Dr.Denis ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลของเขาเองในประเทศคองโก และได้รับการคุ้มครองอย่างถาวรจากกองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ Dr.Denis ได้ออกมาเรียกร้องให้ทุกประเทศใช้มาตรการที่รุนแรงและเด็ดขาดกับกลุ่มประเทศหรือผู้ที่ใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นอาวุธอย่างหนึ่งในการต่อสู้ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสงคราม

หลังจากการประกาศชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้ ทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องความรุนแรงทางเพศมากขึ้น และยิ่งกระแส #MeToo ได้รับความสนใจจากทั่วโลกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ยิ่งทำให้เรื่องความรุนแรงทางเพศได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีก

Nadia ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ The Guardian หลังจากทราบว่าเธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้ว่า 10 ปีที่แล้วตอนที่เธอถูกข่มขืนนั้น เธอไม่เคยคิดเลยว่า สื่อ ผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศ และผู้คนในสังคมจะตื่นตัวเรื่องนี้ได้ขนาดนี้ โดยเฉพาะสื่อให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน กระแส #MeToo ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหมือนปรากฏการณ์และรูปแบบการนำเสนอข่าวที่ผิดแปลกไปจากเดิมในการช่วยกันยุติความรุนแรงทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืน หรือการลวนลาม ซึ่งมีมานานแต่คนส่วนใหญ่กลับไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

แม้ว่าทั้ง Nadia Murad และ Dr.Denis Mukwega จะช่วยให้ผู้คนเห็นภาพทั้งด้านของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศในช่วงสงคราม แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธว่า การใช้ความรุนแรงทางเพศไม่ว่าจะเป็นในยามปกติหรือในยามสงครามก็ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นทั้งสิ้น เพราะล้วนส่งผลกระทบต่อความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรืองของสังคม นอกจากนี้ยังทิ้งบาดแผลไว้ในจิตใจของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ แม้ว่าเหยื่อจะบอกว่าตัวเองไม่เป็นอะไรก็ตาม

ทั้งกระแส #MeToo และการรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของ 2 นักเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้การข่มขืนเป็นเครื่องมือหรืออาวุธชนิดหนึ่งในสงคราม กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่สนใจและคิดว่าจำเป็นต่อการแก้ปัญหาคือ ระบบยุติธรรมในการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อต่างๆ ที่มุ่งประเด็นไปที่การจับตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้กระทำผิดได้หรือยัง และผู้กระทำผิดได้รับการลงโทษที่สมควรหรือไม่ แต่กลับไม่มีใครให้ความสนใจการเยียวยาจิตใจของผู้ตกเป็นเหยื่อเลย

Winnie M Li อธิบายเรื่องนี้เพิ่มเติมในหนังสือพิมพ์ The Guardian ว่า เธอถูกข่มขืนที่เมือง Belfast ในปี 2008 ตอนนั้นหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ รายงานข่าวของเธอจำนวนมาก ข่าวส่วนใหญ่มุ่งเน้นความสนใจไปที่คนที่ข่มขืนเธอนั้นโดนจับแล้วหรือยัง และเมื่อโดนจับแล้วเขาถูกตั้งข้อหาอะไรบ้าง และสุดท้ายได้รับโทษอย่างไร ในข่าวและสื่อต่างๆ ไม่มีใครพูดถึงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและรอดชีวิตมาได้อย่างเธอเลย สื่อทุกรูปแบบพูดถึงเธอแค่ว่า “นักท่องเที่ยวชาวจีน” ถูกข่มขืน และทุกคนก็คิดว่า เธอซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตจากการตกเป็นเหยื่อสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเดิม โดยไม่มีแม้แต่ความอับอาย บาดแผลภายในจิตใจและความเศร้าในการชีวิตต่อไป

ในความเป็นจริงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศและรอดชีวิตมาได้ทุกคน ไม่มีใครสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ผู้รอดชีวิตมักจะเป็นโรคเครียด ซึมเศร้า มีความวิตกกังวลสูง ขาดความมั่นใจในตนเอง และอาจจะทำให้ฝันร้าย หรือไม่สามารถลบภาพเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นได้ไปอีกหลายปีหรือเป็นสิบๆ ปี เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ แน่นอนว่าพวกเขาไม่สามารถทำงานและเรียนได้เหมือนเดิม ซึ่งส่งผลกระทบต่อไปถึงการตกงาน เรียนไม่จบ ปัญหาด้านการเงิน และสุดท้ายปัญหาด้านความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง คนรัก และหัวหน้างาน และแน่นอนว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่มักจะกลัวและวิตกกังวลในเรื่องความสัมพันธ์กับคนรักและการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้คนเหล่านี้มักจะไม่มีคนรักและครอบครัวในที่สุด หรือถ้าหากบางคนสามารถมีคนรักและสร้างครอบครัวได้ ครอบครัวของเขาก็จะประสบปัญหาหรือมีปัญหาซึ่งเป็นผลมาจากบาดแผลในจิตใจและความวิตกกังวลในเรื่องอื่นๆ ที่มากกว่าคนทั่วไป

อย่างกรณีล่าสุด เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ที่ประธานาธิบดี Donald Trump ได้เสนอชื่อนาย Brett Kavanaugh ให้เป็นคณะตุลาการศาลสูงคนใหม่ ซึ่ง Brett Kavanaugh จำเป็นที่จะต้องตอบคำถามต่อคณะกรรมาธิการด้านตุลาการของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา ที่เขาโดนข้อกล่าวหาว่า ล่วงละเมิดสตรีในสมัยเรียนชั้นมัธยมปลาย เมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว แม้ว่าในตอนนั้น Christine Blasey Ford จะไม่ได้ไปแจ้งตำรวจในเรื่องนี้ก็ตาม

Christine ได้ตอบคำถามคณะกรรมาธิการด้านตุลาการของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน โดยเธอเล่าว่า ในปี 1982 Kavanaugh และ Mark Judge เพื่อนของเขาได้จัดงานปาร์ตี้ขึ้น พวกเขาทั้งสองขังเธอไว้ในห้องนอน และ Kavanaugh พยายามที่จะข่มขืนเธอ และเมื่อเธอพยายามร้องขอความช่วยเหลือ Kavanaugh ก็เอามือปิดปากเธอ ซึ่งทำให้เธอกลัวมาก และเธอมั่นใจ 100% ว่า Kavanaugh เป็นคนที่พยายามจะข่มขืนเธอในคืนนั้น ในขณะที่ Kavanaugh ปฎิเสธว่า เขาไม่เคยพยายามที่จะข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ Ford เลยแม้แต่น้อย และวันนั้นเขาก็ไม่ได้อยู่ในงานปาร์ตี้ด้วย

นอกจาก Christine Blasey Ford แล้ว ยังมีผู้หญิงอีก 3 คน ที่กล่าวหาว่า Kavanaugh ล่วงละเมิดทางเพศต่อพวกเธอในช่วงที่เขากำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย Christine ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สื่อส่วนใหญ่สนใจแต่เรื่องกระบวนการยุติธรรมและการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ไม่มีใครให้ความสนใจชีวิตที่ต้องอยู่ต่อไปแบบมีบาดแผลภายในจิตใจของผู้รอดชีวิตจากการตกเป็นเหยื่อความรุนแรง อย่างกรณีของเธอ ที่หลังจากถูก Kavanaugh พยายามที่จะข่มขืนแล้ว เธอต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างไร ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเธอต้องเข้ารับการบำบัดทางจิตใจมาตลอด และพยายามที่จะใช้ชีวิตแบบคนปกติซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก

การช่วยเหลือเยียวยาผู้รอดชีวิตจากการตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย เพียงแต่ชีวิตของพวกเขาเหล่านี้จะไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมอีก ดังนั้นเมื่อมีการพูดเรื่องนี้ จึงไม่ควรมองว่ามันเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเรื่องสำคัญด้านสาธารณสุขที่จะต้องช่วยกันแก้ไขด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศจำนวนมาก แต่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้เปิดเผยเรื่องราวหรือแจ้งความ ซึ่งดูได้จากผู้คนจำนวนมากที่เล่าเรื่องของตัวเองผ่าน #MeToo และบอกว่าไม่แจ้งความดำเนินคดีหรือไม่มีการรายงานเรื่องการใช้ความรุนแรงทางเพศในที่ทำงาน ดังนั้นทุกประเทศและทุกองค์กรควรให้ความสำคัญในเรื่องการเยียวยาจิตใจผู้ที่ตกเป็นเหยื่อด้วยเช่นกัน ควรจะต้องมีหน่วยงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือและให้ความช่วยเหลือในด้านใดบ้าง เพื่อให้คนเหล่านี้มีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในอนาคต
Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/victim-1174087

ใส่ความเห็น