วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ชาลี โสภณพนิช แผน “ซิตี้แคมปัส” รุกโปรเจกต์มิกซ์ยูส

ชาลี โสภณพนิช แผน “ซิตี้แคมปัส” รุกโปรเจกต์มิกซ์ยูส

การทุ่มเม็ดเงิน 2,600 ล้านบาท ขยายโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพ แคมปัสแห่งใหม่ เนื้อที่ 15 ไร่ ใจกลางกรุงเทพฯ ระหว่างถนนสุขุมวิทกับถนนพระราม 9 ของนักลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง “ชาลี โสภณพนิช” เป้าหมายไม่ใช่แค่การสานอุดมการณ์การสร้างโรงเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษาที่ดีที่สุดในประเทศไทย แต่ยังเป็นการต่อยอดธุรกิจสร้างโปรเจกต์มิกซ์ยูสในเนื้อที่อีกหลายสิบไร่ หลังประสบความสำเร็จกับการบุกเบิกโรงเรียนโชรส์เบอรี ริเวอร์ไซด์ แห่งแรกเมื่อ 15 ปีก่อน จนกลายเป็น “จิ๊กซอว์” สำคัญของโครงการต่างๆ ในย่านเจริญกรุง

ชาลี ในฐานะผู้ก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ซิตี้เรียลตี้ จำกัด ยืนยันว่า เขาไม่ได้คาดหวังรายได้และกำไรจากตัวโรงเรียน โดยประเมินจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 5-10 ปี จากจำนวนนักเรียนประมาณ 640 คน อัตราค่าเล่าเรียนเริ่มต้น 640,000 บาทต่อปี

แต่โชรส์เบอรีจะเป็นหมุดสำคัญที่ดึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเข้ามาหมุนเวียนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว ภายใต้แผนก่อสร้างโครงการ “มิกซ์ยูส” เนื้อที่อีก 30 ไร่

ตามแผนเบื้องต้น บริษัทเตรียมเงินลงทุนอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท สร้างโครงการเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ขนาด 300 ห้อง บนพื้นที่ 5 ไร่ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านที่พักให้บรรดาอาจารย์ในโรงเรียน รวมถึงกลุ่มผู้ปกครองของนักเรียนและคนทั่วไปที่ต้องการพักอาศัยในชุมชนการศึกษาที่มีสภาพแวดล้อมดีเยี่ยม เนื่องจากบริเวณถนนพระราม 9 ถือเป็นย่านธุรกิจ อาคารสำนักงาน และชุมชนหนาแน่น มีเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งจะมีสถานีจอดด้านหน้าโรงพยาบาลปิยะเวท ทางเข้าโครงการ

ก่อนหน้านี้ บริษัทซิตี้เรียลตี้ได้พัฒนาที่พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง ประเภทคอนโดมิเนียม i-biza จำนวน 4 อาคาร แบ่งเป็นอาคารขาย 2 ตึก และอาคารเช่าอีก 2 ตึก รวมพื้นที่ 6ไร่ ซึ่งหลังจากโรงเรียนโชรส์เบอรีเปิดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2561 แผนการพัฒนาโปรเจกต์มิกซ์ยูสจะมีความชัดเจนและสามารถเพิ่มเติมโครงการต่างๆ เชื่อมต่อกับย่านอาร์ซีเอ และรองรับโครงการต่างๆ บริเวณจุดตัดพระราม 9 และถนนรัชดาภิเษก ซึ่งมีทั้งโครงการพัฒนาขนาดยักษ์ แหล่งธุรกิจขนาดใหญ่และแหล่งท่องเที่ยว

ชาลีกล่าวว่า เมื่อ 15 ปีก่อนที่ตัดสินใจลงทุนสร้างโรงเรียนโชรส์เบอรี ริเวอร์ไซด์ ที่เจริญกรุง คิดว่าตลาดมีความต้องการโรงเรียนนานาชาติที่มีคุณภาพจริงๆ ดีจริงๆ แตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆ ยังไม่ได้คิดถึงแผนต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ผลจากโชรส์เบอรี กรุงเทพ-ริเวอร์ไซด์ ทำให้เห็นชัดเจน โรงเรียนนานาชาติสามารถเกื้อหนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยิ่งตลาดมีความต้องการมาก ยิ่งเกื้อหนุนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากสำรวจโครงการต่างๆ ของบริษัท ซิตี้เรียลตี้ ถือว่า ชาลีลงทุนแบบเงียบๆ เหมือนนิสัยส่วนตัวที่ไม่ค่อยชอบออกสื่อตั้งแต่ยุคชาตรี โสภณพนิช ผู้เป็นพ่อประกาศตั้งบริษัท ซิตี้ เรียลตี้ จำกัด เมื่อปี 2530 และมอบหมายให้เขาเป็นตัวหลักทำธุรกิจด้านที่ดินของครอบครัว

ช่วงเวลากว่า 30 ปี ซิตี้เรียลตี้ มีโครงการที่สร้างชื่อ คือการพัฒนาย่านธุรกิจและแหล่งบันเทิงใหม่ที่ถนนพระราม 9 อย่าง อาร์ซีเอ (RCA) การพัฒนาอาคารสำนักงาน โครงการบางกอก การ์เด้น สาทรซิตี้ ทาวเวอร์ และคอนโดมิเนียมในย่านพระราม 9 มูลค่าการลงทุนรวมเป็นหลักหมื่นล้านบาท ถือเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีทั้งฐานทุนใหญ่อย่างโสภณพนิช บวกกับทีมผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารกรุงเทพ

จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 บริษัท ซิตี้ เรียลตี้ ซุ่มเก็บตัวทำธุรกิจ เน้นพัฒนาโครงการที่สร้างรายได้จากการเช่าเป็นหลักและทำธุรกิจแบบรอบคอบ เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนโดยปัจจุบันบริหารโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการอาคารเอ็มโพเรียม โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ โครงการริเวอร์ไซด์การเด้น มารีน่า โครงการบางกอกการ์เด้น โครงการไอเฮ้าส์ โครงการที่อยู่อาศัยที่พัฒนาโดยบริษัท ซิตี้วิลล่า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของซิตี้ เรียลตี้ ตั้งอยู่หลังอาคารสำนักงานอาร์ซีเอ บนถนนพระราม 9

ปี 2559-2560 เมื่อเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ชาลีทยอยเปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ๆ แต่ยังเดินหน้าอย่างรอบคอบ ใช้เวลาพิจารณาทำเลที่มีศักยภาพเนื่องจากมีที่ดินอยู่ในมือจำนวนมาก และที่สำคัญ คือการเลือกพันธมิตร เพื่อกระจายความเสี่ยงในโครงการขนาดใหญ่

ปีที่ผ่านมา บริษัท ซิตี้เรียลตี้ ประกาศจับมือกับบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) และกลุ่มเดอะมอลล์ของตระกูลอัมพุช ผุดโครงการมิกซ์ยูส “แบงค็อก มอลล์” (The Bangkok Mall) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมขนาดใหญ่ และโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสาธารณะ ริมถนนบางนา-ตราด ตรงข้ามศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค คาดจะเปิดให้บริการภายในปี 2565 ซึ่งจะกลายเป็นโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่รวม 650,000 ตารางเมตร เนื้อที่ 100 ไร่ มูลค่าลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท

ภายในโครงการประกอบด้วยอาคารศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ อาคารสำนักงานให้เช่า โดยวางรูปแบบ City within the City หรือเมืองในเมืองที่สมบูรณ์แบบ ใช้สถาปัตยกรรม The Ultra Modern & Spectacular Architecture

เนื้อที่หลักๆ แบ่งเป็นส่วนของศูนย์การค้า 80 ไร่ มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท และโครงการอสังหาริมทรัพย์อีก 17 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการหลักของซิตี้เรียลตี้ ได้แก่ อาคารสำนักงาน “ชาเทรียมทาวเวอร์” โรงแรมชาเทรียม 498 ยูนิต และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ชาเทรียม เรสซิเดนซ์ 664 ยูนิต มูลค่าโครงการ 10,000 ล้านบาท ซึ่งตามแบบจะพัฒนาเป็นอาคารสูง 40 ชั้น 3 อาคาร และสูง 52 ชั้น 1 อาคาร

ขณะที่พื้นที่อีกส่วนประมาณ 7.5 ไร่ กลุ่มพันธมิตรวางแผนก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารสายตะวันออก ประกอบด้วยชานชาลาเทียบรถขนาดใหญ่และชานชาลาเทียบรถตู้ร่วมให้บริการ โดยจะย้ายท่ารถตู้ร่วมให้บริการที่ตั้งอยู่ด้านหน้าโครงการ เข้ามารวมกับตัวสถานีขนส่งภายในโครงการ พื้นที่พักคอยผู้โดยสาร บริเวณชั้น G ของศูนย์การค้า ซึ่งออกแบบในลักษณะเดียวกับโถงผู้โดยสารของสนามบิน

แน่นอนว่า การมีพันธมิตรยักษ์ค้าปลีกอย่างเดอะมอลล์ กรุ๊ป มีโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรีอยู่ในมือและมีพันธมิตรด้านอสังหาริมทรัพย์ย่อมหมายถึงการผุดโครงการมิกซ์ยูสที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น และยังหมายถึงโอกาสในต่างประเทศ ซึ่งชาลีเปิดเผยว่า โรงเรียนโชรส์เบอรีมีแผนขยายแคมปัสในประเทศต่างๆ แถบเอเชีย เพื่อสร้างตลาดใหม่ๆ โดยในปี 2561 จะเปิดแคมปัสในฮ่องกง และกลุ่มโสภณพนิชกำลังศึกษาเพื่อลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการในจีน เปิดโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กวางเจา ประเทศจีน ในปี 2562-2563

ดังนั้น แผนโครงการมิกซ์ยูสจาก “แคมปัส ริเวอร์ไซด์” ถึง “ซิตี้แคมปัส” กำลังต่อยอดสู่โครงการใหม่ พื้นที่ใหม่ ซึ่งอาจไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่สามารถยิงยาวไปไกลถึงต่างประเทศด้วย

ใส่ความเห็น