วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > จับตาอโยธยา 4.0 บนหนทางสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน

จับตาอโยธยา 4.0 บนหนทางสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน

สายลมที่พัดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ปะทะสไบของหญิงสาวจากยุคดิจิทัล ชายสไบปลิวไสวลู่ไปตามแรงลม รอยยิ้มที่ฉาบอยู่บนใบหน้ายามต้องแสงอาทิตย์ท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนอบอ้าว ยิ่งทำให้ดวงหน้านั้นน่ามองยิ่งขึ้น

หากแต่คงจะดีกว่านี้หากไม่มีแว่นดำกันแดดบดบังนัยน์ตาสวยใสเอาไว้ พร้อมกับสมาร์ทโฟนในมือที่กลายเป็นอวัยวะชิ้นใหม่ที่เรียกกว่าขาดออกจากร่างกายไม่ได้แม้สักเพียงชั่วลมหายใจหนึ่ง

เสียงบรรยายดังมาจากบริเวณโดยรอบพื้นที่วัดไชยวัฒนาราม ที่เจ้าหน้าที่ของอุทยานกำลังอธิบายปูมหลัง ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสถานที่ให้แก่นักท่องเที่ยวที่สนใจใคร่รู้

ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่ที่นุ่งโจงห่มสไบตามกระแสละครกำลัง selfie เพื่อเก็บภาพตัวเองกับสถานที่ทางประวัติศาสตร์เป็นที่ระลึก แม้ส่วนหนึ่งจะมีเหตุผลเพื่อตามรอยละครดังก็ตาม

กระนั้นการแต่งกายด้วยชุดไทยไปยังสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในห้วงยามนี้ แท้จริงแล้วเริ่มต้นมาตั้งแต่งาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

แม้ว่าความเป็นไปที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในเวลานี้ หลายอย่างจะเป็นเพียงกระแสที่ผู้คนแห่แหนทำตามกันไป แต่นัยหนึ่งต้องยอมรับว่าท่ามกลางกระแสเหล่านั้น ล้วนแต่มีกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ ที่สร้างสีสันให้น่าดูน่ามองอยู่ไม่น้อย

หากแต่จะมองให้ลึกลงไปอีกมิติ กลับมีคำถามให้ชวนขบคิดว่า ผู้คนเหล่านั้นเข้าใจความหมายของชุดไทยมากน้อยเพียงใด หรือชุดไทยนั้นๆ เป็นชุดที่เคยใช้ในยุคใด สมัยใด หรือการแต่งให้ครบเครื่องนั้นต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

หลังจากแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีนักท่องเที่ยวชาวไทยให้ความสนใจและเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น แม้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่กลับมีประเด็นให้หลายฝ่ายต้องระดมสมองว่าจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในเวลานี้ เป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ไม่ใช่เป็นเพียงกระแสแล้วผ่านพ้นไป

กระทั่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. จัดเสวนาในหัวข้อ “อโยธยา 4.0 สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” โดย สุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา บอกกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “ในวันปกติมีนักท่องเที่ยวไม่ถึงพันคน แต่หลังจากละครออกอากาศมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ตอนนี้วันละประมาณ 5 พันคนในวันธรรมดา และวันเสาร์วันอาทิตย์ประมาณ 25,000 คน ต้องยอมรับว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นมีผลกระทบต่อสถานที่ ในแง่ของการรักษาความปลอดภัย การควบคุมดูแลนักท่องเที่ยว เพราะมีนักท่องเที่ยวไปนั่งถ่ายรูปในจุดที่ไม่ควร ไม่เหมาะสม และเราต้องขยายเวลาปิดเป็นสามทุ่ม ต้องจัดเจ้าหน้าที่เพิ่ม”

ขณะที่ปัญหาในการรองรับความตื่นตัวของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวยังอุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา จะส่งผลกระทบอยู่บ้างในช่วงแรก ทั้งการจัดระเบียบการจราจร ปัญหาที่จอดรถ กระนั้นปัญหาเหล่านั้นกลับได้รับการคลี่คลายภายในเวลาอันรวดเร็ว

“ในวิกฤตดังกล่าว เราเปลี่ยนให้เป็นโอกาส โดยสอดแทรกเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถาน อธิบายให้นักท่องเที่ยว สร้างให้เกิดความเข้าใจ ว่าพฤติกรรมใดควร พฤติกรรมใดไม่ควรปฏิบัติ” สุกัญญาเสริม

แม้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นจะส่งผลดีต่อทั้งระบบ ตั้งแต่สถานที่ ที่มีรายได้จากการเก็บค่าบัตรผ่านประตู ร้านรวงที่ขายสินค้าที่ระลึก ร้านอาหาร และชุมชนโดยรอบสถานที่ท่องเที่ยวได้รับอานิสงส์จากกระแสการท่องเที่ยวที่ตื่นตัวไปโดยปริยาย

กระนั้นคำถามที่ตามมาคือ เมื่อละครจบแล้ว กระแสเหล่านี้จะยังคงหลงเหลืออยู่อีกหรือไม่ เมื่อมีความจริงที่ต้องยอมรับโดยดุษณีว่า “คนไทยบางส่วนนิยมวิ่งตามกระแส” ซึ่งสวนทางกลับแนวทางของบางประเทศในทวีปเอเชีย ที่สร้างวัฒนธรรมใหม่และสอดแทรกเข้าไปในศิลปะหลายแขนงจนเกิดกระแสฟีเวอร์ได้อย่างต่อเนื่อง อย่างประเทศเกาหลีใต้

“กระแสเหล่านี้มาแล้วก็หายไป แต่เกาหลีใต้กลับสร้างกระแสออกมาได้แข็งแรงกว่า สร้าง Culture ลงในภาพยนตร์ ในซีรีส์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด ซึ่งเราขาดโอกาสที่จะสอดแทรกความเป็นไทยในละคร แต่ต้องยอมรับว่า ละครบุพเพสันนิวาสทำได้ ซึ่งเจ้าของบทประพันธ์ ได้ใส่ความอยากรู้อยากเห็นลงไปในคาแรกเตอร์ของตัวเอก ซึ่งเป็นตัวละครที่จับใจคนได้ง่าย เราเองพยายามเข้าใจในกระแส แต่จะไม่โหนกระแส” น้ำฝน บุณยะวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อธิบาย ก่อนจะชี้ประเด็นว่าทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวอยุธยายั่งยืนแม้ละครลาจอไปแล้วว่า

“ต้องทำให้อยุธยา Alive อีกครั้ง อาจจะต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาทำให้เห็นภาพ นี่คือ การฝันใหญ่ของ ททท. และต้องถามว่า คนอยุธยาคิดเห็นอย่างไรกับการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ต้องการแค่ขายของ ให้เช่าชุดไทย คนเที่ยวตามกระแส พอใจแค่นี้ไหม หรืออยากให้คนมาท่องเที่ยวแบบรักอยุธยา การท่องเที่ยวของเราขาดการเล่าเรื่องอย่างถูกต้อง แต่สนุก เราใช้ Marketing นำ Content ซึ่งควรต้องกลับกัน”

ขณะที่กิตติพันธ์ พานสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม แสดงทัศนะต่อกรณีดังกล่าวว่า “ละครทำให้โอกาสที่คนจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์มีมากขึ้น ซึ่งทั้งภาพยนตร์และละครมีอิทธิพลต่อประชาชนอย่างมาก ทำให้อยากรู้จัก อยากไปสถานที่จริง จึงอยากให้ผู้สร้างหนังใช้โลเกชั่นที่สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมไทยมากหน่อย เพราะนั่นเป็นโอกาสในการเผยแพร่สถานที่ท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง”

นอกจากนี้ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมมีความเห็นต่อการสร้างความยั่งยืนให้เกิดแก่การท่องเที่ยวอยุธยาว่า “เราต้องบูรณาการร่วม แม้ว่ากระแสการแต่งชุดไทยที่มีตอนนี้คงจะอยู่อีกไม่นาน ผมมีความคิดอยากใช้นวัตกรรมเพื่อรักษาบรรยากาศแบบนี้เอาไว้ หรือการให้คนในพื้นที่เห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากนักท่องเที่ยว ขณะที่นักท่องเที่ยวเองก็ต้องได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง เพื่อให้เกิดการเดินทางมาท่องเที่ยวซ้ำอีก แต่ปัญหาหลักคือ ความมีวินัยของคนไทย เพราะต้องยอมรับว่า คนไทยนิยมความ ‘สะดวกดี’ ซึ่งส่งผลเสียในภาพรวม”

แม้ว่าการท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ หากแต่สถานที่อื่นๆ โดยรอบล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะเกื้อหนุนให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในพื้นที่ สภาพการจราจร

ทั้งนี้ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชี้ให้เห็นประเด็นที่แตกต่างออกไปว่า “กรมศิลปากรบริหารจัดการอยุธยาได้เป็นอย่างดี แต่พอออกนอกพื้นที่กลับไม่ได้ดูแล เพราะไม่ได้อยู่ในส่วนที่รับผิดชอบ ซึ่งเราควรมองอย่างองค์รวม ไม่ใช่แค่พื้นที่ท่องเที่ยว โบราณสถานที่ต้องพิจารณา แต่องค์ประกอบอื่นๆ ก็สำคัญ เช่น ผังเมือง การจราจร งานวิจัยที่จะต่อยอดกับการท่องเที่ยวก็ทำได้ในหลายมิติ ไม่ใช่เพียงเรื่องทางสถาปัตยกรรมเท่านั้น”

ซึ่งความเห็นนี้สอดคล้องกับแนวทางของ สกว. โดย ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงาน สกว. ที่ว่า “อยากเห็นภาพอยุธยาที่ทรงคุณค่า และความทรงจำต่อคนรุ่นใหม่ สกว.เองมีความพร้อมที่จะสนับสนุนงานวิจัยดังกล่าว เพราะรัฐบาลเองก็เปิดช่อง”

แม้ว่าการมองภาพของสถานการณ์ที่กำลังดำเนินไปอยู่ในขณะนี้ทำให้เรายอมรับความจริงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากแต่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวในจังหวัดอยุธยายั่งยืนสมกับยุค 4.0 จะยังไม่ชัดเจนเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก เพราะส่วนใหญ่มองที่เรื่องของความมีวินัย และจิตสำนึก ที่คนไทยควรสร้างให้เกิดขึ้นในใจของตนเอง

หากแต่บางความคิดน่าจะสามารถต่อยอด และหนุนให้เกิดขึ้นจริงได้ แน่นอนว่าโจทย์ที่ขบคิดกันอยู่นั้น ไม่ใช่เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่ต้องหาทางออก และแก้ไขร่วมกันเท่านั้น แต่อย่างน้อยบางความคิดก็สามารถนำร่องให้เข้าใกล้ความยั่งยืนได้

“อยุธยายังอยู่ที่เดิม แต่เราต้องมาเที่ยวแบบมีวัฒนธรรม จิตสำนึกที่ดี คือสิ่งที่ การท่องเที่ยวอยากเห็น” น้ำฝน บุณยะวัฒน์ ทิ้งท้าย

 

ใส่ความเห็น