วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Life > ความล่มสลายของชุมชน ภายใต้นามของการพัฒนา

ความล่มสลายของชุมชน ภายใต้นามของการพัฒนา

ความเคลื่อนไหวในเขตชุมชนเมืองพระนครในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานอกจากจะมีการชุมนุมเรียกร้องสิทธิการอยู่ในพื้นที่ของชาวหมู่บ้านบางกลอยที่กำลังเป็นประเด็นว่าด้วยการไล่รื้อและทวงคืนพื้นที่ผืนป่าในนามของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมใกล้ทำเนียบรัฐบาลพร้อมกับการจัดตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า ในอีกด้านหนึ่งชุมชนชาวสามเสน-บางลำพู-พระสุเมรุ กำลังพะวักพะวงกับข่าวแนวเขตเวนคืนเพื่อสร้างรถไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

ความเป็นไปของการอนุรักษ์และการพัฒนาในสังคมไทยดูจะเป็นประเด็นเปราะบางที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนแต่ละแห่งอย่างต่อเนื่องตลอดมา ขึ้นอยู่กับว่ากลไกรัฐจะเอ่ยอ้างเหตุผลในการกระทำต่อประชาชนในพื้นที่อย่างไร ซึ่งนั่นล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของชุมชนอย่างไม่อาจเลี่ยงได้

หากลองย้อนพิจารณาในกรณีของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยและใจแผ่นดินเขตรอยต่อไทย-เมียนมา เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่กลับมาเป็นประเด็นสาธารณะอีกครั้ง หลังจากที่อุทยานแห่งชาติ “แก่งกระจาน” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิด “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่งผลให้เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ยุติปฏิบัติการ และยุติการจับกุมชาวบ้านทุกคน พร้อมคืนสิทธิพื้นที่อาศัยทำกิน ตามวิถีชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ซึ่งต่อมาศาลปกครอง มีคำวินิจฉัยว่าบ้านบางกลอย เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 และให้ยุติการจับกุม แม้ศาลปกครองจะมีคำวินิจฉัยดังกล่าว หากแต่ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยก็ไม่สามารถกลับเข้าพื้นที่ของบรรพบุรุษได้ เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองพื้นที่ สร้างความผิดหวังให้กับชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยไม่น้อย

ความด่างพร้อยของประพฤติการจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในกรณีของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ถูกผลิตซ้ำให้เห็นในกรณีของยุทธการตะนาวศรี ซึ่งเจ้าหน้าที่รุกเข้าไปเผาทำลายบ้านเรือนชาวกะเหรี่ยง และยังเกี่ยวโยงกับโศกนาฏกรรมเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำของทหารตกบริเวณ อ.แก่งกระจาน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากถึง 17 ศพ ขณะส่งเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติการอพยพ ผลักดัน จับกุมชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่แนวชายแดน

กรณีดังกล่าวทำให้หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติแรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น พยายามผลักดันและเรียกร้องให้รัฐบาลนำเสนอนโยบายที่ชัดเจนออกมาเพื่อแก้ไขข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมีมายาวนาน เพราะยังมีชาวบ้านทั่วประเทศ อยู่ในเขตป่าเป็นล้านคน อยากให้อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข และควรให้พวกเขาได้ทำมาหากินแบบพอเพียง น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการจับกุมคุมขังอย่างที่เป็นอยู่ โดยนายกรัฐมนตรีควรต้องเข้ามาแก้ไข เพื่อให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติงานให้สอดคล้องกัน เพราะหลายหมู่บ้านสามารถอยู่ได้ ยกเว้นพื้นที่ในบางกลอย และใจแผ่นดินเท่านั้นที่มีปัญหา ชาวกะเหรี่ยงถูกกล่าวหาว่าทำไร่หมุนเวียน ทั้งที่ที่อื่นก็สามารถทำได้

ประเด็นที่น่าสนใจของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยใจแผ่นดินก็คือ หมู่บ้านบางกลอยบนใจแผ่นดิน มีคนอาศัยมานานนับพันปีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยแผนที่ทหารระบุว่าเป็นหมู่บ้านชัดเจน และศูนย์พัฒนาชาวเขา กรมประชาสังเคราะห์เคยสำรวจเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2528 กระทั่งปี 2531 มีการทำทะเบียนชาวเขา โดยชาวบ้านอยู่กระจัดกระจายกันหลายร้อยคน ต่อมาในปี 2539 ชาวบางกลอยถูกย้ายมาอยู่ข้างล่าง แต่อยู่ไม่ได้จึงย้ายกลับขึ้นข้างบน จนเกิดยุทธการตะนาวศรี เผาบ้านชาวบ้าน ต่อสู้ในศาลมาหลายปี กระทั่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าบ้านบางกลอยเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเป็นท้องถิ่นดั้งเดิม ชาวบ้านมีสิทธิกลับไปได้

ความพยายามของกลไกรัฐในการขับไล่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยออกจากพื้นที่ป่าแก่งกระจานในด้านหนึ่งเกี่ยวเนื่องกับความพยายามของรัฐไทยในการผลักดันพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งไทยมีความพยายามมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว หากแต่การเปิดยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร และอีกหลากหลายยุทธการในช่วงที่ผ่านมา กลับยิ่งเป็นผลเสียต่อการได้รับพิจารณา เนื่องจากยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงอย่างต่อเนื่อง

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือแก่งกระจานไม่ใช่พื้นที่แรกที่ขอมรดกโลก แต่มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเคร่งครัดยิ่งกว่าเขตอุทยานฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนสำเร็จ และมีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ 6 หมู่บ้าน ไม่รวมรายย่อยๆ แต่ทุกอย่างกลับดำเนินไปอย่างราบรื่นได้ด้วยดีไม่มีปัญหา ราบรื่นดี และไม่มีต่างชาติออกมาตำหนิ

ชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการล่มสลายของชุมชนภายใต้แนวคิดว่าด้วยการอนุรักษ์ แต่อาจไม่มีใครในเขตเมืองให้ความสนใจและการเป็นชาวกะเหรี่ยงทำให้เรื่องราวของบ้านบางกลอยดูจะไกลออกไปจากความสำนึกร่วม ซึ่งดูจะต่างจากกรณีของชุมชนวัดเอี่ยมวรนุช ในเขตพระนคร กรุงเทพฯ ที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากแนวเขตการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ โดยวัดที่มีผืนที่ดินประมาณ 2 ไร่ 2 งานแห่งนี้กำลังจะถูกเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีบางขุนพรหม ก่อนที่กรณีดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากสาธารณะจากการเผยแผร่ในเครือข่ายสังคม Social Network

กรณีของวัดเอี่ยมวรนุชได้รับการตอบสนองจากกลไกรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมิติที่แตกต่างออกไปจากกรณีของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยอย่างไม่อาจเทียบ ในด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะสังคมไทยให้ค่ากับพุทธศาสนา ซึ่งมีวัดเป็นสัญลักษณ์หลัก ทำให้เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ของรัฐสภา ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย วัดเอี่ยมวรนุช การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และผู้เสนอเรื่องโดยประธานชมรมพิทักษ์พระพุทธศาสนา เข้าร่วมหารือเพื่อพิจารณาศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเวนคืนที่ดินวัดเอี่ยมวรนุช เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ผลของการประชุมหารือนำไปสู่การหากระบวนการหลายวิธีที่จะทำให้ไม่กระทบต่อวัดเอี่ยมวรนุช ด้วยเพราะจุดทางขึ้นลงจะอยู่บริเวณวัดเอี่ยมวรนุชพอดี โดยมีอยู่หลายวิธีที่แก้ปัญหาทางขึ้นลงนี้ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเป็นจุดอื่นด้านข้าง ซึ่งจะต้องทำ EIA ใหม่ วิธีรอนสิทธิ์ คือคืนสิทธิ์บนผิวดินให้วัดหลังสร้างเสร็จ และใช้เขตนอกกำแพงวัด แต่จะใช้เพียงตึกแถวที่เช่ากับวัด ซึ่งวิธีที่ 3 ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดโดย รฟม. จะปรับภูมิทัศน์ให้สัมพันธ์กับวัดให้เหมาะสมและสวยงามอันจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายต่อไป

กรณีการแก้ปัญหาให้กับวัดเอี่ยมวรนุช อยู่บนฐานวิธีคิดที่ว่าวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่โบราณ สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2327 กว่า 250 ปีมาแล้ว ด้วยกระบวนการเวนคืนมีกฎหมายที่เป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งประชาชนในพื้นที่ไม่สบายใจที่วัดจะถูกเวนคืนที่ดิน อีกทั้งศิลปะที่เห็นในวัดสามารถปรากฏเป็นหลักฐานจะนำไปสู่การให้ความรู้จากบรรพบุรุษของไทยสู่ชนรุ่นหลังผ่านศิลปะที่ปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่วัด จึงได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขบรรเทาผลกระทบอย่างรวดเร็ว และถือเป็นการอนุรักษ์และรักษาพระพุทธศาสนาที่บรรพบุรุุษของไทยได้ฝากฝังไว้ให้กับชาวพุทธรุ่นหลัง

ทั้งนี้ ครม. อนุมัติร่างระเบียบการเวนคืนที่ดิน เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่ง รฟม. สำรวจเวนคืนที่ดินไปแล้ว กว่า 102 ไร่ รวม 410 แปลง และบ้านอีก 264 หลัง ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในเดือนสิงหาคมนี้ ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี ซึ่งย่อมนำไปสู่การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์และวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนตลอดแนวเส้นทางแห่งการพัฒนานี้ไม่น้อยเลย.

ใส่ความเห็น