วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > คลายล็อกระยะสอง โอกาสฟื้นตัวของธุรกิจ

คลายล็อกระยะสอง โอกาสฟื้นตัวของธุรกิจ

ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจมีต้นเหตุปัจจัยมาจากหลายด้าน ทั้งสงครามการค้า ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า ความขัดแย้งระหว่างประเทศ Digital Disruption และการแพร่ระบาดของโรคร้าย

ทั้งหมดทั้งมวลกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องสร้างความพร้อมที่ไม่ใช่แค่เพียงการตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่เป็นความพร้อมในการที่จะฟันฝ่าอุปสรรคที่จะส่งผลกระทบและอาจสร้างความเสียหายต่อธุรกิจด้วย

สงครามการค้า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ หรือ Digital Disruption เสมือนด่านหน้าที่เข้ามาปะทะกับผู้ประกอบการธุรกิจ และเหมือนเป็นบททดสอบความแข็งแกร่ง รวมไปถึงศักยภาพที่จะต่อกรกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ทว่า การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 คล้ายจะเป็นตัวร้ายในด่านสุดท้ายของการประลองสรรพกำลังของผู้ประกอบการธุรกิจ ว่าจะสามารถยืนหยัดต่อสู้และผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้หรือไม่

เมื่อความแตกต่างของอุปสรรคในครั้งนี้ส่งผลให้ธุรกิจจำต้องหยุดดำเนินกิจการเป็นการชั่วคราวในช่วงที่มีการระบาด

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในไทยอยู่ในหลักหน่วยเป็นเวลาหลายสัปดาห์ติดต่อกัน ทำให้ภาครัฐตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการหลายด้านเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับไปดำเนินชีวิตในวิถีใหม่ได้ รวมไปถึงเศรษฐกิจในระดับฐานรากค่อยๆ ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วย

รัฐบาลประกาศคลายล็อกในระยะที่สอง เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีผลให้ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หลายกิจการและกิจกรรมสามารถเปิดดำเนินการได้ ภายใต้กรอบความปลอดภัยด้านสาธารณสุขเป็นที่ตั้ง

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจจากหลายสถาบันเริ่มประเมินสถานการณ์ว่า หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงแล้ว ธุรกิจที่ถูกฟรีซไว้ในช่วงล็อกดาวน์ จะใช้เวลานานแค่ไหนในการฟื้นตัว

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินการฟื้นของธุรกิจหลังปลดล็อกโควิด-19 ออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก ฟื้นแบบ V-Shape กลุ่มสินค้าจำเป็นและพึ่งพิงตลาดในประเทศ กลุ่มสอง ฟื้นแบบ U-Shape กลุ่มที่ได้รับผลดีจากการทยอยปลดล็อกดาวน์ตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ซึ่งธุรกิจที่ฟื้นตัวแบบ V และ U มีสัดส่วนการจ้างงานกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น 11 ล้านคน และกลุ่มสาม ฟื้นแบบ L-Shape เป็นกลุ่มที่แม้จะคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ยังคงมีอยู่ และยังมีปัจจัยเสี่ยงจากโครงสร้างภายในธุรกิจ ผู้ประกอบการควรปรับกลยุทธ์ในการฟื้นตัวธุรกิจของตนเอง

ทั้งนี้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินแนวโน้มลักษณะการฟื้นตัวของภาคธุรกิจภายหลังการทยอยผ่อนคลายล็อกโดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ความน่าจะเป็นในการทยอยปลดล็อกทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกของแต่ละธุรกิจ รวมถึงความจำเป็นของลักษณะสินค้าต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้บริโภค 2. ปัจจัยเสี่ยงด้านโครงสร้างธุรกิจที่มีอยู่เดิมและมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบอย่างหนักแม้ปลดล็อกดาวน์ไปแล้ว เนื่องจากกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว

จากการวิเคราะห์ร่วมกัน 2 ปัจจัยดังกล่าว พบว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจหลังปลดล็อกดาวน์ สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มการฟื้นตัวดังนี้

1. กลุ่มธุรกิจฟื้นแบบ V-Shape (ภายใน 3 เดือน) ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค บรรจุภัณฑ์ โรงพยาบาล/คลินิกและยารักษาโรค ฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู อาหารสัตว์ ไอทีและสื่อสาร กลุ่มนี้จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาจากลักษณะสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน และส่วนใหญ่พึ่งพิงตลาดในประเทศ ซึ่งทำให้ธุรกิจเหล่านี้ยังคงการจ้างงานที่มีอยู่จำนวน 4.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 29.6 เปอร์เซ็นต์ ของการจ้างงานรวมของภาคธุรกิจที่จดทะเบียนธุรกิจ ซึ่งกระจายตัวไปในธุรกิจผลิต-ขายปลีก ขายส่ง สินค้าอุปโภคบริโภคมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มธุรกิจสุขภาพและผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

2. กลุ่มธุรกิจฟื้นแบบ U-Shape (ในช่วง 3-6 เดือน) ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ พลังงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางบกและทางเรือ บริการธุรกิจ รับเหมาก่อสร้าง กลุ่มนี้จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากการคลายล็อกดาวน์ของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก อาจต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าการคลายล็อกจะครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ และช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ทยอยจ้างงานเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า จากการจ้างงานปกติอยู่ที่ 6.4 ล้านคน หรือมีสัดส่วน 39.5 เปอร์เซ็นต์ กระจายตัวไปในธุรกิจบริการ รับเหมาก่อสร้าง และอาหารเครื่องดื่ม

3. กลุ่มธุรกิจฟื้นแบบ L-Shape (มากกว่า 6 เดือน) ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจการบิน ธุรกิจบันเทิงและการกีฬา ยานยนต์และชิ้นส่วน อสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ สินค้าแฟชั่น เหล็ก ยางพารา คาดว่ากลุ่มนี้อาจจะฟื้นตัวไม่ทันปีนี้ แม้ว่าปลดล็อกดาวน์แล้วแต่ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากมาตรการรัฐและพฤติกรรมของผู้คนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและติดเชื้อ

ที่สำคัญกลุ่มนี้ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านกำลังซื้อที่หดหายไป รวมถึงปัจจัยเสี่ยงภายในธุรกิจจากภัยธรรมชาติ การแข่งขันภายในธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี กฎระเบียบของภาครัฐ ฯลฯ คาดว่าภายในปี 2564 ธุรกิจเหล่านี้จะกลับมาจ้างงานได้ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ที่จำนวน 5 ล้านคน หรือมีสัดส่วน 30.9 เปอร์เซ็นต์ กระจายไปอยู่ในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มยานยนต์

แม้ว่าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี จะประเมินว่ากลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จะฟื้นตัวในรูปแบบ L-Shape ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทอินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัท เอสบี เฟอร์นิเจอร์ จำกัด กลับสวนกระแส เมื่อออร์เดอร์ในช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์กลับโตขึ้น

โดย กฤษชนก ปัทมาสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ ลีฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่องล็อกดาวน์ บริษัทได้เพิ่มช่องทางการขายระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อยอดขายผ่านออนไลน์ โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 7-8 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ในเดือนมีนาคมยอดขายออนไลน์เติบโตถึง 3 เท่าตัว เนื่องจากลูกค้าหันมาซื้อออนไลน์มากขึ้น

ขณะที่ กลุ่มบริษัทเอสบี เฟอร์นิเจอร์ ยอดขายออนไลน์ก็โตไม่ต่างกัน เพราะมีการปรับแผนการตลาดโดยเน้นการสื่อสารผ่านออนไลน์มากขึ้น ทั้งช่องทาง LINE และ Facebook “ในแง่ของยอดขาย สำหรับช่องทางออนไลน์พบว่า มียอดขายเฉลี่ยต่อเดือนโตขึ้น 10 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ในส่วนของโชว์รูมคงต้องรอให้ทุกสาขาเปิดการขายอย่างเต็มรูปแบบอีกสักระยะ จึงจะประเมินสถานการณ์ได้” ธัญญรักษ์ ชวาลดิฐ กรรมการบริหารกลุ่มบริษัท เอสบี เฟอร์นิเจอร์ อธิบาย

ยอดการสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์ทางออนไลน์โตสวนทางกับสถานการณ์ปัจจุบัน สอดคล้องภาพบรรยากาศการเปิดห้างสรรพสินค้าวันแรก หลังจากที่มีคำสั่งประกาศปิดศูนย์การค้าไปเป็นเวลาเกือบสองเดือนนั้น ทำให้ผู้คนหลั่งไหลไปใช้บริการ โดยเฉพาะห้างอิเกีย สาขาบางนา ที่มีผู้เข้าใช้บริการจำนวนมาก จนทางอิเกีย บางนา ต้องออกประกาศปิดสโตร์ชั่วคราวเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าไปแออัด

แม้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ประชาชนที่เดินทางไปห้างสรรพสินค้าอิเกีย บางนานั้น เพื่อไปหาซื้อเฟอร์นิเจอร์ หรือเพียงเพราะอึดอัดกับมาตรการบังคับใช้และปิดห้างสรรพสินค้า เมื่อถึงเวลาเปิดจึงเลือกที่จะไปปลดปล่อยโดยหลงลืมมาตรการดูแลตนเองในเบื้องต้น เช่น การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล

อย่างไรก็ตาม นั่นอาจเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับในแง่ของผู้ประกอบการธุรกิจ ที่เห็นผู้คนออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคหลังประกาศมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 2

กระนั้นเงื่อนไขการฟื้นตัวของธุรกิจ คงไม่ใช่เพียงแค่มาตรการปลดล็อกจากภาครัฐเท่านั้น เพราะผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสม กำลังซื้อของผู้บริโภค ทิศทางตลาด และสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19

ใส่ความเห็น