วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนต้นทุนต่ำ?

การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนต้นทุนต่ำ?

คนไทยประสบปัญหาการจราจรติดขัด เมื่อไหร่ก็ตามที่ฝนตก ไม่ว่าปริมาณน้ำฝนจะมีเพียงเล็กน้อย หรือฝนตามฤดูกาล หรือการปรับปรุงพื้นผิวการจราจร การก่อสร้างโครงการขนส่งมวลชนระบบราง

เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลทางกายภาพที่ส่งผลให้การจราจรในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มหานครที่หลายคนใฝ่ฝันจะเดินทางเข้ามาแสวงหาความศิวิไลซ์ ประสบกับปัญหาการจราจรติดขัดอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง

นั่นยังไม่นับรวมเหตุจากการใช้รถใช้ถนนที่ขาดระเบียบวินัย โดยมุ่งที่จะสร้างความสะดวกสบายของตัวเองเป็นหลัก จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เมื่อทุกครั้งที่หลายสำนักมีการจัดอันดับ เมืองที่ “รถติด” ที่สุดในโลก เมืองหลวงของไทยมักติดโผเป็นอันดับต้นๆ เสมอ

โดยเฉพาะการจัดอันดับของ BBC ในปี 2017 ที่ปรากฏชื่อ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่รถติดเป็นอันดับ 1 ผลการจัดอันดับถือเป็นภาพสะท้อนชั้นดีถึงวิธีการแก้ปัญหาการจราจรที่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะรัฐบาลยุคใด สมัยใดก็ตาม

หากจะมองหาต้นเหตุของปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ มีด้วยกันหลายสาเหตุ ประการแรกคือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งมีหลากหลายเหตุผลที่คนไทยจำนวนหนึ่งตัดสินใจซื้อรถยนต์ ทั้งจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลก่อนหน้า การซื้อรถเพื่อใช้งาน หรือเพราะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการใช้ระบบขนส่งมวลชนของไทยที่ด้อยทั้งคุณภาพ บริการ และเหนืออื่นใด คือความปลอดภัย ที่หาได้ยากจากบริการรถสาธารณะ

ประการที่สองคือ นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของภาครัฐ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าภาพรวมตลาดรถยนต์ในปี 2561 น่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 2-5 เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งยอดขายน่าจะได้มากกว่า 880,000 ถึง 900,000 คัน

แม้ว่าเหตุผลของผู้ที่ตัดสินใจซื้อรถคันใหม่อาจมาจากการถือครองรถยนต์ในโครงการรถคันแรก ครบกำหนด 5 ปี ในปี 2561 ซึ่งน่าจะทำให้โอกาสที่ผู้ใช้รถจะทยอยขายรถยนต์ในโครงการเพื่อเปลี่ยนเป็นคันใหม่มากขึ้น

จากเหตุผลที่กล่าวมา นำมาซึ่งปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ที่มีปริมาณรถหนาแน่นมากขึ้น นั่นตรงกับตัวเลขจากกรมการขนส่งทางบก ที่เปิดเผยตัวเลขรถจดทะเบียนใหม่ป้ายแดง เฉพาะเดือนมกราคม 2561 รวมทั้งประเทศ มีจำนวน 268,989 คัน โดยรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่จำนวน 167,039 คัน รองลงมาคือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง (รถเก๋ง) มีการจดทะเบียน 63,646 คัน เป็นต้น

จากจำนวนรถจดทะเบียนใหม่ ส่งผลให้จำนวนรถจดทะเบียนสะสมทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 38,428,304 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2561)

กระนั้นที่ผ่านมาหลายรัฐบาลได้แสดงให้เห็นความพยายามที่จะเข้ามาแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและไม่เลือกตั้ง ต่างใช้ประเด็นนี้มาเป็นนโยบายหาเสียง ซึ่งแน่นอนว่าล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายขายฝัน เมื่อปัญหาดังกล่าวเปรียบเสมือนเนื้อร้ายที่รังแต่จะลุกลามและขยายวงปัญหาให้กว้างมากขึ้น

จากเดิมที่ปัญหาดังกล่าวมีอยู่แต่เพียงเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ แต่ทุกวันนี้ปัญหาการจราจรเริ่มปรากฏตามหัวเมืองใหญ่ๆ ในภูมิภาคต่างๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ โคราช ที่มีประชากรเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เราจะได้เห็นการแก้ปัญหาสภาพการจราจรที่ภาครัฐกำลังดำเนินอยู่จากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนแบบราง ที่ขยายตัวเป็นใยแมงมุมจากในเมืองออกไปนอกเมืองมากขึ้น

ซึ่งการมุ่งหวังว่า หากประเทศไทยมีโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของปัญหาการจราจรที่สะสมมาอย่างยาวนาน ให้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ประชาชนจะหันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมากกว่าจะนำรถส่วนตัวออกมาใช้

คงไม่มีใครเถียงว่า โครงข่ายใยแมงมุมของรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับประชาชน ให้หันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมากขึ้น เมื่อข้อเสนอที่ภาครัฐมีให้มาพร้อมความสะดวกสบาย

กระนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐต้องยอมรับโดยดุษณีคือ ไม่ว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีเส้นทางรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดินมากมายหลายสายเพียงใดก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัดได้อย่างยั่งยืนและถาวร

สิ่งที่ “ผู้จัดการ 360 ํ” ต้องการชี้ให้เห็นคือ แม้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจในประเทศขับเคลื่อนไปได้มากเพียงใด หากขาดมาตรฐานในการบริการที่ดี ทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย ที่น่าจะสร้างให้เกิดควบคู่กันไป ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรในประเทศไทยได้

หลายครั้งที่เรามักได้ยินข่าวรถไฟฟ้าเกิดปัญหา ทำให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการ ผู้โดยสารติดค้างที่สถานีเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาเร่งด่วน สุดท้ายแล้วประชาชนกลับไปเลือกนำรถยนต์ส่วนบุคคลออกมาใช้งาน แม้ว่าจะต้องประสบปัญหาการจราจรติดขัดบ้าง แต่ก็สามารถควบคุมปัญหาได้ด้วยตนเอง

นาทีนี้คงไม่ต้องพูดถึงรถโดยสารสาธารณะอย่างรถเมล์ ที่มีปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารถไฟฟ้า ไล่เรียงตั้งแต่สภาพรถโดยสารที่เสื่อมโทรมไปตามสภาพการใช้งานอย่างหนักมาอย่างยาวนาน แต่ยังนำมาใช้วิ่งรับส่งผู้โดยสาร เพราะเหตุว่าปริมาณรถไม่เพียงพอต่อผู้ใช้บริการ และรถเมล์ชุดใหม่ยังติดปัญหาข้อสรุปการเช่าซื้อ

ขณะที่รถเอกชนร่วมบริการที่ได้รับสัมปทานจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ให้วิ่งรับส่งผู้โดยสารได้ในหลายเส้นทาง แม้ว่าสภาพรถจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่า ทว่าสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่คือเรื่องการให้บริการทั้งจากพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร

นักวิชาการหลายคนที่ทำงานด้านการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ เสนอแนะความเห็นที่ดูจะก่อให้เกิดผลดี และน่าจะนำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาที่ถูกจุด หากแต่แนวความคิดดังกล่าวกลับถูกละเลย และไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

ทั้งการแนะนำว่า ภาครัฐควรจะมีนโยบายสนับสนุนระบบมวลชนที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้บริการได้ในทุกระดับชั้น โดยไม่จำกัดหรือมีนโยบายที่เกาะกลุ่มแต่เพียงเฉพาะผู้มีรายได้สูงเท่านั้น

คำชี้แนะดังกล่าวน่าจะหมายถึงการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินบนเส้นทางที่รถไฟฟ้าไปถึง หรือกลุ่มทุนที่ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ปักหมุดโครงการตามแนวรถไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะโดยการนำเอาเคสจากประเทศอื่นที่เคยประสบปัญหาการจราจร แต่สามารถแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เช่น การจัดเก็บค่าใช้บริการพื้นผิวจราจร จะเป็นการลดปริมาณรถส่วนตัวลงได้ ขณะที่ค่าบริการที่ได้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนารถโดยสารสาธารณะ ทั้งการเพิ่มจำนวนรถ และการซ่อมบำรุง

หรือกระทั่งการงดโครงการก่อสร้างใหม่ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการจราจรที่คล่องตัว เพราะแต่ละโครงการล้วนแล้วแต่ใช้เวลาในการก่อสร้างหลายปี

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าข้อเสนอแนะที่น่าจะนำไปปรับใช้ อาจจะขัดต่อนโยบายบางอย่าง ทั้งการลงทุนภาครัฐที่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันการลงทุนภาครัฐก็สร้างให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนอีกทอดหนึ่งด้วย

แนวความคิดที่บรรดานักวิชาการนำเสนอมานั้น แม้ว่าแง่มุมหนึ่งจะทำให้ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวเสียประโยชน์บ้าง หากแต่แนวทางดังกล่าวจะสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติโดยรวม

ทั้งเป็นการลดมลพิษที่เกิดจากการใช้รถยนต์ ลดการใช้พลังงาน และสนับสนุนให้ระบบขนส่งมวลชนได้รับการพัฒนา จนกลายเป็นโครงข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในทุกระดับชั้น แน่นอนว่าเศรษฐกิจที่พัฒนาไปในแนวทางที่ดีขึ้นจะส่งผลต่อการเมืองที่มีเสถียรภาพ

แม้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ กรุงเทพมหานครและพื้นที่ปริมณฑลจะมีเส้นทางรถไฟฟ้าให้บริการประชาชนมากถึง 11 สาย และความคาดหวังว่าโครงข่ายที่จะเกิดขึ้นนั้นจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ทำให้กรุงเทพฯ ติดอันดับโลกในขณะนี้

หรือจะยอมรับความจริงว่า โครงสร้างพื้นฐานที่กำลังเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ คงทำได้แค่ “บรรเทา” เท่านั้น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเปิดใจมองแนวทางใหม่ๆ ที่มีผู้เสนอแนะนำมาปรับประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสังคมไทย เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม และปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างถาวร

หรือคนไทยต้องอดทนกับปัญหาการจราจร และใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนนานหลายชั่วโมง คือวิถีชีวิตที่ต้องยอมรับให้ได้ในที่สุด

ใส่ความเห็น