วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > กัญชาฟีเวอร์ร้อนแรง ร้านอาหารแข่งเดือด

กัญชาฟีเวอร์ร้อนแรง ร้านอาหารแข่งเดือด

กัญชาฟีเวอร์เปิดเทรนด์ใหม่ในสมรภูมิธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ชนิดที่ทุกค่ายแห่กระโดดเกาะกระแสประชันสร้างสรรค์เมนูดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่กำลังอยากลิ้มชิมรสชาติและลองสรรพคุณ เพื่อพลิกฟื้นรายได้รอบใหม่หลังผ่านวิกฤตโควิดมาอย่างสะบักสะบอม

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากหลายสถาบันต่างคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของตลาดกัญชาในทิศทางเดียวกันจนขึ้นแท่นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สามารถสร้างรายได้มหึมาและผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางหรือ HUB กัญชากัญชง หลังจากได้รับการปลดล็อกจากทะเบียนยาเสพติดประเภทที่ 5 มีผลตั้งแต่ปลายปี 2563 โดยสามารถนำส่วนต่างๆ มาใช้ประโยชน์เพื่อการพาณิชย์ได้

ประกอบด้วย 1. ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก 2. เมล็ดกัญชง น้ำมัน-สารสกัดจากเมล็ดกัญชง 3. สารสกัดที่มีผลต่อจิตประสาท CBD (Cannabidiol) และสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ที่ยังเป็นยาเสพติด แต่ต้องไม่เกิน 2% โดยส่วนที่อนุญาตให้ใช้ต้องมาจากหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังยกเว้น ช่อดอกกัญชา เมล็ดกัญชา และช่อดอกกัญชง ซึ่งยังไม่ปลดล็อกจากยาเสพติด

ทั้งนี้ ตามรายงานของ The Global Cannabis Report ของ Prohibition Partners ผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ชั้นนำระดับโลก ประเมินมูลค่าตลาดกัญชาทั่วโลกจะเติบโตสูงมากและต่อเนื่องจนถึงปี 2567 คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.03 แสนล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ สัดส่วน 60% และตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ 40% โดยตลาดหลักคือ สหภาพยุโรป มูลค่าประมาณ 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ สหรัฐฯ 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเอเชีย 12,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะเดียวกัน Cannabit Addict ระบุว่า มีประเทศที่ปลดล็อกกัญชาทั้งหมดและปลดล็อกบางส่วนรวม 69 ประเทศ จาก 193 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วน 36% ของประเทศทั้งหมด ซึ่งดูเหมือนทางการไทยต้องการผลักดันการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ทั้งตลาดภายในประเทศและการส่งออก

แน่นอนว่า ระยะเวลาปลดล็อกไม่ถึง 3 เดือน ธุรกิจร้านอาหารถือเป็นเซกเมนต์ที่ต่อยอดสร้างตลาดอย่างรวดเร็ว หลังจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในฐานะหน่วยงานนำร่องด้านการพัฒนากัญชาและการใช้ประโยชน์ ทดลองพัฒนาเมนูอาหารและเครื่องดื่มจากกัญชา อาทิ “ซู่ซ่าร่าเริง” ที่ปั่นจากใบกัญชาสดให้สีเขียว กลิ่นคล้ายฝรั่ง นำมาผสมชงกับน้ำชาไทย ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำผึ้ง น้ำโซดา

ตามด้วยกาแฟกัญชาที่ดื่มแล้วช่วยให้เบิกบาน ผ่อนคลาย แก้ปวดเมื่อยและกินอาหารอร่อย ทั้งอเมริกาโน่ กาแฟดำผสมกัญชา มัทฉะชาเขียวผสมกัญชา และชากัญชาเพียว พร้อมกับเมนูอาหารและขนมอีกหลากหลาย เช่น เค้กกล้วยหอม โมจิอัลมอนด์ คุกกี้ ชีสเค้กหน้าไหม้ สปาเกตตีคั่วกัญชา ไข่กระทะ ปังคึกคัก (ปังหน้าหมู) ต้มแซ่บสมุนไพรใบกัญ ครัวซองต์แฮมชีสกัญ ครัวซองต์กะเพรากัญ ไข่มังกรทอดกัญ สปาเกตตีกาโบน่ากัญ คั่วกลิ้งหมูกัญ

ผลปรากฏว่า เสียงตอบรับดีเยี่ยม ปลุกกระแสการบริโภค “สายเขียว” ร้อนแรง ดึงดูดทั้งกลุ่มลูกค้าและผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารเชนยักษ์ใหญ่

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN กล่าวว่า กระแสกัญชาที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลก ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา เพื่อสร้างประสบการณ์และความแปลกใหม่ ซึ่งเซ็น กรุ๊ป ตัดสินใจนำร้านอาหารไทย 4 แบรนด์หลัก ได้แก่ ตำมั่ว เดอ ตำมั่ว ร้านสตรีทฟู้ด “เขียง” และร้านอาหารฟิวชั่นสไตล์อีสาน-เวียดนาม ‘ลาวญวน’ เปิดตัวเมนูอาหารไทยที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ

รูปแบบมีทั้งการเสิร์ฟใบกัญชารูปแบบใบสด ต้ม และทอดกรอบ นำร่องที่ร้านอาหารเดอ ตำมั่ว สาขาเกษร ทาวเวอร์ เป็นสาขาแรก 2 เมนู คือ ไก่ต้มอารมณ์ดี (ไก่ต้มริมโขง) และยำอารมณ์ดี (ยำผักหวานกุ้งสด) และมีแผนขยายไปยังร้านตำมั่ว สาขา I AM Chinatown และ ปตท. เมืองทองธานี

ส่วนร้านเขียงเตรียมเปิดตัวเมนูกะเพราใบกัญชา สาขาแรกที่ เกษร ทาวเวอร์ และเมืองทองธานี รวมถึงขยายเมนูอาหารไปสู่ร้านอาหารลาวญวนเพิ่มเติม โดยบริษัทสั่งซื้อใบกัญชาจากรัฐวิสาหกิจชุมชน จ.นครพนม ซึ่งได้ขออนุญาตจัดสร้างโรงเรือนเพื่อเพาะปลูกกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเจรจารับซื้อวัตถุดิบใบกัญชาจากรัฐวิสาหกิจชุมชน หรือแหล่งเพาะปลูกอื่นๆ เพื่อจัดเตรียมวัตถุดิบให้เพียงพอ เนื่องจากคาดการณ์ยอดลูกค้าเข้าร้านจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 15-20%

นอกจากนี้ ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงที่มีส่วนผสมของกัญชา นำร่องจากผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าผสมใบกัญชา แบรนด์ ‘ตำมั่ว’ คาดว่าจะเปิดตัวในครึ่งปีหลังผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด และร้านตำมั่วทุกสาขา

ด้านบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) เปิดเมนูเครื่องดื่มและอาหารใหม่ที่มีส่วนผสมของใบกัญชาที่ร้านกาแฟ พันธุ์ไทย และคอฟฟี่ เวิลด์ ประกอบด้วย อเมริกัญโน่ กัญชาไทย และกัญโซดา เยลลี่ จำหน่ายในราคาแก้วละ 99-109 บาท

เมนูอาหาร ได้แก่ เมนูข้าวกะเพราต่างๆ เช่น เบคอน-หมูย่าง-ไก่กรอบ ราคาเริ่มต้น 119-179 บาท และเมนูรับประทานเล่น เช่น กัญชาชุบแป้งทอด ราคา 59 บาท และเตรียมเปิดตัวเมนูพิเศษ เตี๋ยวเรือร่าเริง จำหน่ายสาขาแรกที่สถานีน้ำมัน PT หนองแขม ในวันที่ 1 เมษายนนี้

ส่วนบิ๊กฟังก์ชันนอลดริงค์ บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) ออกเครื่องดื่มผสมกัญชาซีรีส์ใหม่ผ่านหน้าร้าน HAVE A sip DAY CAFE by เพรียว ใจกลางย่านสยามสแควร์ และร้าน All Coco สาขาเซ็นทรัล อีสต์วิลล์

หรือแม้กระทั่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ยังตั้งเป้าหมายผลักดันพืชกัญชง ขยายยุทธศาสตร์ “ครัวโลก” โดยลงนามความร่วมมือทางวิชาการและความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากพืชกัญชงกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เนื่องจากพืชกัญชงมีคุณประโยชน์สูง โดยเฉพาะ CBD ที่งานวิจัยในต่างประเทศพบว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพด้านระบบประสาท สมอง ระบบหัวใจ มีสารกลุ่มเทอร์ปีนที่ช่วยผ่อนคลาย และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

ขณะที่เมล็ดของพืชกัญชงมีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นแหล่งโปรตีนที่มีกรดอะมิโน ไขมันโอเมก้า 3, 6, 9 และกากเมล็ดกัญชงยังเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ได้

มีรายงานว่า ธุรกิจร้านอาหารอีกหลายค่ายกำลังเร่งแตกไลน์อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบกัญชา เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ครั้งใหญ่ อย่างเช่นกลุ่มคาราบาวกรุ๊ป และบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี)

ที่สำคัญ กัญชากัญชงกำลังเป็นกลยุทธ์ใหม่ที่ปลุกความหวังกระตุ้นภาพรวมธุรกิจร้านอาหารที่มีเม็ดเงินมากกว่า 4.4 แสนล้านบาท มีลุ้นเติบโตก้าวกระโดดได้

ใส่ความเห็น