วันพุธ, เมษายน 17, 2024
Home > Cover Story > กลุ่ม “เจริญ” ดีเดย์ศูนย์สิริกิติ์ เขย่าเมืองทองธานี-ไบเทค

กลุ่ม “เจริญ” ดีเดย์ศูนย์สิริกิติ์ เขย่าเมืองทองธานี-ไบเทค

เครือข่ายธุรกิจของเจริญ สิริวัฒนภักดี ทั้งบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในฐานะผู้บริหารพื้นที่ และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ร่วมพัฒนาคอนเซ็ปต์และบริหารงานก่อสร้าง ออกมายืนยันกำหนดการเปิดตัวศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ในเดือนกันยายน 2565 โดยมั่นใจว่า ณ เวลานั้น ธุรกิจไมซ์ในประเทศไทยจะกลับมาพลิกฟื้นเติบโตอย่างชัดเจนหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด

ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับศูนย์การประชุมแห่งอื่นๆ ศูนย์ฯ สิริกิติ์มีจุดแข็งด้านทำเลใจกลางกรุงเทพฯ อยู่ในย่านธุรกิจขนาดใหญ่ มีเส้นทางคมนาคมสะดวก เชื่อมโยงกับอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ศูนย์การค้า โครงการมิกซ์ยูส ทั้งด้านถนนพระราม 4 และถนนรัชดาภิเษก

ที่สำคัญ ทีซีซีกรุ๊ปสามารถเพิ่มแรงดึงดูดตลาดไมซ์จากเครือข่ายโครงการรายล้อมอย่างครบวงจร ในรูปแบบมิกซ์ยูส ไม่ว่าจะเป็นเอฟวายไอเซ็นเตอร์ เดอะปาร์ค สามย่านมิตรทาวน์ มีโรงพยาบาลเมดพาร์ค (MedPark) โครงการโรงพยาบาลเอกชนสุดหรูย่านพระราม 4 ในเครือ รวมถึงโรงแรมระดับ 4-5 ดาวอีกหลายแห่ง

วิทวัส คุตตะเทพ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายโครงการเชิงพาณิชยกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) กล่าวว่า เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) วางเป้าหมายการพลิกโฉมศูนย์ฯ สิริกิติ์ให้เป็นศูนย์ประชุมระดับเวิลด์คลาสแห่งใหม่ของเอเชีย (The Ultimate Inspiring World Class Event Platform for All) โดยเพิ่มขนาดพื้นที่รวม 300,000 ตารางเมตร ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมถึง 5 เท่า เทียบเท่ากับสนามฟุตบอลกว่า 50 สนาม และเพิ่มชั้นใต้ดินกว่า 45% ของพื้นที่โครงการทั้งหมด รองรับพื้นที่รีเทล 10,000 ตารางเมตร และอาคารจอดรถ ความจุ 3,000 คัน

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ บริษัทจะผลักดันไฮไลต์เด่น 5 ข้อ ได้แก่ 1. Accessibility การตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมืองบนถนนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อแยกพระราม 4-รัชดา เข้าออกได้จาก 4 ถนนสำคัญ ได้แก่ ถ. พระราม 4 ถ. สุขุมวิท ถ. รัชดาภิเษก และ ถ. ดวงพิทักษ์ เชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตรงถึงภายในศูนย์ฯ สิริกิติ์

2. Safety ระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดตามมาตรฐานการดำเนินงานระดับสากล รองรับการจัดงานระดับโลกทุกรูปแบบ

3. Technology ระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสุดในประเทศไทยรองรับถึงอนาคต “6G” สนับสนุนการจัดอีเวนต์รูปแบบออนไลน์และไฮบริด ติดตั้งระบบเข้าใช้งานพื้นที่แบบไร้สัมผัส (Touchless Access) และใช้ระบบบริหารอาคารอัจฉริยะควบคุมการให้บริการพื้นที่

4. Flexibility ในพื้นที่โครงการขนาด 300,000 ตร.ม. ประกอบด้วยฮอลล์ขนาดใหญ่ 2 ฮอลล์ ห้องสำหรับจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ 2 ห้อง และห้องประชุมกว่า 50 ห้อง รองรับความต้องการด้านอีเวนต์และงานประชุมทุกรูปแบบ

5. Sustainability ถือเป็นศูนย์ประชุมแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่ผ่านมาตรฐานอาคารเขียว LEED ระดับ Silver เน้นการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 25% และวัสดุที่นำไปรีไซเคิลได้มากกว่า 75% การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์รอบโครงการ ใช้อุปกรณ์อัตโนมัติลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ รวมทั้งเป็นศูนย์ประชุมแห่งเดียวที่มีพื้นที่สีเขียวผืนใหม่ล่าสุดของกรุงเทพฯ “สวนป่าเบญจกิติ”

แน่นอนว่า การเตรียมพร้อมเผยโฉมภายใต้ 5 ไฮไลต์เด่น สร้างความตื่นเต้นในตลาดและมีกลุ่มลูกค้ารายใหญ่เริ่มจับจองพื้นที่เกือบเต็มทั้งหมด ตั้งแต่เปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2565 ยาวจนถึงสิ้นปี

ด้านคู่แข่งอย่างศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งก่อนโควิดมีการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ มากกว่า 400 งาน และผู้เยี่ยมชมมากกว่า 15 ล้านรายต่อปีนั้น บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) เร่งเติมเต็มโครงการรองรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ตามข้อเสนอพิเศษที่กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ประกอบด้วยบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เสนอลงทุนเพิ่มเติมจากสายสีชมพูส่วนหลักแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. ที่ได้สัมปทานก่อสร้างและเดินรถ 33 ปี เพิ่มเป็น 37.5 กม.

ทั้งนี้ แนวเส้นทางส่วนต่อขยายสร้างจะเป็นทางยกระดับตั้งต้นที่ถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อสถานีศรีรัชของสายสีชมพูส่วนหลักช่วงแคราย – มีนบุรี มุ่งหน้าสู่เมืองทองธานี ไปตามซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 แนวเดียวกับทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ผ่านวงเวียนเป็นที่ตั้งของสถานี MT-01 บริเวณอิมแพค เมืองทองธานี และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี เป็นที่ตั้งของสถานี MT-02 ระยะทางประมาณ 3 กม. จำนวน 2 สถานี

ตามแผนการก่อสร้างคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 37 เดือนนับจากกลางปีที่ผ่านมา หรือแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2567 ซึ่งคาดการณ์ผู้โดยสารเบื้องต้น 13,785 เที่ยวคนต่อวัน

ปัจจุบันโครงการเมืองทองธานีมีพื้นที่หลักส่วนใหญ่เป็นอาคารแสดงสินค้า อาคารแสดงคอนเสิร์ตทั้งในและต่างประเทศ กิจกรรมขนาดใหญ่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อิมแพ็ค อารีน่า อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค ฟอรั่ม อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ แอคทีฟ สแควร์ และอิมแพ็ค เลคไซด์ ลานอเนกประสงค์บริเวณริมทะเลสาบใช้เป็นลานจอดรถ สถานที่แสดงคอนเสิร์ตและกิจกรรมกลางแจ้ง โดยปัจจุบันมีร้านอาหารริมทะเลสาบ และสนามโกคาร์ทระบบไฟฟ้า อิมแพ็ค สปีดพาร์ค

นอกจากนี้ เปิดโครงการรีเทล เดอะ พอร์ทอล ไลฟ์สไตล์ คอมเพล็กซ์ อาคารศูนย์การค้าและห้องจัดเลี้ยง เชื่อมต่อ 3 อาคาร ทั้งอารีน่า ชาเลนเจอร์ และอาคารศูนย์แสดงสินค้า มีโรงแรมอีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ อิมแพ็ค โรงแรมไอบิส กรุงเทพ อิมแพ็ค และยังมีโปรเจกต์อยู่ระหว่างการพิจารณาก่อสร้างด้านริมทะเลสาบอีก 600 ไร่

ส่วนศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่จัดแสดงสินค้าและการประชุมกว่า 70,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น 10 ฮอลล์นิทรรศการ (Event Hall) 6 แกรนด์ฮอลล์ (Grand Convention Hall) 28 ห้องประชุม (Meeting Room) โดยกลุ่มบริษัทภิรัชบุรี เจ้าของโครงการไบเทคฯ วางแผนทยอยลงทุนพัฒนาในที่ดินเหลืออยู่ตามมาสเตอร์แพลนเพื่อขยับขึ้นสู่การเป็นอันดับ 1 ของตลาดนิทรรศการและการประชุม

คำถามคือ ใครจะก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 แต่ที่แน่ๆ การเปิดหน้าลุยของบรรดายักษ์ใหญ่หมายถึงการส่งสัญญาณการเติบโตของธุรกิจไมซ์ชัดเจนที่สุดแล้ว

30 ปี ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Queen Sirikit National Convention Center – QSNCC) โฉมใหม่จะเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือนกันยายน 2565 หลังปิดปรับปรุงตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2562

หากย้อนประวัติศาสตร์ความเป็นมา เริ่มต้นเมื่อรัฐบาลไทยมีมติให้ก่อสร้างสถานที่จัดงานประชุมแห่งชาติที่ได้มาตรฐานสากลเมื่อช่วงปลายปี 2532 เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศครั้งที่ 46 ในปี 2534 โดยกำหนดรูปทรงทางสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย พร้อมใช้เทคนิคสร้างและออกแบบ (A build and design technique) เพื่อเร่งการก่อสร้างให้เสร็จทันตามกำหนดเวลา

ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารบนพื้นที่ 20 เอเคอร์ หรือประมาณ 50 ไร่ ติดกับโรงงานยาสูบ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2533 โดยระดมนักออกแบบกว่า 100 คน คนงานก่อสร้างอีกกว่า 1,000 คน ทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน จนสามารถก่อสร้างตัวอาคารแล้วเสร็จภายในเวลาเพียง 16 เดือน จากเดิมกำหนดไว้ 40 เดือน

29 สิงหาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามเป็นชื่อของศูนย์การประชุม เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในเดือนสิงหาคม 2535

วันที่ 1-15 ตุลาคม 2534 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์รองรับผู้เข้าร่วมประชุมประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศครั้งที่ 46 กว่า 10,000 คน จาก 154 ประเทศ โดยได้รับคำชื่นชมจากทุกฝ่าย กลายเป็นผู้นำด้านธุรกิจไมซ์ (MICE : Meetings, Incentives, Conventions and Exhibitions) ในประเทศไทย

ใส่ความเห็น