วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > On Globalization > กฎหมายที่ไม่จริงจัง กับความรุนแรงในครอบครัวของบราซิล

กฎหมายที่ไม่จริงจัง กับความรุนแรงในครอบครัวของบราซิล

Column: Women in Wonderland

เมื่อปีที่แล้วเรื่องการลวนลามทางเพศในที่ทำงานได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคม จากกรณีของ #MeToo ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกจำนวนมากยอมออกจากเงามืดมาเล่าประสบการณ์ที่ถูกลวนลามในที่ทำงาน ทำให้ผู้คนจากทุกหน่วยงานหันมาให้ความสำคัญ และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่เป็นเรื่องที่ผู้หญิงทั่วทุกมุมโลกต้องเผชิญ

ความรุนแรงในครอบครัวก็เช่นเดียวกัน หลายหน่วยงานคาดหวังว่าเรื่องนี้จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกเหมือนกับเรื่องการลวนลามทางเพศในที่ทำงาน และอยากให้ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจจากคนรักหรือคนในครอบครัวกล้าที่จะออกมาแจ้งความเพื่อป้องปรามไม่ให้ระดับความรุนแรงในบ้านเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นฆ่ากันตาย

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าหลายประเทศมีการบังคับใช้กฎหมายความรุนแรงในครอบครัวเพื่อป้องกันและปกป้องไม่ให้ผู้หญิงต้องถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจจากสามี คนรัก หรือผู้ชายคนอื่นๆ ในครอบครัว แต่สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวกลับไม่ลดลง องค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยสถิติเมื่อปลายปี 2017 ว่ามีผู้หญิง 35% จากทั่วโลกตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย จิตใจ หรือบังคับให้มีเพศสัมพันธ์จากสามีหรือคนรัก และมีผู้หญิงถึง 38% ที่ถูกฆ่าตายโดยสามีหรือคนรัก

บราซิลเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ แม้ว่าบราซิลจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของทวีปอเมริกาใต้ แต่บราซิลก็ยังไม่ถูกจัดให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากมีรายได้ต่อหัวที่ค่อนข้างต่ำ มาตรฐานในการดำรงชีวิตต่ำกว่ามาตรฐาน ขาดแคลนน้ำสะอาด ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชนบทเวลาเจ็บป่วยไม่มีโรงพยาบาลรักษา เป็นต้น และยังมีอัตราการเกิดและการตายของเด็กทารกที่ค่อนข้างสูง

เรื่องความรุนแรงในครอบครัวก็เช่นกัน บราซิลมีการบังคับใช้กฎหมายความรุนแรงในครอบครัวในปี 2006 แต่ยังมีผู้หญิงบราซิลจำนวนมากที่ถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ จากสามีหรือคนรัก และส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าแจ้งความเมื่อตกเป็นเหยื่อ

ระหว่างปี 2009–2014 สถิติของประเทศบราซิลแสดงให้เห็นว่า ในช่วงปี 2013–2014 จำนวนผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมีเพิ่มมากขึ้น มากกว่าปี 2009–2010 ถึง 3.52 เท่า และผู้หญิงมีโอกาสมากถึง 74% ที่จะตกเป็นเหยื่อ ขณะที่ผู้ชายมีโอกาสเพียงแค่ 26% เท่านั้น นอกจากนี้ในปี 2013 ประเทศบราซิลถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 5 ของโลกที่ผู้หญิงถูกฆ่าตายจากคนรักหรือสามีมากที่สุด ในปีนี้มีผู้หญิงถูกฆ่าตาย 4,762 คน ในจำนวนนี้ 50.3% เป็นการฆาตกรรมที่เกิดจากความรุนแรงในครอบครัว ขณะที่อีก 33.2% เป็นการฆาตกรรมที่เกิดจากการทำร้ายร่างกาย จิตใจ และทางเพศจากสามีหรือคนรัก หมายความว่าวันหนึ่งมีผู้หญิงประมาณ 4 คนถูกฆ่าตาย

หากนำสถิติของบราซิลไปเปรียบเทียบกับออสเตรเลียซึ่งถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 51 ของโลกที่ผู้หญิงถูกฆ่าตายโดยคนรักหรือสามี โดยเฉลี่ยหนึ่งสัปดาห์มีผู้หญิงออสเตรเลีย 1 คนถูกฆ่าตาย จากสถิตินี้เห็นได้ชัดว่ามีผู้หญิงในประเทศบราซิลเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวเสียชีวิตจำนวนมาก

เมื่อปี 2017 บราซิลมีการทำแบบสอบถามเรื่องความรุนแรงในครอบครัว พบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงและเด็กหญิงในบราซิลตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว สถานการณ์ของความรุนแรงตั้งแต่การข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย และพยายามทำให้เสียชีวิต ผู้ที่ใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่ก็จะเป็นสามีคนปัจจุบันหรืออดีตสามี หรือคนรู้จักที่มีความคุ้นเคยกัน นอกจากนี้ในแบบสอบถามยังพบอีกว่า ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่แจ้งความกับตำรวจ มีเพียงแค่ 1 ใน 4 เท่านั้นที่แจ้งความ

ที่แย่กว่านั้นคือเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รายการโทรทัศน์ชื่อ Fantástico ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอขาวดำบันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่จอดรถและภายในลิฟต์ของที่พักอาศัยแห่งหนึ่งในเมืองเซา เปาโล เป็นภาพในวันที่ 22 กรกฎาคม ตอนประมาณเกือบตีสาม มีชายคนหนึ่งซึ่งเป็นสามีกำลังชกและเตะภรรยาของเขาที่อยู่กันมา 5 ปีบริเวณลานจอดรถ เธอพยายามหลบหนี แต่ผู้ชายลากเธอมาที่ลิฟต์และขึ้นไปที่ชั้น 5 ของที่พัก ผู้ชายลากผู้หญิงออกจากลิฟต์และกล้องไม่สามารถบันทึกเหตุการณ์ต่อจากนี้ได้ แต่ 15–20 นาทีต่อมา มีร่างผู้หญิงร่วงลงมาจากที่พัก หลังจากนั้นชายคนนี้ก็ลากร่างที่เสียชีวิตของผู้หญิงที่เต็มไปด้วยเลือดไปที่ลิฟต์ เพื่อนำร่างของภรรยาไปไว้ที่ห้อง ระหว่างอยู่ในลิฟต์ผู้ชายได้เช็ดเลือดบนหน้าภรรยา และบนหน้าของตัวเอง

ต่อมาทราบชื่อผู้ชายในคลิป คือ Luís Felipe Manvailer และภรรยาที่ชื่อ Tatiane Spitzner ตำรวจบราซิลสามารถควบคุมตัว Manvailer ได้ จากรายงานข่าวของ New York Times Manvailer บอกกับตำรวจว่า ภรรยาของเขากระโดดลงมาจากระเบียงห้องเอง เขาไม่ได้เป็นคนฆ่าภรรยา

หลังจากคลิปนี้ถูกเผยแพร่ไปทั่วประเทศ ผู้คนในประเทศบราซิลถกเถียงกันเรื่องการปฏิบัติต่อผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นภรรยาของคนบราซิล นอกจากนี้ในโลกโซเชียล คนบราซิลเริ่มใช้ #metaAcolher ซึ่งแปลได้ว่า “Stick a spoon in” เป็นประโยคยอดนิยมของคนบราซิลที่ถูกสอนต่อกันมาว่า “When it’s a fight between husband and wife, don’t stick a spoon in” หมายความว่า สามีภรรยาทะเลาะกันหรือมีปากเสียงกัน คนนอกไม่ควรเข้าไปยุ่ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ Maria Laura Canineu ผู้อำนวยการของ Human Rights Watch ได้เรียกร้องให้รัฐบาลบราซิลหาทางป้องกันความรุนแรงในครอบครัว เพราะเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ และที่สำคัญมันเป็นไปได้ยากที่ผู้ใช้ความรุนแรงครั้งแรกจะฆ่าคนตาย ซึ่งนี่หมายความว่า Manvailer น่าจะใช้ความรุนแรงกับภรรยามาแล้วหลายครั้ง ในโลกโซเชียลเองก็ได้เผยแพร่ข้อความว่า ถ้าหากมีใครพบเห็นเหตุการณ์ที่ผู้หญิงต้องการความช่วยเหลือ ควรเข้าไปช่วยและโทรแจ้งตำรวจ เพื่อช่วยกันป้องกันผู้หญิงที่อาจถูกฆ่าตายในอนาคตได้

จากสถิติเมื่อปี 2007 จะเห็นได้ว่ามีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเพียงแค่ 1 ใน 4 เท่านั้นที่ไปแจ้งความกับตำรวจ Tatiane Spitzner ก็เหมือนกับผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวแต่ไม่ไปแจ้งความกับตำรวจ เพราะเพื่อนของเธอได้ให้สัมภาษณ์กับ New York Times ว่าหลายๆ ครั้งที่เห็น Spitzner มีรอยช้ำที่แขนและที่ขา หากแต่เธอก็ไม่ได้บอกว่าเธอถูกสามีทำร้ายร่างกาย

เรื่องนี้ทำให้หลายคนเริ่มพูดถึงกฎหมายความรุนแรงในครอบครัวของประเทศบราซิล ซึ่งมีการประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2006 แต่กลับดูเหมือนว่า สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวในประเทศบราซิลกลับแย่ลงเรื่อยๆ เรื่องนี้ผู้อำนวยการ Human Right Watch ได้ให้ความเห็นไว้ว่า กฎหมายความรุนแรงในครอบครัวของประเทศบราซิลนั้นดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่กฎหมายนี้ไม่ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง

ในประเทศบราซิล ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ หรือใช้ความรุนแรงทางเพศจากสามี คนรัก หรือคนในครอบครัว สามารถไปแจ้งความที่สถานีตำรวจพิเศษที่จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้หญิงคอยรับแจ้งความและให้ความช่วยเหลือ แต่ในความเป็นจริง สถานีตำรวจพิเศษนี้มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นและยังเปิดให้บริการแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เปิดตลอดเวลา

นอกจากนี้ตำรวจในสถานีปกติหรือสถานีพิเศษก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแจ้งความในเรื่องความรุนแรงของครอบครัว ตำรวจทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างก็ไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะสอบสวนหรือรับร้องเรื่องต่างๆ ไม่แม้แต่จะส่งผู้หญิงเหล่านี้ไปตรวจร่างกาย

หรือในกรณีที่ตำรวจให้ความสนใจ พวกเขาก็ไม่มีห้องเฉพาะสำหรับการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับคดี ผู้หญิงที่ไปแจ้งความต้องเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในที่สาธารณะ ทำให้เกิดความอับอายและไม่กล้าที่จะไปแจ้งความ นอกจากนี้หลังแจ้งความเสร็จตำรวจก็ไม่ให้ความสำคัญในการปกป้องหรือให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นขาดศรัทธาในระบบยุติธรรม จึงไม่ไปแจ้งความ

เรื่องนี้ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กฎหมายที่ประกาศใช้แต่ไม่นำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง กฎหมายนั้นๆ ก็ไม่สามารถลดหรือป้องกันปัญหานั้นๆ ได้ ในขณะเดียวกันอาจทำให้ปัญหานั้นทวีความรุนแรงมากขึ้นเหมือนกับความรุนแรงในครอบครัว ที่ไม่ว่าบราซิลจะมีกฎหมายรัดกุมขนาดไหนแต่ไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง สุดท้ายปัญหาความรุนแรงในครอบครัวกลับแย่ลงเรื่อยๆ และไม่สามารถแก้ไขได้

Photo Credit: ภาพจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561ที่เกิดขึ้นในลิฟต์ภายในอาคารที่พัก  https://www.youtube.com/watch?v=JDsp7QLmugk

ใส่ความเห็น